Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การจัดการน้ำเริ่มมีการถกเถียงกันอีกครั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเมื่อปี 2546 ว่าจะเดินหน้าโครงการ Water grid ให้เสร็จภายใน 5 ปี แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการถกเถียงมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขื่อนที่ยังสร้างความขัดแย้งอยู่จนถึงปัจจุบัน

Water grid เป็นการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นในสมัยที่นายสุวิทย์ คุณกิตตติ เป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นระบบที่ส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่มีเกินความต้องการไปยังแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงแต่ขาดแคลนน้ำ รวมทั้งสามารถควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามกฎระเบียบการใช้น้ำในภาวะขาดแคลนน้ำ

ซึ่งได้นำเสนอครม.เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 39 โดยครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 39 ให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการภายใน 5 ปี ซึ่งกรมชลฯได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาโครงการดังกล่าว

โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการโครงการนำร่อง 50,000 ไร่ จำนวน 10 โครงการใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 โครงการ ในจังหวัดนครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และขอนแก่น 3 โครงการ ภาคตะวันออก 3 โครงการ ในจังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา และตราด และ ภาคกลาง 1 โครงการ ในจังหวัดกาญจนบุรี เวลาดำเนินการปี 2540-2544 งบประมาณ 875 ล้านบาท และให้มีการประเมินผลของโครงการก่อนที่จะมีการขยายผลการดำเนินโครงการต่อไป

ในวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาสมาคมทรัพยากรน้ำได้จัดเวทีสัมมนาเรื่อง "กลุ่มผู้ใช้น้ำคาดหวังอะไรจาก water grid" โดยมีตัวแทนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องคือกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ ภาคเกษตรกรจากลุ่มน้ำต่างๆ ภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ องค์กรอิสระและองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าร่วมสัมมนาประมาณ 60 คน

การสัมมนาได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาผลัดเปลี่ยนกันแสดงความคิดเห็นซึ่งส่วนใหญ่ยังมีข้อสงสัยในรูปแบบของ water grid ว่าจะเป็นระบบท่อปิดหรือรูปแบบอย่างไรบ้าง นายสมาน ทับเที่ยง กลุ่มผู้ใช้น้ำจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าได้รับจดหมายเชิญร่วมสัมมนาบอกว่าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและความยากจน ซึ่งตนอยากเห็นเกษตรกรทุกคนได้ใช้น้ำแต่รูปแบบนั้นอยากให้คนในท้องถิ่นได้ร่วมตัดสินใจ

นายชัยพันธ์ ประภาสวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน กล่าวว่าการจัดการน้ำในระบบท่อสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมเพราะเป็นการป้องกันน้ำไม่ให้รั่วไหลเสียหาย แต่ลำน้ำสำหรับชาวบ้านไม่ได้มีความหมายแค่น้ำ แต่คือวิถีชีวิต มีกุ้งปลา พืชผักริมน้ำซึ่งสิ่งเหล่านี้จะหายไปหากนำน้ำใส่ท่อ และชาวบ้านก็รู้สึกอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมเสียงดังกว่า ได้เปรียบกว่า

ด้าน นายสมศักดิ์ เตโช จากลุ่มน้ำท่าจีน เสนอว่าก่อนที่หน่วยงานภาครัฐจะทำระบบน้ำท่ออยากให้กลับไปคิดว่าแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ดูแลดีหรือยัง และคิดจะพัฒนาหรือไม่ การทำระบบน้ำท่อจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมายน่าจะนำเงินมาขุดลอกคูคลองธรรมชาติหรือทำฝายกักเก็บน้ำน่าจะดีกว่า

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการนำร่อง 10 โครงการซึ่งเริ่มมีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2544 นั้นได้มีการจัดเวทีพูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่สามารถส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกได้จริง และสามารถทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดของแก่นเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ข้อถกเถียงในเรื่องงบประมาณในการบำรุงรักษาที่ค่อนข้างสูงก็ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ดูแล

นายสมบัติ โพธิ์ตานี ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น หนึ่งในพื้นที่โครงการระบบท่อนำร่อง เดินทางมาร่วมสัมมนาพร้อมกับนำภาพถ่ายมาชี้แจงถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวสร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2542 ใช้งบประมาณไป 50 ล้านบาท มีถังพักน้ำ 15 ถัง มี 252 หัวจ่ายเมื่อมีการทดลองใช้ในปี 2544 ไปแล้ว 3 ครั้ง ปรากฏว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 วันในการสูบน้ำให้เต็มถังพักน้ำซึ่งมีความจุ 1,200 ลูกบาศก์เมตรโซน 1 ทั้ง 8 ถังแต่ใช้เวลาปล่อยน้ำออกจากถังผ่านหัวจ่ายประมาณ 10 นาที และปล่อยได้ไกลเพียง 20-30 เมตรเท่านั้น แต่มีค่าไฟฟ้าถึง 330,000 บาทในการสูบน้ำ 3 ครั้ง

นายสมบัติเล่าต่อว่าพื้นที่โครงการวางไว้ 2,200 ไร่แต่ใช้น้ำได้จริงแค่ 15 ไร่เท่านั้น ตอนแรกที่มีโครงการมาชาวบ้านรู้ก็อยากได้น้ำไปใช้ในการเกษตร คนที่ไปอยู่กรุงเทพฯก็อยากกลับมาทำงานที่บ้าน ปีที่แล้วชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แต่พอออกรวงแห้งตายหมดเพราะขาดน้ำ ชาวบ้านเองไม่ได้เตรียมความพร้อมหวังพึ่งโครงการ ที่เคยขุดบ่อเก็บน้ำไว้ก็ไม่ขุดทำให้ขาดทุนกันหมด

"อยากให้ไปศึกษาดูงานว่ามีปัญหาอะไร ก่อนที่จะทำโครงการต่ออยากให้ทำที่มีอยู่ให้ใช้ได้ก่อน และค่าบำรุงรักษาก็ยังมีปัญหาถ้าโอนให้อบต.คงไม่มีเงิน รายได้ตอนนี้อบต.มีแค่ปีละไม่ถึงล้านแต่ที่ซ่อมไปแล้วถึง 2 ล้านบาท อบต.เขาก็ไม่อยากได้ เราก็ไม่อยากต่อต้านแต่ความเสียหายมันเกิดแล้ว" ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อ.หนองเรือ กล่าวทิ้งท้าย

โดยในวันที่ 21-22 ต.ค.นี้คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน(กปอพช.อีสาน)จะจัดลงพื้นที่โครงการนำร่องชลประทานระบบน้ำท่อและสัมมนาบทเรียนโครงการนำร่องฯ ที่ศูนย์ฝึกถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 3 สถาบันราชภัฏนครราชสีมา เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ

นายสัจจะ เสถบุตร จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าคณะศึกษาโครงการ Water grid เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ เล่าถึงแนวคิดว่ามีพื้นที่เพาะปลูกเพียง 20-30 ล้านไร่ในประเทศไทยที่มีระบบชลประทาน แต่ที่เหลือกว่า 70 ล้านไร่ยังไม่ได้รับบริการจากรัฐจึงต้องขยายให้ทั่วถึง เนื่องจากน้ำไม่ได้มีอยู่อย่างเหลือเฟือการส่งน้ำด้วยท่อจะทำให้เกิดการรั่วไหลน้อย แต่ Watre grid เป็นวิธีนำน้ำไปถึงเกษตรกรซึ่งยังมีความคิดหลากหลายในเรื่องรูปแบบ อาจจะเป็นทั้งระบบท่อและลำน้ำธรรมชาติ

โดยปัจจุบันโครงการ Water grid อยู่ในความดูแลของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการศึกษาแนวทางเบื้องต้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่องคือเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สามารถเพาะปลูกได้ ใกล้ตลาด ใกล้กรุงเทพฯขนส่งสะดวก แต่ขาดแคลนน้ำ โดยจะนำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาใช้แต่แนวทางยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้หัวหน้าคณะศึกษาฯยอมรับว่าโครงการนำร่อง 10 แห่งที่ดำเนินการไปแล้วมีความผิดพลาดจริงซึ่งเป็นบริษัทอื่นที่จัดทำ แต่ที่กำลังดำเนินการอยู่นั้นเป็นส่วนที่เริ่มใหม่และในอนาคตอาจจะไปเชื่อมโยงกับที่มีอยู่เดิม และระยะเวลานั้นคงยังไม่สามารถระบุได้ โดยการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่นั้นกรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้ดูแล

ด้าน นายบุญยิ่ง กู้สวัสดิ์ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าตนไม่อยากให้มีปัญหาเหมือนกับกรณีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่ผ่านมา ดังนั้นการจัดการน้ำต้องแยกน้ำอุปโภคออกจากภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจน เนื่องจากในปัจจุบันรัฐยังไม่ได้จัดหาน้ำให้ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการใช้น้ำบาดาลในปัจจุบันนั้นเริ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นมาก และการใช้น้ำประปาจะมีผลต่อการฟอกสีเนื่องจากส่วนผสมคลอรีนในน้ำประปา ในอนาคตหากรัฐไม่สามารถจัดหาน้ำให้ได้อาจต้องลดขนาดการผลิตหรือย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น

อย่างไรก็ตามการแลกเปลี่ยนถึงความต้องการต่อการจัดการน้ำที่เกิดขึ้นยังอยู่บนพื้นฐานที่ว่าข้อมูลการจัดทำ Water grid ยังไม่ได้มีการอธิบายให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ข้อมูล แต่โครงการกำลังเดินหน้า พร้อมกับเสียงท้วงติงและความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากรน้ำกำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้งหากการจัดสรรไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม

ปิดท้ายด้วยข้อสังเกตของ นายเสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าการพูดคุยเรื่องการจัดการน้ำไม่ควรพูดแยกส่วน เนื่องจากไม่สามารถนำไปสู่ความถูกต้องชอบธรรมได้ซึ่งภาคเกษตรจะเป็นผู้ได้รับเคราะห์ การเกิดภัยแล้ง น้ำท่วมที่ผ่านมาสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้พื้นที่ป่าเขตร้อนอย่างทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นนิเวศเมืองร้อนที่ละเอียดอ่อน

"ปัญหาคือความหมายของ Water grid ยังพูดไม่ตลอด แต่การเชื่อมโยงน้ำให้เป็นระบบเดียวนั้นย่อมสร้างปัญหาแน่นอนเพราะระบบน้ำตามธรรมชาติมีความหลากหลายในตัวเอง นอกจากนี้ระบบบริหารจัดการต้องมีค่าใช้จ่ายและมีแนวโน้มว่าจะผลักภาระให้ประชาชน ซึ่งจะบันดาลให้ชีวิตในชนบทกลายเป็นเมืองเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย นี่คือการเสียดุลในการพัฒนา" ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net