รายงานพิเศษ : จับตา...ปลดขิ่นยุ้นต์ สัญญาณเตือนภัยครั้งใหม่จากพม่า

ภาพประกอบ : พลเอกขิ่น ยุ้น อดีตนายกรัฐมนตรีพม่า(ซ้ายมือ) กับนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

เป็นที่แน่ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองของประเทศพม่ากำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าล่าสุดจะยังไม่มีการยืนยันรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนล่าสุดอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารพม่า

หลังจากที่มีข่าวรายงานออกมาจากสื่อมวลชนต่างประเทศในเวลาเช้ามืดวันนี้ (19 ตุลาคม) เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศพม่าว่า พล.อ.ขิ่นยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีของประเทศพม่าถูกพล.อ.หม่องเอ รองประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ(SPDC)ควบคุมตัวอยู่ที่บ้านพักในกรุงมัณฑเลย์ พร้อมทั้งส่งกำลังทหารเข้าปิดล้อมสำนักงานหน่วยข่าวกรองในกรุงย่างกุ้ง และจับกุมเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองบริเวณชายแดนจีนอีกกว่า70 คน โดยล่าสุดมีรายงานว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจากันเรื่องปลดพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ออกจากตำแหน่งหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง

สาเหตุของการปลดพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ออกจากตำแหน่งสำคัญครั้งนี้ ศูนย์ข่าวสาละวิน ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวในประเทศพม่ามาโดยตลอดวิเคราะห์ว่า " โดยประวัติความสัมพันธ์ระหว่างพล.อ.หม่องเอและพล.อ.ขิ่นยุ้นต์จะพบว่าไม่ค่อยจะราบรื่นนัก เนื่องจากพล.อ.หม่องเอมีอำนาจคุมฝ่ายกองทัพซึ่งเป็นหัวใจของการปกครองประเทศพม่า ขณะที่พล.อ.ขิ่นยุ้นต์คุมหน่วยข่าวกรองซึ่งอำนาจเทียบเท่ากับกองทัพพม่า เพราะกุมความลับการเคลื่อนไหวภายในประเทศทั้งหมด และเป็นฐานอำนาจสำคัญที่สุดของพล.อ.ขิ่นยุ้นต์

โดยพล.อ.หม่องเอ เติบโตมาในแนวทางทหาร "สายเหยี่ยว" คือ เน้นการสู้รบ ขณะที่พล.อ.ขิ่นยุ้นต์เติบโตมาในแนวทางทหาร "สายนกพิราบ" คือ เน้นการเจรจามากกว่าการสู้รบ วิธีการทำงานของทั้งสองคนจึงอยู่ตรงกันข้าม สำหรับ พล.อ. ขิ่นยุ้นต์เป็นคนที่มีความปรองดองระหว่างชนชาติ บรรดาชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนค่อนข้างมีความพอใจที่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพม่า และถือเป็นความหวังที่จะนำพาไปสู่ประชาธิปไตยในประเทศพม่าได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ต่อนักธุรกิจตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะชายแดนจีน รวมทั้งการคอรัปชั่นอย่างหนักในแวดวงหน่วยข่าวกรองพม่าซึ่งมีพล.อ.ขิ่นยุ้นต์เป็นหัวเรือใหญ่ ประกอบกับธุรกิจของลูกสาวพล.อ.หม่องเอและลูกชายพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ ซึ่งต่างเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์และให้บริการอินเทอร์เน็ตเหมือนกัน แต่บริษัทบากันไซเบอร์เทคของนายเยหน่ายวิน ลูกชายพล.อ.ขิ่นยุ้นต์กลับได้รับสัมปทานการติดตั้งอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศ

ความพัวพันระหว่างธุรกิจลูกและตำแหน่งหน้าที่การงานของพ่อจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พล.อ.หม่องเอไม่พอใจพล.อ.ขิ่นยุ้นต์มานาน หนทางเดียวที่จะทำให้พล.อ.หม่องเอมีอำนาจเหนือพล.อ.ขิ่นยุ้นต์อย่างชัดเจนก็คือการลดอำนาจของพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ในหน่วยข่าวกรอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พลเอกขิ่นยุ้นต์นั่งเก้าอี้อยู่ไม่มีอำนาจในทางบริหารกิจการใด ๆ ในประเทศพม่า ผู้กุมอำนาจสูงสุดและเป็นผู้บริหารประเทศตัวจริง คือ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ประธานเอสพีดีซี รองลงมาคือ พลเอกรองอาวุโสหม่องเอ รองประธานเอสพีดีซีและผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า "

การออกมาประกาศของ พล.อ.หม่องเอ ว่า ไม่ใช่การรัฐประหารแต่เป็นการยึดหน่วยข่าวกรองภายใต้การบังคับบัญชาของพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ ให้มาขึ้นตรงต่อกองทัพเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า หน่วยข่าวกรองภายใต้การดูแลของพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ ได้เข้าไป พัวพันกับการทุจริตนำเข้าทองคำจากสวิตเซอร์แลนด์ ในราคาสูงกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังเข้าไปพัวพันกับการทำสัญญาธุรกิจโทรคมนาคมกับไทยที่ไม่โปร่งใสอีกด้วย จึงเป็นสิ่งที่น่าจะยืนยันได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นเพียงการถ่ายเทอำนาจของกลุ่มทหารซึ่งไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในพม่าแต่อย่างใด

นอกจากนี้การสั่งระงับการเจรจากับตัวแทนจาก สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงผลักจากกองทัพไทยในการเจรจาหยุดยิงให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การมีอำนาจเหนือกว่าของพล.อ.หม่องเอในครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงชนกลุ่มน้อยว่า เสียงปืนระหว่างกองทัพพม่าและชนกลุ่มน้อยอาจดังขึ้นอีกครั้ง

นักสิทธิมนุษยชนชาวพม่า ที่อยู่ในประเทศไทยคนหนึ่ง ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นความขัดแย้งของคณะผู้นำรัฐบาลทหารที่มีมานานแล้ว และเขาเองก็เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าไม่ดีขึ้น เพราะพล.อ.หม่องเอพูดมาตลอดว่าเขาไม่อยากเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองในพม่า โดยให้เหตุผลว่า การเมืองในพม่านั้นวุ่นวายเกินกว่าที่ประชาชนจะบริหารกันเองได้ "ทหาร" เท่านั้นที่จะทำให้ประเทศเข้าสู่ความสงบสุข นอกจากนี้ที่อาจจะแย่กว่าเดิมคือเขาบอกว่าไม่อยากคุยกับนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรค NLD ซึ่งนี่ย่อมไม่ใช่สัญญาณที่ดีของชาวพม่าแน่นอน

หากย้อนกลับไปดูความสัมพันธ์ของไทยกับพม่าที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2545 บมจ.ชินแซทเทลไลท์ บริษัทในเครือชินคอร์เปอเรชั่น และ BAGAN Cybertech IDC & Teleport ของลูกชายพล.อ.ขิ่นยุ้น์ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรในประเทศพม่า ได้ลงนามร่วมกันในสัญญาใช้บริการดาวเทียมไทยคมและสัญญาจัดซื้อระบบอุปกรณ์ภาคพื้นดินของ iPSTAR เพื่อให้บริการโทรศัพท์ทางไกลชนบทในพม่า

รวมทั้งการให้เงินกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)กับรัฐบาลพม่าในการทำโครงการพัฒนาประเทศกว่า 4 พันล้านบาท 25 มิถุนายน 2547 ที่มีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่าย

ประเด็นที่รัฐบาลไทยต้องตระหนักในขณะนี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะเป็นไปในทางเลวร้ายลง เนื่องจากท่าทีของพล.อ.หม่องเอไม่เคยคิดจะสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองและธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งยังไม่พอใจพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ที่ประนีประนอมให้กับประเทศเพื่อนบ้านและต่างประเทศมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังรู้สึกขุ่นเคืองใจที่ให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนในพม่ามากเกินไป

โดยธุรกิจหลายอย่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจส่วนตัวของครอบครัวพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ ซึ่งหมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งรัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่านนายกทักษิณกำลังจะพบอุปสรรคสำคัญหากพลเอกขิ่นยุ้นต์ถูกลดทอนอำนาจลง โดยเฉพาะความร่วมมือในการปราบยาเสพติด การลงทุนบริเวณชายแดน และธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศพม่า

ซึ่งเริ่มชัดเจนเมื่อรายงานจากอ.แม่สาย จ.เชียงราย แจ้งว่า ช่วงสายของวันนี้ (19 ต.ค.47) ชุดประสานงานชายแดนไทย-พม่า อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้มีการประชุมด่วน เพื่อหารือร่วมกันถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในพม่า โดยเจ้าหน้าที่ชุดประสานของจ.ท่าขี้เหล็ก พม่า แจ้งกับฝ่ายไทย ว่า ตั้งแต่วันนี้ขอให้ระงับการส่งสินค้าเข้าพม่าทุกประเภท ยกเว้นน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีความชัดเจนจากเบื้องบน ที่กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูง

ด้านชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก การส่งสินค้าเข่าออกผ่านจุดนี้ ได้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจในรัฐบาลพม่า ร่วม 1 เดือน ทั้งนี้ ทางการพม่า เข้มงวดต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยทุกชนิด จะปล่อยให้นำเข้าสินค้าเฉพาะที่เสียภาษีทั้ง 2 ฝั่งอย่างถูกต้องเท่านั้นผ่านเข้า-ออกได้ โดยไม่ปล่อยให้สินค้าใต้ดินเล็ดลอดเข้าพม่าอย่างเด็ดขาด ทำให้ยอดการค้าผ่านศุลกากรแม่สอด ช่วงตุลาคม มีมูลค่าเหลือเพียง 400-500 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมยอดการค้าชายแดนอยู่ที่ 900-1,000 ล้านบาท/เดือน

ล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปประชุมครม.สัญจรที่อ.แม่สอด จ.ตากยอมรับว่าทราบข่าวการปฏิวัติในประเทศพม่าแล้ว โดยนายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่ายืนยันว่า รัฐบาลจะไม่แสดงความคิดเห็น และแทรกแซงกิจการในประเทศพม่า แม้จะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่าแต่ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงระหว่างไทยและพม่ายังคงดำเนินต่อไป ซึ่งยืนยันจากการที่ครม.ได้อนุมัติให้อ.แม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่พัฒนานำร่องในลักษณะเมืองคู่แฝดระหว่างไทย-พม่า (แม่สอด-เมียวดี) แห่งแรก

การเดินหน้าความร่วมมือด้านต่างๆกับพม่าของรัฐบาลไทยอาจจะต้องสะดุดลง หากผู้นำของรัฐบาลทหารพม่าคนใหม่ไม่ยอมรับในเงื่อนไขต่างๆที่รัฐบาลไทยเคยทำไปกับพล.อ.ขิ่นยุ้นต์ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น และน่าจะเป็นโจกย์ใหญ่ที่พัน.ต.ท.ทักษิณชินวัตรในฐานะผู้นำประเทศ และผู้ก่อตั้งเครือชินวัตรต้องเผชิญในอนาคต

ในด้าน เวทีการเมืองระหว่างประเทศ เป็นที่ทราบดีว่าพม่าค่อนข้างจะเอนเอียงไปทางประเทศจีนและหวังพึ่งจีนในการพยุงฐานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างจะอ่อนแอ ซึ่งจีนก็ให้การตอบรับเป็นอย่างดีเห็นได้จากความช่วยเหลือด้านงบประมาณ การลงทุน ความช่วยเหลือด้านทหารและการค้าขาย ซึ่งเป็นได้ชัดว่าปัจจุบันมีสินค้าจีนเข้าไปครองตลาดพม่าอยู่ไม่น้อย และในอนาคตอันใกล้คงจะแนบแน่นมากขึ้นกว่าเดิมเพราะพม่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญสำหรับจีน

การดำเนินนโยบายอิงจีนของพล.อ.อาวุโสตัน ฉ่วย จึงทำให้นโยบายต่างประเทศในภูมิภาคนี้ต้องปรับกระบวนยุทธ์กันเป็นยกใหญ่ เช่น อาเซียนก็ต้องดึงพม่าเข้ามาอยู่ในองค์กร อินเดียซึ่งเคยเฉยชากับรัฐบาลทหารพม่าก็กลับเข้ามาขอคืนดี เพราะกลัวจีนจะครอบครองทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย ญี่ปุ่นก็เร่งเอาใจพม่าเพื่อตีกันจีน เหล่านี้เป็นต้น

และในความสัมพันธ์อันดีของประเทศในเอเชียรวมทั้งองค์กรอาเซียนที่มีต่อพม่า ทำให้พลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย ค่อนข้างจะเมินเฉยต่อข้อเรียกร้องของชุมชนโลกที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในพม่าเพราะตระหนักดีว่าถึงอย่างไรก็มีอาเซียน ถึงอย่างไรก็มีจีนคอยช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเมื่อถึงคราวอับจน การกดดันจากนานาชาติที่จะยากขึ้นภายใต้การนำของพล.อ.อาวุโสตัน ฉ่วย และพล.อ.หม่องเอจึงเป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่กำลังถูกส่งไปเช่นกัน

จันลอง ฤดีกาล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท