"การพัฒนามักเดินทางมาพร้อมกับความหายนะ "
ใครคนหนึ่ง
เอ่ยออกมาด้วยความรู้สึกลึกๆ ในใจ
ไม่ว่าจะอยู่ตรงพื้นที่ใดในสังคม เราจะพบว่า ยังมีมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่พยายามเฝ้าฝืนกระทำ ในนามของการพัฒนา ในนามของรัฐ โดยแฝงไว้ซึ่งอำนาจและการข่มขู่ข่มเหง บีบบังคับชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมให้อยู่อย่างยอมจำยอมและจำนนมาช้านาน ครั้นพอชาวบ้านลุกขึ้นทวงถามสิทธิอันชอบธรรม กลับถูกกล่าวหาว่า
เป็นตัวขัดขวาง ตัวถ่วงความเจริญ เห็นแก่ตัว ไม่ยอมเสียสละเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
ปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่ชาวบ้านต้องรวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้กับการพัฒนาของรัฐมายาวนาน นานจนกระทั่งคนเฒ่าคนแก่เริ่มล้มหายตายจาก และลูกหลานที่เติบใหญ่ขึ้นมาเพื่อรับเคราะห์กรรมอันซ้ำซาก โดยที่รัฐไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษ จากการผลิตกระแสไฟฟ้า ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ตั้งมีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบในบริเวณหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน ลักษณะภูมิประเทศเช่นนี้ ทำให้เกิดความกดดันอากาศค่อนข้างสูง และมักจะมีการเกิดภาวะอุณหภูมิผกผัน บางห้วง,อากาศเคลื่อนตัวช้ามาก หรือมีการเคลื่อนตัวจากบนลงสู่เบื้องล่าง อันเป็นพื้นที่ตั้งกว้างใหญ่ ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร ของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เริ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2501 มีกำลังผลิตเครื่องละ 6.25 เมกกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในโครงการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล เริ่มผลิตไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2503 และได้เลิกใช้งานเมื่อปี 2521
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ส.ค.2515 ได้รับอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ ในเขตอ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นเชื้อเพลิงในการผลิต และเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าเครื่องที่ 1,2 และ 3 ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา และขยายกำลังผลิตเพิ่มขั้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานไฟฟ้ามากถึง 13 เครื่อง มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมด 2,625 เมกกะวัตต์ โดยส่งกระแสไฟฟ้าไปใช้ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและล่าง เชื่อมโยงไปยังภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่รัฐล้วนอ้างความเจริญและการพัฒนาประเทศชาติเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ แต่ไม่มีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น ความเดือดร้อนของชาวบ้านรอบๆ บริเวณก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นมลภาวะทางอากาศ จากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ ปัญหาเรื่องกลิ่น ซึ่งเกิดจากการลุกติดไฟของถ่านหิน ได้สร้างความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นเหม็นเป็นประจำ
ที่สำคัญ ปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากชาวบ้านได้รับมลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ทำให้เกิดผลกระทบเฉียบพลัน ตั้งแต่เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุต่างๆ ไม่ว่า ตา จมูก คอ ทางเดินหายใจ ที่มีการแสบคัน และตามมาด้วยการติดเชื้อหลังการระคายเคือง ทำให้เกิดการบีบรัดตัวของท่อทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก หอบหืด แน่นหน้าอก สมรรถภาพปอดลดลงและมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ เกิดอาการเรื้อรัง จนเป็นเหตุให้ชาวบ้านได้ล้มป่วยและเสียชีวิตกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ยังไม่นับรวมถึง พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย และทำให้สัตว์เลี้ยงล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก
และแน่นอน ปัญหาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม จากก่อนเคยทำมาหากินและอยู่อาศัยกันมาอย่างมีความสุข สงบ ต้องแปรเปลี่ยนไปอย่างไม่วันหวนคืนกลับ ชุมชนที่อยู่รอบๆ โรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ จำนวน 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ปัญหาการทำอาชีพเกษตรไม่คุ้มทุน ปัญหาด้านสาธารณสุข ปัญหาการความเจ็บป่วยและล้มตาย ปัญหาด้านสาธารณูปโภคและบริโภค ปัญหาการไร้ที่ทำกินและที่อยู่อาศัย และปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมาย
นับตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเรียกร้องต่อสู้กันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย ก็จบลงด้วยการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพียงเพื่อต้องการยุติการชุมนุมเรียกร้องของชาวบ้าน โดยรัฐพยายามเข้ามาไกล่เกลี่ย และมีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ กับตัวแทนชาวบ้าน โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นพยาน ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงแต่อย่างใด
องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน