Skip to main content
sharethis

11.09 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม 2547 ได้มีเหตุการณ์หนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ นั่นคือนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนที่ 29 ได้ประกอบพิธีลงเสาเอกการก่อสร้างบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดหลังใหม่ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการแทบทุกงานร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง

เป็นจวนผู้ว่าฯ หลังใหม่ ที่สร้างขึ้นในพื้นที่เดิมบริเวณทิศตะวันออกของจวนหลังปัจจุบัน
กำหนดเป็นบ้านพัก 2 ชั้น ชั้นล่างประกอบด้วยห้องโถง ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องแม่บ้าน และโรงจอดรถที่จะเชื่อมกับโรงจอดรถเดิม ชั้นบนเป็นห้องนอนใหญ่ 1 ห้อง ห้องนอนเล็ก 2 ห้อง ห้องน้ำ พื้นที่ใช้สอย ซึ่งจวนหลังใหม่จะเชื่อมต่อกับจวนหลังเดิมที่ได้ปรับปรุงซ่อมแซมไปก่อนหน้านี้ด้วยงบประมาณเกือบ 1 ล้านบาทเพิ่งเสร็จสิ้น เพื่อให้เป็นที่รับรองแขกบ้านแขกเมือง ผู้มาเยี่ยมเยือนเมืองเชียงใหม่ และโอกาสต่อไปจะเปิดให้แขกพิเศษและคนทั่วไปได้เข้าชมสถานที่พ่อเมืองได้ใช้พำนักมาโดยตลอด โดยจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายและนิทรรศการยุคสมัยของพ่อเมืองและพัฒนาการของจวนผู้ว่าฯ แห่งนี้ตั้งแต่อดีตด้วย

"อันที่จริงจวนเดิมก็มีคุณค่าในความเก่าแก่ที่ควรรักษาไว้ แต่ขนาดและความเหมาะสมที่เป็นบ้านพักของพ่อเมืองนั้น น่าจะมีการปรับปรุงจึงก่อสร้างใหม่ให้มีคู่กัน 2 หลังเพื่อประโยชน์ใช้สอยร่วมกัน"นายสุวัฒน์ บอกกับ "พลเมืองเหนือ"

จวนแห่งนี้ กำลังจะเป็นบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่หลังที่ 3 ก่อนหน้านี้จวนหลังปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นหลังที่ 2 ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี เพราะสร้างขึ้นในยุคของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนที่ 6 สมัยพระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาศนจินดา) พ.ศ.2471 - 2481 มีความชำรุดทรุดโทรมมาก แม้บางยุคของผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีการปรับปรุงบ้างตามสมควร แต่การโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งผู้ว่าฯ อยู่บ่อยครั้ง โอกาสจะบูรณะซ่อมแซมจึงมีไม่มาก

"พลเมืองเหนือ"สังเกตสภาพของจวนผู้ว่าฯ หลังปัจจุบันเมื่อครั้งวันดำหัวผู้ว่าฯ ในประเพณีสงกรานต์ 15 เมษายน 2546 พบความรกครึ้มและทรุดโทรมของจวนแห่งนี้อย่างเห็นได้ชัด และครั้งนั้น ผู้ว่าสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ก็มิได้พำนักอยู่ที่จวนแห่งนี้ หากแต่ไปพักอยู่ที่บ้านพักปลัดจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันแทน เพื่อเตรียมการจะซ่อมแซมจวนผู้ว่าฯ หลังดังกล่าวโดยระบุว่าเพื่อให้สมเกียรติ ซึ่งการปรับปรุงเพื่อเสร็จสิ้นเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และท่านผู้ว่าฯกับครอบครัวก็เพิ่งย้ายเข้าไปอยู่ในจวนนี้เมื่อไม่นาน

ขณะที่บริเวณด้านสนามหญ้ารอบบริเวณ 4 ไร่ของพื้นที่ทั้งหมด ก็กำลังมีการปลูกหญ้าปรับพื้นที่เพื่อเตรียมการจัดงานใหญ่ โดยวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 อันเป็นวันแรกของการจัดงานประเพณีลอยกระทง จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จังหวัดเชียงใหม่จะได้เปิดจวนผู้ว่าราชการจังหวัดหลังเก่า และพื้นที่โดยรอบจัดขันโตกกาลาดินเนอร์การกุศลชื่อ "ยี่เป็งทิพย์ฟ้า เทิดขวัญคู่หล้า มหาราชินี "เพื่อนำรายได้การจัดงานทูนเกล้าถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถ วโรกาสทรงพระชนมายุครบ 72 พรรษา โดยงานนี้จะเป็นศูนย์รวมบุคคลสำคัญจากส่วนกลางและเจ้านายชั้นสูงของเชียงใหม่มาร่วมกันถวายพระพรและเปิดงานเทศกาลลอยกระทงของเชียงใหม่ซึ่งจะจัดถึง 9 คืนและถ่ายทอดสดบรรยากาศของงานไปยังเน็ทเวอร์ค 170 ประเทศทั่วโลก และมีกำหนดการว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะมาร่วมงานด้วย

ดังนั้นหากช่วงเวลานี้ใครที่ผ่านไปมาหน้าจวนผู้ว่าฯ ย่อมสัมผัสได้ถึงความแปลกตา ว่าบ้านที่เคยอึมครึมกับโปร่งโล่งตาขึ้นมาก ทั้งนี้จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีประวัติความเป็นมายาวนาน ซึ่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ระหว่างรวบรวมประวัติที่ชัดเจนอยู่ แต่จากการเล่าขานต่อมาระบุว่าเป็นจวนหลังแรกคุ้มเก่าของเจ้านายฝ่ายเหนือ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกเมื่อ พ.ศ.2444 ต่อมาจวนหลังปัจจุบันถือว่าเป็นหลังที่ 2 ซึ่งก่อสร้างในคราวผู้ว่าราชการจังหวัดคนที่ 6 พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาศนจินดา) 2471 - 2481 ก็ราว 66 ปีผ่านมาแล้ว และเคยเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันนั่นคือ นายประเทือง สินธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายบนจวนแห่งนี้ ราวปี 2521 - 2523

นายสุเทพ กาญบุตร นายช่างโยธา 6 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองเชียงใหม่ ในฐานะ
สถาปนิกดูแลการปรับปรุงครั้งนี้ เปิดเผยว่า ระยะที่ผ่านมาก็มีการซ่อมแซมจวนหลังปัจจุบันตามสมควร เช่นสมัยท่านผู้ว่าชัยยา ก็เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาบ้าง แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะแนวคิดของท่านผู้ว่าฯ สุวัฒน์คือ จวนผู้ว่าฯ คือที่พักของเจ้าเมืองควรมีสง่าราศรี และท่านก็อยากจะทำอะไรให้กับบ้านเมืองที่ท่านไปอยู่ อย่างที่บุรีรัมย์เมื่อท่านไปอยู่ก็ไปปรับปรุงบ้านพักให้ดูดีขึ้นมาแล้ว

ส่วนที่เห็นว่าโปร่งโล่งไปแล้ว เนื่องจากต้นยางอินเดียขนาดใหญ่ที่โตเร็วบดบังคลุมอาคารจนทำให้เกิดความหมอง เกิดเชื้อราดูไม่ปลอดโปร่งอับชื้น ก็ได้ถูกรื้อถอนออกไปแล้ว ซึ่งเขาบอกว่ามีส่วนทำให้ด้านบนของจวนเดิมอากาศปลอดโปร่งลมพัดเย็นสบายและเห็นว่าการปรับปรุงครั้งนี้จะทำให้พื้นที่นี้มีความสวยงามและสอดคล้องกับพื้นที่ด้านหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ก็มีโครงการจะปรับปรุงให้เป็นพื้นที่โล่ง เป็นจุดหมายตาของผู้คนอยู่แล้ว

ต้นยางใหญ่ ซึ่งเดิมตัดแต่งกิ่งแล้วตั้งใจจะขนย้ายไปปลูกใหม่ที่หลังศาลากลางจังหวัด หากแต่ค่าขนย้ายอยู่ที่ราว 50,000 บาท จึงยกให้ผู้ที่มารื้อถอนไปแล้ว

นี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพราะต้องยอมรับว่าเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความอึมครึมของที่พักแห่งนี้ก่อนหน้านี้มีกระซิบให้ได้ยินในหมู่คนเชียงใหม่เก่าแก่อยู่ในเรทมิติพิศวง และอาถรรพ์ลึกลับให้น่าค้นหาอยู่บ้าง

แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ นายโกสินทร์ เกษทอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนที่ 27 เคยเล่าให้ "พลเมืองเหนือ" ฟังว่าก่อนจะมารับตำแหน่งที่เชียงใหม่ก็มักจะถูกอำจากรุ่นพี่ผู้ว่าคนเก่าๆ เรื่องไม้กระดานแผ่นหนึ่งหน้าห้องนอนด้านบนซึ่งมักจะลั่นต้อนรับผู้มาเยือนใหม่ให้ได้ยินตรงกันอยู่ก็มี แต่ท่านเองก็ไม่ได้ลบหลู่เข้ามาพักก็กราบไหว้บอกกล่าวอยู่ก่อน และกับการตัดแต่งกิ่งต้นยางใหญ่ที่รกครึ้มอยู่เหนือจวนผู้ว่าฯ ซึ่งท่านเองก็แปลกใจอยู่ในตอนมาใหม่อยู่เหมือนกันว่า "ทำไมหนา ?เวลาแจ้งให้เทศบาลฯ หรือแจ้งใครให้มาตัดกิ่งไม้รกๆ ไม่มีใครยอมมาก็ไม่รู้" แต่สุดท้ายท่านก็บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางว่าจะขอตัดแต่งกิ่งเพื่อให้เกิดความสวยงามขึ้น โดยตอนนั้นท่านก็บอกว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นนี่นา

เหตุผลของการไม่ยอมมา นั่นอาจเป็นเพราะว่า คนเมืองมีความเชื่อเรื่องขึดหลวง 7 ประการอยู่ ตามที่ อ.เกริก อัครชิโนเรศ บอกว่าประกอบด้วย ถมสมุทร (ถมหนองน้ำ) ขุดกระแส (เปลี่ยนกระแสน้ำ) แหม่รูทวาร (ทำให้ช่องทางเข้าหรือออกเมืองใหญ่หรือเล็กลง) รานสลี (ตัดต้นไม้ใหญ่) มะล้างตีอก - ทำลายสิ่งที่แข็งให้แตกสลายลง และ ปกกระโดงตุง -เอาตุงไปมัดติดต้นไม้โดยไม่มีเสา

นี่คือการ "รานสลี" หรือไม่ ?

"แต่ก่อนทำการรื้อถอนเราก็ได้ทำพิธีสูดถอนขอขมาบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางอย่างดีทุกประการแล้วครับ"สถาปนิกกล่าว

ก็เป็นเรื่องที่เล่ามาและเล่ากันไปพอเป็นเกร็ดให้ความเป็นบ้านเจ้าเมืองเก่าแก่อย่างล้านนา มีความขรึมขลัง และคงจะไม่ได้อยู่ในบรรทัดใดของข้อมูลบันทึกเพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการจวนผู้ว่าฯ ที่กำลังจะทำให้มีในอนาคตเป็นแน่

เพราะความเชื่อและจารีตล้านนา พร่าเลือนลงทุกวัน !

รายนามผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
ลำดับ ชื่อ - สกุล วัน เดือน ปี ที่ดำรงตำแหน่ง
1. พระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ 2444
2. พระยายอดเมืองขวาง
3. พระยามหินทรบดี
4. พระยาวรวิไชยวุฒิกร
5. พระยาเพ็ชรพิสัยศรีสวัสดิ์ (แมน วสันตสิงห์) 2461 - 2471
6. พระยาอนุบาลพายัพกิจ (ปุ่น อาศนจินดา) 2471 - 2481
7. พระยาอมรฤทธิธำรง (พร้อม ณ ถลาง) 2481 - 2484
8. พระชาติตระการ (ม.ร.ว. จิตร์ คะเนจร) 2484 - 2485
9. ขุนประสงค์สุขการี (ประสงค์ ลาภเจริญ) 2485 - 2488
10. นายทวี แรงขำ 18 มิ.ย. 88 - 30 ก.ย. 89
11. ขุนไตรกิตยานุกูล (อัมพร ไตรกิตยานุกูล) 22 ต.ค. 89 - 30 ม.ค. 94
12. นายอุดม บุญยประสพ 30 ม.ค. 94 - 30 มิ.ย. 95
13. นายประเสริฐ กาญจนดุล 1 ก.ค. 95 - 12 มิ.ย. 2501
14. พ.ต.อ. เนื่อง รายะนาค 16 มิ.ย. 01 - 28 ส.ค. 02
15. นายสุทัศน์ สิริสวย 31 ส.ค. 02 - 30 มิ.ย. 03
16. พ.ต.อ. นิรันดร ชัยนาม 1 ก.ค. 03 - 30 ก.ย. 14
17. นายวิสิษฐ์ ไชยพร 1 ต.ค. 14 - 15 ก.ค. 15
18. นายอาษา เมฆสวรรค์ 1 ต.ค. 15 - 1 ต.ค. 18
19. นายชลอ ธรรมศิริ 1 ต.ค. 18 - 11 พ.ค. 20
20. นายประเทือง สินธิพงษ์ 22 พ.ค. 20 - 22 พ.ค. 23
21. นายชัยยา พูนศิริวงษ์ 1 ต.ค. 23 - 30 ก.ย. 30
22. นายไพรัตน์ เดชะรินทร์ 1 ต.ค. 30 - 26 พ.ค. 35
23. นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ 16 มิ.ย. 34 - 18 ต.ค. 36
24. นายวีระชัย แนวบุญเนียร 18 ต.ค. 36 - 30 ก.ย. 39
25. นายพลากร สุวรรณรัฐ 1 ต.ค. 39 - 11 ม.ค. 41
26. นายประวิทย์ สีห์โสภณ 12 ม.ค. 41 - 22 เม.ย. 44
27. นายโกสินทร์ เกษทอง 23 เม.ย. 44 - 9 ต.ค. 45
28. นายพิสิฐ เกตุผาสุข 28 ต.ค. 45 - 4 มิ.ย. 46
29. นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ 5 มิ.ย. 46 - ปัจจุบัน

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net