เสียงจากปักษ์ใต้ "ฆ่ากันอย่างนี้ปัญหายิ่งขยายวง"

"ถ้าคราวนี้ ผู้ถูกจับเป็นคนในขบวนการก่อความวุ่นวายสักครึ่งหนึ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้คงลดลง"
เป็นคำพูดของ "อายุป ปาทาน" นักข่าวผู้ช่ำชองพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกกับ "ประชาไทออนไลน์" เมื่อตอนบ่ายวันที่ 26 ตุลาคม 2547
"มูฮำหมัดอายุป ปาทาน" มองว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น การสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส อันนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายของชาวบ้านหลายสิบศพ และถูกจับกุมคุมขังอีกกว่า 1,300 คน จะกลายเป็นตราประทับสร้างความชอบธรรมให้กับการล้อมปราบ ที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ไปด้วย
ทว่า สถานการณ์จริงในพื้นที่ไม่สามารถสรุปได้ง่ายๆ ดั่งข้อข้อสมมติฐานข้างต้น เนื่องเพราะไม่ว่าจะมีผู้คนในขบวนการก่อความไม่สงบ เข้ามามีส่วนอยู่ในการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ มากน้อยแค่ไหน หรือจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เลยก็ตาม ข้อเท็จจริงที่แตกต่างกันระหว่างเหตุการณ์ทั้ง 2 ในสายตาของนักข่าวอย่าง "มูฮำหมัดอายุป ปาทาน" ก็คือ …
เหตุการณ์แรกเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 คือ ปฏิบัติการบุกเข้าโจมตีฐานกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐหลายจุดพร้อมกัน
ขณะที่เหตุการณ์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เป็นเรื่องของการชุมนุมเพื่อร้องขอความยุติธรรม ให้กับชาวบ้านที่ถูกจับกุม ด้วยเชื่อว่าคนที่ถูกจับกุมกลุ่มนี้ มิได้กระทำความผิด
เป็นมุมมองที่แหลมคมอย่างยิ่งของ "มูฮำหมัดอายุป ปาทาน" ด้วยเพราะจุดของความแตกต่างตรงนี้ คือ เงื่อนไขที่สามารถบ่งบอกต่อไปถึงสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจากวันนี้เป็นต้นไป
ชาวบ้านรายหนึ่ง ในหมู่บ้านอูมาลานา หมู่ที่ 1 ตำบลเจะเห อำเภอตากใบ ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุกับ "ประชาไท" ว่า ทหารเริ่มฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมครั้งแรก ตรงกับเวลาประมาณ 10.00 น. ทว่า กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนหยัด
จนเวลาประมาณ 16.00 น. ทหารได้กราดยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม จนแตกกระเจิง
"จากนั้น มีทหารบางคน กราดกระสุนลงในระดับต่ำกว่าหัวเข่า เพื่อยิงกลุ่มผู้ชุมนุมที่หลบเข้าไปอยู่ใต้ท้องรถยนต์ แล้วจับโยนขึ้นรถกระบะขับออกไป เท่าที่ผมนับได้ตอนนั้น 14 ศพ แต่คิดว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้แน่นอน" เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านตำบลเจะเหรายนี้
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ทำข่าวอยู่ในที่เกิดเหตุรายหนึ่ง ระบุกับ "ประชาไท" ว่า …
"เอาที่เห็นจะๆ เฉพาะที่ตายด้วยตีนต่อหน้าต่อตา ตรงหน้าโรงพักตากใบ มีไม่ต่ำกว่า 3 ศพ"
อันสอดรับกับถ้อยแถลงของ "คุณหญิงแพทย์หญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์" รองอธิบดีสถานนิติวิทยาศาสตร์ แห่งกระทรวงยุติธรรม ที่สรุปยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ณ วันที่ 26 ตุลาคม 2547 ว่า มีทั้งสิ้น 78 คน
บรรดาญาติมิตรของผู้เสียชีวิตเหล่านี้ ทยอยรับแจ้งข่าวร้าย ในช่วงคำของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ก่อนถึงเวลาละศีลอดของชาวมุสลิม
"นายตูแวบอซู" ชาวบ้านแห่งหมู่บ้านอูมาลานา เป็นรายแรกๆ ที่ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ให้ไปรับศพลูกชายอายุ 30 ปี ซึ่งพบว่านอนเสียชีวิตอยู่ใต้ท้องรถยนต์คันหนึ่ง ใกล้ๆ กับจุดที่ชุมนุม
ขณะที่ "นายมะ" ชาวบ้านในเขตเทศบาลตำบลตาบา อำเภอตากใบ ซึ่งอยู่ห่างจากจุดชุมนุม ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ 3 กิโลเมตร เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า มีญาติถูกจับไป 4 คน บาดเจ็บอีก 6 คน นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนบ้านของ "นายมะ" 2 - 3 ราย ที่ทราบว่า ลูกชายถูกยิงเสียชีวิต ทว่า กระทั่งเช้าของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ก็ยังไม่ทราบว่า ศพถูกนำไปไว้ที่ไหน
บรรยากาศ ในหมู่บ้านต่างๆ ในย่านตำบล อำเภอใกล้เคียง ตกอยู่ในสภาพต่างคนตามหาญาติของตนที่สูญหายไม่กลับบ้าน ทั้งนี้ ในจำนวนผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ มีผู้หญิงรวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 1 ราย
"เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่าโหดร้ายมาก"
เป็นอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนในหมู่บ้านต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยามนี้ ที่แสดงออกให้ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ได้รับรู้
ชาวบ้านรายหนึ่งในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า เจ้าหน้าที่ไม่เคารพศพ จับโยนเข้าไปในรถอย่างไม่ปรานีปราศรัย การปฏิบัติกับคนตายเช่นนี้ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่ดีต่อกลไกของรัฐ
"การออกมาแถลงข่าวว่า ผู้ชุมนุมมีอาการมึนเมา ยิ่งเป็นการดูถูกชาวมุสลิมอย่างรุนแรง ช่วงนี้อยู่ในเดือนรอมฏอน ชาวมุสลิมถือศีลอด การเสพของมึนเมาทำให้การถือศีลอดเสีย การตั้งใจทำให้การถือศีลอดเสีย เป็นบาปอย่างร้ายแรง"
นี่คือ แง่มุมทางวัฒนธรรมที่รัฐไทย พลาดท่าเสียที ด้วยความไม่รู้ตลอดมา
ข้อที่พึงสังเกตอย่างยิ่ง ก็คือ มีการพบอาวุธสงครามหลากหลายชนิด ทว่า ล้วนแล้วแต่พบภายหลังเหตุการณ์สงบไปแล้วข้ามวัน
อันเป็นการค้นพบ ด้วยฝีมือหน่วยประดาน้ำนาวิกโยธิน 10 นาย ที่ลงไปงมหาอาวุธในแม่น้ำตากใบ ในช่วงวันที่ 26 ตุลาคม 2547
ประเด็นที่ต้องตั้งประเด็นสงสัยอย่างยิ่ง ก็คือ ทำไม อาวุธเหล่านี้ จึงไม่มีคนในกลุ่มผู้ชุมนุม หยิบขึ้นมาใช้ตอบโต้ ทั้งที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อาวุธครบมือ กระหน่ำยิงอย่างเมามัน
"ทางการให้เวลาในการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมน้อยเกินไป มันต้องใช้เวลามากกว่านี้ สัก 2 วัน หรือ 3 วัน ถึงแม้กรรมการอิสลามประจำจังหวัดไปช่วยเจรจาแล้วไม่ได้ผล ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมไล่ออกมาก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรรีบสลายการชุมนุม ด้วยวิธีการรุนแรง กลุ่มผู้ชุมนุมควรหาวิธีอื่นช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกจับ ไม่ใช่ใช้วิธีการชุมนุมกดดันแบบนี้" นี่คือ ความเห็นของ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ที่บอกกับ "ประชาไท"
"ผมเสียใจกับทั้งสองฝ่ายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้" เป็นสรุปตบท้ายที่หล่นจากปากของประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส
ขณะที่มุสลิมปัญญาชนรุ่นใหม่ "นายรอชิดี เลิศอริยะพงศ์กุล" นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยเห็นว่า จากภาพข่าวที่เห็น คือ การใช้ความรุนแรงเข้าแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นจุดขยายความขัดแย้งให้แผ่วงกว้างออกไป ในภาวะที่ประชาชนมีพื้นฐานความไม่พอใจรัฐคุกรุ่นเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว เมื่อเกิดเหตุแบบนี้ขึ้น ข่าวจะถูกกระพือข่าวออกไปอย่างรวดเร็วชนิดปากต่อปาก
"เหตุการณ์นี้ ทำให้ปัญหาขยายออกไป จนยากจะจำกัดวงได้อีกต่อไป ขณะนี้ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐแล้ว ฉะนัน จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้คนกลางที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อถือ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมขอย้ำว่า ต้องใช้คนกลางเท่านั้น"
เป็นข้อเสนอที่ "นายรอชิดี เลิศอริยะพงศ์กุล" เชื่อว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ภายใต้สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานยามนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท