Skip to main content
sharethis

ทางออกทางเดียวที่นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่รอคอยที่จะให้เกิดขึ้นในต้นปี 2548 คือโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ซึ่งมีพิธีลงนามโครงการนี้ไปเมื่อ 3 พฤษภาคม 2547 ระหว่างเขากับนายเมตตา วิเศษสมบัติ ประธานบริหารบริษัทเซ็ปโก โฮลดิ้ง จำกัด โดยมีเอกอัคราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย , กงศุลกิตติมศักดิ์สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย นายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ และนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันเป็นสักขีพยาน

การอบขยะที่ว่านี้ ในหมู่ผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงฯ เชื่อกันว่าจะเป็นทางออกของการจัดขยะที่เทศบาลฯ จ่ายน้อยกว่าที่จ่ายในปัจจุบันและยังมีผลที่ตามมาคือพลังงานไฟฟ้าที่อาจขายได้

นายเมตตาเปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า บริษัทเซปโก ร่วมทุนกับบริษัทจากอังกฤษและออสเตรเลีย ในสัดส่วน 37 % ที่จะมาร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวไทยอีกส่วนหนึ่งและส่วนหนึ่งเพื่อการเข้าตลาดหุ้น บริษัทฯ วางแผนเข้ามาลงทุนมูลค่า 1,900 ล้านบาท ในการเปลี่ยนขยะของเชียงใหม่ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะดำเนินงาน 2 ส่วนคือ ส่วนรับขยะมาคัดแยกและผลิตเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า

เขาอธิบายกระบวนการทำงานว่าขยะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีอยู่วันละ 250 ตัน จะถูกเก็บมาทั้งหมดโดยไม่ต้องคัดแยกใดใด เพื่อนำมาเทในถังนึ่งหรือถังอบขยะที่เบื้องต้นจะนำมาติดตั้งไว้ 2 ตัว เพื่อนึ่งขยะด้วยไอน้ำที่มีความร้อนสูงถึง 160 องศาเซลเซียส และมีความดันของไอน้ำ 75 psi หรือประมาณ 3 บาร์ ถังที่ว่านี้จะทำการคลุกอบและนึ่งขยะเป็นเวลา 90 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆให้ตาย และที่สำคัญสารอินทรีย์ต่างๆ ละลายเป็นผง ถุงพลาสติกและยาง จะเกิดการหดและรวมตัวเข้าด้วยกัน ซึ่งสะดวกในการคัดแยกขั้นต่อไป บรรดากระเบื้องจะถูกแยกฉลากและตราออก กระป๋องจะถูกล้างด้วยไอน้ำ เมื่อถังหมุนครบ 90 นาทีก็จะถ่ายขยะออกมาโดยก่อนเปิดฝาจะมีกระบวนการควบคุมความกดอากาศให้ภายนอกและภายในเท่ากันด้วยวิธีปล่อยไอน้ำออกมา ซึ่งไอน้ำนี้จะผ่านการกรองอากาศ 6 ครั้งเพื่อลดกลิ่นและฝุ่นละอองต่างๆออกทั้งหมด

ขยะทั้งหมดจะถูกลำเลียงมาเพื่อแยก พลาสติกจะถูกย่อยไปรีไซเคิลหรือขายต่อ กระป๋องจะตกลงในถังสำหรับกระป๋อง ส่วนที่เป็นสารอินทรีย์จะถูกความร้อนไอน้ำรวมทั้งความกดดันภายในย่อยสลายเป็นผงและฝอยคล้ายกากมะพร้าวหรือเศษดินที่จะทำไปทำเชื้อเพลิงในการทำก๊าซขั้นต่อไป ซึ่งเชื้อเพลิงนี้จะนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในขั้นต่อไป ซึ่งระบบนี้มีการนำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มอุณหภูมิของน้ำที่นำมาอัดเข้าถังนึ่งขยะและอีกส่วนหนึ่งจะใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยตรง

"รายได้ของการลงทุนนี้คือ 30 % แรกเป็นจากค่าธรรมเนียมการใช้บริการ การขายขยะที่รีไซเคิล และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งที่ตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าคือจะต้องมีพื้นที่ 7 ไร่ อยู่ในที่ตั้งของแหล่งขยะอยู่แล้ว หรือใกล้ตัวเมืองระยะ 50 - 100 กม. เพื่อจะต้องเอื้อในการจ่ายกระแสไฟฟ้ามายังเมืองด้วย ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่"นายเมตตากล่าว

เขายืนยันว่า นี่คือเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับวิธีการที่ประเทศไทยมีไม่ว่าจะเป็นที่ระยองที่มีปัญหาการทำลายพลาสติก หรือโรงไฟฟ้ากำจัดขยะที่ภูเก็ตของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งใช้เงินลงทุนสูง ใช้ความร้อนในการเผาไหม้สูงเพราะไม่คัดแยกขยะก่อนเผา ที่สำคัญยังมีสารไดออกซินออกมาในบรรยากาศด้วย

"เราสามารถตอบคำถามข้อห่วงใยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่ได้ว่าโครงการนี้คำนึงถึงมลภาวะ โดยระบุว่าถ้าเราเผาถ่านในบ้าน หุงข้าวในบ้าน หรือขับรถเครื่องยนต์ดีเซลยังมีมลภาวะมากพอๆ กัน โครงการนี้ยังน้อยกว่า เพราะแยกส่วนที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงก่อน มิได้เผาขยะทุกอย่างเหมือนโรงฯ ที่ภูเก็ต"

หลังการจรดปากกา มีการยืนยันว่า บริษัทฯ จะต้องเข้ามาจัดการรับอบขยะทันทีโดยจะใช้ระยะเวลานับจากนี้ 9 เดือน และส่วนผลิตกระแสไฟฟ้าที่จะใช้เวลาอีก 6 เดือน รวมระยะเวลาของโครงการ 15 เดือน

นายบุญเลิศ พูดไว้เมื่อวันนั้นว่าสิ่งที่เทศบาลฯ ได้นับแต่เซ็นต์สัญญาคือค่าใช้จ่ายในการจ้างเก็บขยะน้อยลงกว่าครึ่ง จากเดิมที่ต้องจ่ายเอกชนรายเดิมตันละ 590 บาทเพื่อนำไปฝังกลบทั้งหมด แต่กับโครงการนี้ลงนามจ่ายในอัตราตันละ 300 บาทโดยเชื่อว่าเมื่อผ่านกระบวนการอบแล้วจะเหลือเศษขยะที่นำไปฝังกลบเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

นายบุญเลิศ ย้ำว่าโครงการนี้มิใช่เตาเผาขยะ แต่เป็นเตาอบขยะที่เมื่ออบขยะ 250 ตัน/วันของเชียงใหม่แล้วจะเหลือเพียง 40 ตัน/วัน ที่แยกประเภทไปรีไซเคิลได้แม้กระทั่งเถ้าที่นำมาบดอัดเป็นตัวหนอนปูพื้นได้ ส่วนแผนการกำจัดขยะโซนใต้ก็ไม่ได้ยกเลิก แต่เปลี่ยนวิธีการจัดการเป็นแบ่งขยะกึ่งหนึ่งเพื่อทดลองกับโครงการนี้และอีกกึ่งหนึ่งเป็นไปตามรูปแบบเดิม ซึ่งหากการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานประสบความสำเร็จก็จะเปลี่ยนจากฝังกลบมาเป็นระบบนี้แทน

"จุดตั้งโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าก็มองไว้ในพื้นที่ของเทศบาลที่ฝังขยะเดิมคือที่อำเภอฮอดและดอยเต่า อีกจุดคือบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมลำพูนเพื่อสามารถนำพลังงานไฟฟ้าไปขายได้ด้วย ซึ่งเบื้องต้นต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าอยู่ที่ยูนิตละ 1.90 บาทแต่เราจะขายยูนิตละ 2.50 บาท"

นอกจากจังหวัดเชียงใหม่แล้ว บ.เซ็ปโกแห่งนี้ได้เตรียมเข้าไปดำเนินการที่กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา นราธิวาส และสุราษฎร์ธานีด้วย โดยได้นำผู้มีสิทธิ์ตัดสินใจไปดูงานเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ซึ่งการที่บ.เซปโกได้โอกาสทองเข้ามาดำเนินการใน 5 จังหวัดของประเทศไทย อาจนำมาซึ่งเทคโนโลยีการกำจัดขยะที่ดีตามที่ระบุก็ได้

แต่ประสบการณ์ที่เจ็บปวดด้านการจัดการกับขยะของคนเชียงใหม่ ผู้เกี่ยวข้องประมาทที่ไม่บอกกล่าวสิ่งเหล่านี้ให้กับสาธารณะชนมากเท่าที่ควร ระบุเช่นนี้ได้จากพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงที่มีคนรับทราบไม่เกิน 40 คน ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย และจนถึงวันที่ขยะท่วมเมืองเป็นครั้งที่ 3 และเครื่องจักรตามโครงการนี้กำลังจะเดินทางมาถึง เทศบาลฯ ก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่นี้ให้ประชาชนเข้าใจถ่องแท้

เพราะแม้แต่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เช่นข้าราชการของกระทรวงพลังงาน หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ยังไม่มีใครมีข้อมูลโครงการนี้

ต้องไม่ลืมว่า เชียงใหม่มีปัญหามวลชนด้านขยะมามากและปัญหาลุกลามใหญ่โตเพราะขาดการชี้แจงข้อมูลเพียงพอตั้งแต่เริ่มต้น ยิ่งโครงการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน มีมิติที่ทับซ้อนมากกว่าการกำจัดขยะ แต่เป็นการผลิตพลังงานพ่วงเข้ามาด้วย

จากรายงานโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังของกระทรวงพลังงานเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2546 ระบุว่าปัจจุบัน ปริมาณขยะทั่วประเทศมีประมาณปีละ 14.25 ล้านตัน หากนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า (เชื่อว่า)นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าและปุ๋ยอินทรีย์

กระทรวงพลังงานศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตพลังงานจากขยะหลายรูปแบบที่ระยองและภูเก็ต แต่พบว่าต้นทุนการดำเนินงานสูง จึงต้องศึกษาต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รูปแบบการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันตามกลไกตลาดได้ ซึ่งรูปแบบใหม่จะได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและปุ๋ยอินทรีย์โดยจังหวัดนำร่องคือ 5 จังหวัดดังกล่าวเบื้องต้น ทั้งนี้กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมมือกันจัดทำนำร่องโดยใช้รูปแบบที่ต่างกันเพื่อการเปรียบเทียบ

มีการตั้งคำถามในมิติทางเศรษฐกิจว่าเม็ดเงินลงทุน ต้นทุนพลังงานอบขยะกับการจัดการด้วยเทคโนโลยีนี้ เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่จะได้จากการขายพลังงานจากขยะจะลดต้นทุนพลังงานให้กับประเทศตามยุทธศาสตร์ที่ต้องการได้แค่ไหน ยังไม่มีการเสนอต่อสาธารณะ

ล่าสุดมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2547 เทศบาลฯได้ลงนามในสัญญาโครงการนี้อย่างเป็นทางการร่วมกับกระทรวงพลังงานแล้ว

ขณะที่กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดยนายธารา บัวคำศรี เคยเปิดแถลงข่าวระบุถึงการนำโครงการนี้เข้าพิจารณาในครม. และเห็นว่ารัฐควรหาแนวทางลดการเกิดขยะมากกว่า

ครั้งนั้นกรีนพีซห่วงเรื่องการผสมผสานการเผาขยะมารวมกับการผลิตไฟฟ้าว่าเป็นหนึ่งในหลายโฉมหน้าของเทคโนโลยีเผาขยะซึ่งไม่เหมาะสมโดยอ้างถึงแนวโน้มการก่อสร้างโรงงานลักษณะเดียวกันในหลายประเทศถูกต่อต้าน และชี้ว่าพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าจากขยะเช่นที่ภูเก็ต เผาขยะ 250 ตัน/วัน (เท่ากับปริมาณที่เซปโก้จะผลิตที่เชียงใหม่) สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้บ้านชนชั้นกลางได้ 25 หลังเท่านั้น ขณะที่การวิเคราะห์ไดออกซินที่ปล่อยออกมาจากปล่องโดยองค์กรสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติพบว่ามีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ามาตรฐานมาก

แต่ต้องย้ำว่าข้อมูลที่กรีนพีซนำมาเสนอครั้งนั้นคือเทคโนโลยีการเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่สำหรับโครงการนี้ ผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่ามิใช่การเผาขยะ แต่เป็นการอบขยะและแยกก่อนนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าต่างหาก ที่สำคัญได้รับการรับรองจากกรีนพีซด้วยซ้ำ

ประเด็นของเรื่องนี้อยู่ที่การควรทำความเข้าใจกับสาธารณะชนให้มากกว่าที่ได้กระทำอยู่ เพราะนอกจากการต้องชี้ให้เห็นข้อที่ระบุว่าดีของเทคโนโลยีนี้ เปรียบเทียบกับอีก 4 จังหวัดที่กำลังจะมี

ยังมีแง่มุมของความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจด้านพลังงานอันเป็นก้าวแรกของการพัฒนายุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ ที่เจ้าของพื้นที่มีสิทธิ์ต้องรับทราบและร่วมตัดสินใจด้วย

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net