ตอนที่ 1 ย้อนรอยข่าวท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อปัญหาท่อก๊าซ ไม่ใช่แค่ลานหอยเสียบ...

หลังจากที่ "ประชาไท" ได้ลงไปสำรวจข้อเท็จจริงและนำเสนอข่าวในหลายๆ พื้นที่ ของจังหวัดสงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการวางท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย วันนี้ทีมงานประชาไท ได้มีโอกาสลงพื้นที่อีกครั้ง เพื่อย้อนรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

21 ต.ค.47 เรา- - ทีมข่าวประชาไท เดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยรถด่วนพิเศษในช่วงบ่าย ถึงหาดใหญ่ในรุ่งเช้าของอีกวัน ครั้นเมื่อถึงหาดใหญ่ ผู้สื่อข่าวจากศูนย์ข่าวภาคใต้ได้ออกมารอรับเรา ก่อนจะพาออกเดินทางโดยรถตู้ เป้าหมายแรกของเราช่วงเช้านี้ คือ รับฟังสรุปสถานการณ์ภาคใต้ โดยเฉพาะภาพรวมแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ จากอดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ "สุพจ จริงจิตร" และ "อ.ประสาท มีแต้ม" นักวิชาการด้านพลังงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ช่วงบ่าย ทีมฯ ออกภาคสนามที่แรก ด้วยการไปเยือนบ้านคลองตม ในเขต ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พื้นที่ข้อพิพาทระหว่างบริษัททรานไทย-มาเลเซียหรือทีทีเอ็ม กับครอบครัวของคนเล็กคนน้อย 5-6 ครอบครัว ที่หลังพิงเชือกต่อสู้ป้องกันสิทธิ์ของตน

หลังฝนซา... บรรยากาศของเมืองหาดใหญ่จึงดูรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์ คนขับรถพาเราขับเคลื่อนไป
ตามทางแปลกใหม่ จากตัวเมืองหาดใหญ่ ลัดเลาะออกไปตามเส้นทางที่นอกตัวเมือง

"เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ได้มาเยือนสงขลา..." นักข่าวหนุ่มเหนือคนเดียวของเรา เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น...

เราลัดเลาะผ่านสวนยางที่รกครึ้มสองข้างทาง เมื่อใกล้ถึงจุดหมาย... เราทุกคนได้พบกับความแปลกเปลี่ยน ทอดวางอยู่ตรงหน้า...นั่นคือ ท่อสีดำขนาดใหญ่ยาวราวงูยักษ์นอนนิ่งสงบอยู่เบื้องหน้า ไม่ไกลกันนัก...เรามองเห็นร่องรอยการขุดร่องลึกประมาณ 2-3 เมตร ฟากฝั่งหนึ่งของถนน มีท่อสีดำวางนอนอยู่ในร่องดิน อีกฟากหนึ่ง ท่อยักษ์ยังคงทอดวางแน่นิ่งให้ผู้คนที่สัญจรไปมาได้พบเห็น

"นี่แหละ...ท่อก๊าซไทย-มาเลย์ ที่มีปัญหาอยู่..." เสียงคนนำทางบอกกับเรา

เมื่อถึงจุดหมายในช่วงเช้า ชุมชนบ้านคลองตม ตั้งอยู่กลางสวนยางพารา เมื่อเราลงจากรถ เจ้าของพื้นที่ได้ออกมาต้อนรับพวกเรา พร้อมกับเริ่มเล่าเรื่องราวการเรียกร้องต่อสู้ที่ผ่านมา...

"พวกเราเริ่มตื่นตัว เมื่อได้ยินข่าวมาว่า เขาจะขุดร่องวางท่อก๊าซพาดผ่านแนวสวนยางผ่านบ้านของพวกเรา หลังจากนั้นมา...เราจึงเริ่มต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม" ไพรินทร์ ชาญชญานนท์ เอ่ยกับเรา ด้วยความรู้สึกลึกๆ ในใจ

หลังจากที่ได้ยินชาวบ้านที่นี่ ได้บอกเล่าเรื่องฝ่ายไทยได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในหลายพื้นที่ เพื่อจะใช้เป็นแนววางท่อก๊าซไทย-มาเลย์ แต่สุดท้ายต้องสะดุด เมื่อผู้คนชุมชนที่นี่ไม่ยอมขาย และไม่ยอมให้ตัดผ่าน

"ทำไมถึงไม่ขาย?..." ใครบางคนเอ่ยถาม
"เพราะทุกวันนี้ ชีวิตเราก็มีความสุขดี ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มีสวนยางพอมีรายได้พออยู่พอกิน" เขาเอ่ยกับเรา

เมื่อมีการสอบถามกลุ่มชาวบ้าน 6 หลังคาเรือนของบ้านคลองตมแห่งนี้ จึงรู้ว่า พวกเขาได้ต่อสู้ยึดเยื้อมานานกว่า 7 ปีมาแล้ว

"จริงๆ แล้วผมเป็นคนค้านเรื่องท่อก๊าซไทย-มาเลย์เป็นคนแรก เป็นการคัดค้านในเรื่องสิทธิพื้นที่ของตน แตกต่างกันกับที่ลานหอยเสียบ ซึ่งเป็นการค้านในระดับชุมชน แต่พวกผมก็ไปร่วมกับพี่น้องลานหอยเสียบด้วย..." อเนก ยงสถิรโชติ เจ้าของบ้านบอกกับเรา ด้วยน้ำเสียงจริงจัง

และที่สำคัญคือ ทุกคนที่นี่ต่างแสดงความวิตกกังวลว่า หากมีการวางท่อก๊าซ ผ่านบ้านของตน อาจเกิดอุบัติเหตุจนเกิดการระเบิดขึ้นได้ในอนาคต

"ผมไม่เชื่อเรื่องความปลอดภัย เพราะขนาดทาง ปตท.ยังยอมรับในงานวิจัยและระบุว่า หากมีการรั่วซึมของท่อก๊าซ อาจเกิดการระเบิดไปได้กว้างไกลในรัศมี 5 กิโลเมตร แล้วพวกเราจะเหลืออะไร นี่ยังไปไกลถึงคนทั้งตำบลทุ่งลุงทั้งหมด ก็ไม่เหลือ" ลุงเอนก เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงหวาดหวั่น

นักข่าวประชาไทอีกคนหนึ่ง ที่ลงพื้นที่ ได้ออกเก็บภาพของต้นยางพาราที่ตั้งเรียงรายเป็นแนวยาว มีร่องรอยของการกรีดยาง บางต้นน้ำยางขาวข้นกำลังไหลซึมออกมาจากรอยกรีดเนื้อไม้อย่างช้าๆ และเมื่อมองฝ่าดงสวนยางไปเบื้องหน้า จะมองเห็นบ้านหลังเก่าของชาวบ้านตั้งอยู่อย่างสงบตรงนั้น

"ถ้าเราไม่คัดค้าน และรักษาสิทธิพื้นที่ของตน ตรงแนวนี้ ก็จะมีท่อก๊าซฝังพาดผ่านบ้านของเรา" ผู้เฒ่าคนหนึ่งเอ่ยกับเรา พร้อมชี้ดูเส้นแนวเขต

การต่อสู้ของชาวบ้านที่นี่ยังไม่สิ้นสุด เมื่อมีคนของฝ่ายไทยได้มีการพยายามเข้าเกลี้ยกล่อม ทั้งข่มขู่ ให้ขายที่ดินผืนนี้ในไร่ละ 7- 9 แสน และยังบอกอีกว่าทางบริษัทมีสิทธิ์ หากมีการขุดเจาะให้ลึกเกิน 3 เมตร ลอดผ่านสวนยาง ผ่านบ้านได้โดยไม่มีความผิด

"ก็เอาสิ...หากคิดว่ามันไม่ผิด" เสียงของชาวบ้านยังยืนยันอย่างหนักแน่น...

จนสุดท้าย,ชาวบ้านได้ข่าวว่า มีการเข้ามารังวัดในพื้นที่ที่ห่างออกไปจากบ้านไม่ไกลนัก เพื่อจะเปลี่ยนแนวขุดวางท่อ แต่เมื่อชาวบ้านได้สอบถามนักวิชาการแล้ว ได้บอกว่า มีทางเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องเสียเวลา ต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ หรือ EIA กันใหม่อีกรอบ

นี่เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง กับปัญหาโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่รัฐร่วมกับบริษัททุนได้เริ่มดำเนินการ โดยไม่ได้มีการฟังเสียงคัดค้านของประชาชน และยังมีอีกหลายพื้นที่ใน จ.สงขลา ที่ต่างได้รับผลกระทบกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งการเรียกร้องต่อสู้ของชาวบ้าน อาจจะเป็นการต่อสู้ทั้งหนักหน่วงและยาวนาน...

องอาจ เดชา
ประชาไทสัญจรรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท