Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1.

"หรือว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่ออันโอชะของจีน ที่เขาจะใช้ตะเกียบจิ้มเอาเนื้อชิ้นไหนใส่ปากก่อนก็ได้..." เสียงของ มิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน เอ่ยออกมาในห้วงยามบ่ายวันหนึ่ง...

เป็นเสียงของความห่วงใย เมื่อกระแสการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน กำลังรุกคืบเข้ามาอย่างเงียบๆ โดยไม่มีใครทันตั้งตัว กลุ่มทุนในนามปภามาศ บริษัทไทยจีนร่วมพัฒนา ได้ร่วมมือกันกว้านซื้อที่ดินชาวบ้านในเขตต.ศรีดอนมูล ต.ป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อใช้เป็นพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรม

ล่าสุด กระแสข่าวความไม่ชอบมาพากล กับขั้นตอนการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส ได้เริ่มกระพือโหมอย่างรุนแรง จนทำให้ชาวเชียงรายเริ่มรู้สึกตระหนกและไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการดังกล่าว เมื่อชาวบ้าน องค์กรท้องถิ่น ไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ ทั้งสิ้น

ชาวบ้านเริ่มกังวลและตั้งคำถามไปต่างๆ นานา ว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรว่า เมื่อเกิดนิคมอุตสาห กรรมแล้ว จะไม่มีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มีมาตรการในการกำจัดขยะ การกำจัดน้ำเสียกันอย่างไร มีมาตรการในการป้องกันถนนชำรุดระหว่างการก่อสร้างได้อย่างไร มีการคัดและควบคุมบรรดาแรงงานต่างถิ่นได้อย่างไร

ซึ่งจะรวมไปถึงเรื่องของสังคมและวิถีชุมชนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าเรื่องความเสื่อมทางวัฒนธรรม ปัญหาอาชญากร อาชญากรรมที่จะเกิดขึ้น ปัญหาชุมชนแออัด และปัญหาคาราโอเกะ ปัญหาโสเภณี และโรคติดต่อที่จะถาโถมเข้ามาพร้อมกันในนามของการพัฒนา

และที่สำคัญ คนในพื้นที่ต่างสับสนและห่วงใย หากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ยาวนานกว่า 1,000 ปี มีคูเมือง โบราณสถานตั้งอยู่กระจัดรายรอบเมือง อาจเกิดการสะเทือนสั่นไหวและเกิดการล่มสลายทางวัฒนธรรมได้ หากไม่มีการรองรับจัดการที่ดี

2.

ย้อนรอยกลับไป...โครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่ อ.เชียงแสน ได้เริ่มเป็นข่าวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 เมื่อนายสู หรง ข่าย ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะได้เดินทางมาหารือกับ นายนรินทร์ พานิชกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในขณะนั้น

นายหลิว หมิง ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมหยุนหนาน บอกว่า ได้รวบรวมเอกชนจีนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนแล้วกว่า 100 บริษัท มีทั้งกิจการไบโอเทค ชีวภาพ อิเลกทรอนิคส์ สุรา และการท่องเที่ยว

นายหลิว หมิง ยังได้เอ่ยออกมาว่า…หากทางไทยไม่มีความคืบหน้า ก็จะถอนตัวจากโครงการนี้ทันที และจะหันไปลงทุนในมณฑลยูนนานแทน!!

12 ม.ค.47 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมพิจารณายุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และการประชุมผลักดันยุทธศาสตร์ล้านนาสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 1 และได้เร่งรัดโครงการเกี่ยวกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะใช้เป็นประตูการค้าการลงทุนกับจีนตอนใต้ เอเชียใต้ และเอเชียอาคเนย์

นายสมคิด ได้ให้ทำการหาข้อสรุปเกี่ยวกับพื้นที่ให้ได้ภายใน 1 เดือน และทำการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อที่จะนำข้อมูลความคืบหน้าที่ได้นำเสนอให้ทางจีนได้รับทราบในการเดินทางไปเยือนจีน ในช่วงเดือนเมษายน 2547

21 ม.ค.47 นายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงความคืบหน้า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จ.เชียงราย ว่า ขณะนี้ เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการตามแผนงานระยะสั้น คือ

การจัดโซนนิ่งพื้นที่ 3 อำเภอ คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ในเบื้องต้นกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน ก.พ.2547 และประกาศใช้ภายในปี 2547 อีกทั้งให้กำหนดจุดที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนก่อสร้าง และดำเนินธุรกิจได้ภายในปีนี้

ในด้านนางอัญชลี ชวนิชย์ ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ระบุว่า บริษัทที่ปรึกษาได้สรุปออกมาแล้วว่า พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฯ คือพื้นที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน ที่บริษัทไทย-จีน ร่วมพัฒนา จำกัด ในนามกลุ่มปภามาศ เป็นผู้เสนอเข้ามาจำนวนประมาณกว่า 3,000 ไร่ เมื่อเทียบกับพื้นที่อีก 8 แปลงที่ทางจังหวัดเสนอให้ กนอ. พิจารณาความเหมาะสม

24 ก.ย.47 นายศรีพรม หอมยก รองผวจ.เชียงราย ในขณะนั้น และนายอุทัย จันทิมา รักษาการผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) พร้อมสมาชิกหอการค้าและนักธุรกิจไทยกว่า 200 คน ได้ให้การต้อนรับ นายหยาง ชงห้วย ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองมณฑลยูนนานและคณะ โดยมีการประชุมเรื่องความร่วมมือไทย-จีน ว่าด้วยนโยบายอำนวยความสะดวกแก่การลงทุน โครงการนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ มีผู้แทนสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สนง.คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ หารือกัน ก่อนจะออกสำรวจพื้นที่จริง ในเขตพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.แม่สาย อ.เชียงของ

หลังจากนั้น นายวีระพงษ์ ไชยเพิ่ม ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาธุรกิจการนิคมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ได้เปิดเผยว่า กนอ. มีวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์การผลิตของไทยโยงใยทั่วโลก สร้างความสมดุล คือ 5E ซึ่งมีความสมดุลทางธรรมชาติ และกนอ.มีการดูแล 31 แห่ง ปัจจุบันตำแหน่งที่ตั้งของนิคมฯ มีทั่วประเทศไทย มีการลงทุนมากจำนวนมาก

"นักลงทุนที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.นิคมฯ ที่ต่างชาติถือครองที่ดินได้ สามารถนำชาวต่างชาติเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ได้ มีระบบบริการ ONE STOP SERVICE นอกจากนี้ ยังมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ มีการยกเว้นภาษีอากรการนำเข้า-ส่งออก เช่นเดียวกับเขตปลอดอากรของศุลกากร ซึ่งที่ผ่านมามีประเทศกลุ่มยุโรปเข้ามาลงทุนมากที่สุด แต่กลุ่มชาวจีน มีราว 6% เท่านั้น ถือว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มในด้านการค้าและการเงินดี" นายวีระพงษ์ กล่าว

นายอุทัย จันทิมา รักษาการผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน ถือว่ามีความเป็นไปได้ 100 % แล้ว เพราะมีการลงนามกันระหว่าง เอกชนไทย กับเอกชนจีน คือ บริษัท ไทยจีนพัฒนาบริหารอุตสาหกรรมภาคเหนือแห่งประเทศไทย ในส่วนของการนิคม ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ก็อนุมัติเห็นชอบพื้นที่เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งขั้นต่อไป ก็คือ เอกชนกับเอกชน อาจจะไปลงนามในสัญญาร่วมประมูลงาน กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

และทางจังหวัด ก็เห็นชอบพื้นที่ ต.ศรีดอนมูน อ.เชียงแสน พื้นที่ประมาณ 3,100 ไร่ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องรอผลการศึกษาจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว น่าจะมีการตอกเสาเข็มภายในสิ้นปีหรือต้นปีหน้า และจะเริ่มลงทุนในการก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท และจะมีโรงงานราว 100 โรงงาน มูลค่าการลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท

นั่นคือข้อมูลทางฝ่ายผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจีน กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้ชี้แจงรายงานความคืบหน้า พร้อมการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ท่ามกลางความแคลงใจของคนเชียงราย รวมไปถึงองค์กรท้องถิ่น ซึ่งได้ตั้งข้อสงสัย ข้อสังเกตไว้ว่า...

ทางจีนเป็นฝ่ายรุก และจี้ให้ทั้งทางจังหวัดและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งรัดดำเนินการโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมโดยเร็ว โดยทางจีนได้เลือกแกมบังคับกำหนดให้ นิคมฯ อยุ่ห่างจากท่าเรือแม่น้ำโขง ไม่เกิน 30 กม. ซึ่งทำให้พื้นที่ที่ทางจังหวัดเสนออีก 8 แห่ง ถูกตัดสิทธิ์อย่างสิ้นเชิง และทำให้บริษัท ไทยจีนพัฒนาร่วมทุน ในนามกลุ่มปภามาศ ได้ไปอย่างน่ากังขา

ทำไมต้องมีการตั้งนิคมฯ ที่เชียงแสน!!
นายสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของเครือผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัทดังกล่าว ได้ทำการกว้านซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน และอำเภอใกล้เคียง ประมาณ 3,000- 4,000 ไร่ มีการล็อกสเปกไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น บ.ไทยจีนพัฒนาร่วมทุน มีสายสัมพันธ์กับบรรดาคณะกรรม การจีนตรงนั้นแน่นอน

ล่าสุด, มีการรายงานว่า มีการทำสัญญามัดจำกับชาวบ้านเจ้าของที่ดินไว้รายละ 30,000 - 40,000 บาท ในสัญญานั้นระบุว่า หากมีการล้มเลิกโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน ชาวบ้านต้องจ่ายค่าชดเชยถึง 3 เท่า ยิ่งทำให้ทุกคนต่างตื่นตระหนกและหวาดระแวง ว่านี่คือการก้าวแย่งชิงพื้นที่ผลประโยชน์ของกลุ่มทุน โดยคนเชียงรายทั้งจังหวัดไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เลย...

......................................

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net