Skip to main content
sharethis

วันที่ 18 ตุลาคม ประชาไทได้ข่าวจากธรรมศาสตร์ว่าจะมีการปลด ยาม (ชาวธรรมศาสตร์เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยด้วยคำดั้งเดิม "ยาม" ) ออก ด้วยเหตุผล แก่ เกินไป และอ้วนเกินไป

วันที่ 19 ตุลาคม นักข่าวประชาไทเข้าไปสอบถาม ยาม ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ที่ประจำอยู่ใต้ตึกคณะรัฐศาสตร์ (สันติชัย - อาสาสมัครของประชาไทให้ถามจากพี่ยามที่ตึกนี้เพราะ "ผมสนิท - คุยได้" )

"อ๋อ ไม่มีอะไรแล้ว พวกอาจารย์เขาไปประท้วงกันแล้ว ไม่ถูกปลดแล้ว" พี่ยามใต้ตึกรัฐศาสตร์ให้คำตอบ

เรา (นักข่าวกับอาสาสมัคร) ได้แต่งงงวย อะไรมันจะจบง่ายปานนั้น เรายังไม่รู้เลยว่า การปลดยามที่รู้มานั้นเป็นคำสั่งจากส่วนไหน และมีรายละเอียดว่าอย่างไร คำถามชุดแรกยังไม่ได้คำตอบเราก็ต้องมาตั้งคำถามเพิ่มเติมว่าอาจารย์กลุ่มไหนที่คัดค้านคำสั่งดังกล่าว และคัดค้านไปตั้งแต่เมื่อไหร่และอย่างไร

พี่ยามคนเดิมตอบได้อย่างเดียวว่าไม่รู้ รู้แต่อาจารย์เขาคัดค้านไปแล้ว และตนเองก็ไม่ต้องถูกปลด แต่จะเป็นคำสั่งของใคร ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

จบข่าว.........

"ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นหรอก มีมติของมหาวิทยาลัยออกมา พวกอาจารย์ก็ประท้วงไปแล้ว จบแล้ว" อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ กล่าวกับนักข่าวประชาไทด้วยน้ำเสียงราบเรียบ และย้ำอีกหลายคราว่าไม่น่าตื่นเต้น เรื่องมันธรรมดา

นักข่าวประชาไทได้แต่ร้อง ว้า!!! อาการเสียดายข่าวสำแดงออกมาอย่างปิดไม่มิด ทำไมถึงง่ายดายอย่างนี้ แต่ก็ดีไปอย่าง ที่ไม่ต้องเขียนถึง ผลกระทบของคนระดับล่างซึ่งไม่มีโอกาสเลือก และมักไม่ถูกเลือก อันเกิดจากโครงสร้างและอำนาจซึ่งเป็นพล็อตสุดแสนคลาสสิคเกินไป

วันที่ 20 ตุลาคม ประชาไทก็ยังไม่รู้อะไรเพิ่มเติมมากนัก ด้วยแหล่งข่าวคนสำคัญที่คาดว่าจะให้รายละเอียดได้เหมือน(เพราะ)เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เองต่างก็เดินทางไปต่างประเทศกันหมดสิ้น เราตามต่ออย่างกระท่อนกระแท่น ได้ความเพิ่มเติมว่า นโยบายคุณสมบัติของ ยามธรรมศาสตร์ นั้นเกิดจากคณะกรรมการซึ่งรศ. ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคลและกฎหมายตั้งขึ้น โดยกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของ ยาม ขึ้นใหม่ เช่น อายุ น้ำหนัก และการศึกษาขั้นต่ำสุด ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. 6) ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวหากไปใช้วัดกับยามที่มีอยู่ในธรรมศาสตร์ขณะนี้คาดว่าส่วนใหญ่ สอบตก และเข้าข่ายจะต้องถูกปลดแน่นอน

อาจารย์วิโรจน์ อาลี จากคณะรัฐศาสตร์ จึงนำระเบียบดังกล่าวไปให้อาจารย์ร่วมกันลงชื่อคัดค้าน เสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่สุดแล้วข้อกำหนดของกรรมการชุดดังกล่าวจึงปรับเปลี่ยน ไม่บังคับย้อนหลังกับยามที่ยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน แต่ใช้เป็นเกณฑ์สำหรับการรับสมัครเจ้าหน้าที่ใหม่เท่านั้น

ประชาไท ไม่รู้ว่าเหล่าอาจารย์ที่คัดค้านมีกี่คน และใช้วิธีลงชื่อเท่านั้นหรือไม่ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ เรื่องจบลงแล้ว และยามซึ่งบางคนแก่แล้ว บางคนอ้วน และหลายคนไม่จบ ม. 6 ไม่ต้องถูกปลดออกจากงาน

มันเป็นเรื่องธรรมดา ๆ และเล็กน้อย จนไม่น่าตื่นเต้นสำหรับคนที่คุ้นชินอยู่กับธรรมศาสตร์.... เฉือนพื้นที่สนามบอลเป็นลานจอดรถ ย้ายโรงอาหาร ประมูลร้านค้าในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนระบบลงทะเบียน ย้าย-ไม่ย้ายธรรมศาสตร์ ฯลฯ ล้วนผ่านการคัดค้าน ประท้วง ถกเถียง จะเล็ก - ใหญ่ มาก - น้อย สำเร็จ - ไม่สำเร็จ เวทีแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้นและทำให้มุมตกกระทบของนโยบายต่าง ๆ เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเบนทิศทางไปบ้าง บางคนเลือกใช้คำ "ชุมชนธรรมศาสตร์" เรียกมหาวิทยาลัยที่ดูวุ่นวายอย่างเงียบ ๆ แห่งนี้

ท่ามกลางการหลากไหลของกระแส "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" กับกระแสค้านของบุคลากรของหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงด้วยความเป็นห่วงเป็นใยก็คือ สวัสดิภาพของพนักงาน/เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ซึ่งหมายถึงหลักประกันรายได้และความมั่นคงอุ่นใจในการทำงาน

คำถามมีอยู่ว่า ลูกจ้างประจำของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน (ทั้งที่ยังไม่ออกและกำลังจะออกนอกระบบ) ยึดโยงความอุ่นใจอยู่กับกฎหมายหรือกฎระเบียบจริง ๆ หรือ และกฎหมายหรือกฎระเบียบโดยปราศจากวัฒนธรรมในชุมชนที่จะห่วงใยพี่น้องร่วมชุมชนเดียวกัน นั่นเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันอะไรหรือไม่

เรื่องเล็ก ๆ ในธรรมศาสตร์ที่ผ่านมาเงียบ ๆ และรวดเร็วกว่าสายลมหนาว ทิ้งคำถามใหญ่ ๆ ให้ครุ่นคิด

พิณผกา งามสม และสันติชัย อาภรณ์ศรี
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net