Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพ 1 มาบตาพุดยามราตรี

ค่ำนี้เรากลับมาล้อมวงกันอีกครั้งหลังมื้อเย็นผ่านไป โดยมีคนร่วมพูดคุยเพิ่มมาอีก 2 คน คือพี่เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง หรือ "พี่เอ" จากกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม และพี่สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ หรือ "พี่บ้อ" นักเขียนร่างใหญ่ใจดีที่ตามมาสบทบจากกรุงเทพฯ

พี่เอเปิดวงคุยย้อนถึงความเป็นมาของ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่า หลังจากสร้างโรงแยกก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือปตท. ในปี 2527 การสร้างนิคมจึงตามมาเพื่อเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่แปรรูปของเหลือจากกระบวนการกลั่นแยกก๊าซนั่นเอง เช่น ปุ๋ยเคมี เม็ดพลาสติก โดยอยู่ภายใต้การดูแลของ การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) มีพื้นที่เริ่มต้น 4,200 ไร่ และมีการขยายเพิ่มขึ้นเป็นพื้นที่กว่า 7,000 ไร่ นอกจากนี้ในพื้นที่ติดต่อกันยังมีเขตท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่เพื่อใช้ขนถ่ายสินค้าอุตสาหกรรมและน้ำมัน และมีการถมทะเลออกเป็นบริเวณกว้างรวมพื้นที่นับพันไร่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและขยายลานขนถ่ายสินค้า

ปัจจุบันนิคมฯมาบตาพุดประกอบด้วยโรงงาน 59 โรง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 32 โรง อุตสาหกรรมเคมีและปุ๋ยเคมี 7 โรง และอีก 8 โรงเป็นอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า โดยหลายแห่งเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป และไต้หวัน เป็นต้น รวมเงินลงทุนของอุตสาหกรรมทั้งหมดประมาณ 370,000 ล้านบาท มีคนงานประมาณ 11,500 คน

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้กันยังมีนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนอีก 2 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกนอ.ด้วย คือ นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ไร่ ประกอบด้วย 20 โรงงาน และ นิคมอุตสาหกรรมผาแดง มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ประกอบด้วย 3 โรงงาน โรงงานส่วนใหญ่ของนิคมฯ ทั้งสองแห่งเป็นโรงงานปิโตรเคมี เคมี และโรงงานผลิตเหล็ก

การพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดเริ่มต้นจาก ความฝันและความหวัง ว่า โครงการนี้จะนำพาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ จะโชติช่วงชัชวาลจากการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์และเป็นวัตถุดิบในการผลิตทางอุตสาหกรรม การทำประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทำให้คนทั้งประเทศรู้จักมาบตาพุดว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุด รวมถึงการมีมาตรฐานการจัดการที่ดีและไม่น่าจะก่อปัญหา

แต่สิ่งที่พี่เอค้นพบจากงานวิจัย "การประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง" คือผลของการพัฒนาที่สะสมตัวตลอดช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาเริ่มแสดงตัวออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ภาพของมาบตาพุดเริ่มสะท้อนถึงปัญหามลพิษและปัญหารุนแรงทางสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ รวมทั้งโรคภัยลึกลับ ที่นับวันยิ่งจะกลายภาพเป็นหนึ่งเดียวกันยิ่งขึ้นทุกที

รูปธรรมที่เห็นชัดเจนได้แก่ 20 ชุมชน ใน 25 ชุมชนของเขตเทศบาลประสบปัญหากลิ่นเหม็นรุนแรง เช่น กลิ่นหอมเอียน กลิ่นฝรั่งสุก กลิ่นก๊าซ และกลิ่นละมุด เป็นต้น โดยความรุนแรงขึ้นกับระยะห่างจากโรงงานและทิศทางลม และที่เป็นข่าวโด่งดังช่วง กลางปี 2540 ที่สภาพมลพิษอากาศเลวร้ายที่สุดเนื่องจากความกดอากาศต่ำ จนทำให้มีคนเจ็บป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะครูและนักเรียน โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร จากการขยายพื้นที่นิคมฯเข้าไปในพื้นที่แนวกันชนที่เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งโรงกลั่นน้ำมันทำให้โรงงานขยายมาติดกับโรงเรียน กระทั่งต้องมีการย้ายโรงเรียนในที่สุด

การปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำ สร้างความเดือดร้อนเนื่องจากมีชุมชนเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่มีน้ำประปาใช้ ขณะที่ชุมชนที่เหลือนั้นมีเพียงถังบรรจุน้ำประปาตั้งประจำเป็นจุด ๆ ดังนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องใช้น้ำบ่อตื้นต่อไป แต่น้ำดื่มและปรุงอาหารนั้นหันมาซื้อน้ำถังแทน ซึ่งก่อให้เกิดภาระทางเศรษฐกิจอย่างถาวร สำหรับน้ำฝนที่เคยเป็นแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้ที่สำคัญของชุมชนในอดีตนั้นใช้ไม่ได้มากว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากมีคราบสนิมและตะกอนดำ บางทีก็มีกลิ่นเหม็น และจากการตรวจของ กรมควบคุมมลพิษ พบว่าน้ำฝนในพื้นที่นี้มีภาวะความเป็นกรดเพิ่มขึ้น

หลังฝนตก โดยเฉพาะฝนแรกของฤดูหรือเมื่อมีการทิ้งช่วง ยอดอ่อนของพืชมักจะเหี่ยว ผลไม้ที่กำลังติดช่อมักจะเกิดรอยไหม้และดอกร่วงหมด หรือในยามกลิ่นเหม็นรุนแรงก็มีสภาพเดียวกัน ซึ่งหมายความถึงการหายไปของรายได้ที่เคยมี

คุณภาพ น้ำทะเล ที่เปลี่ยนแปลงไปสาเหตุหนึ่งเกิดจากอุบัติภัยในการขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะจากเรือบรรทุกน้ำมัน จนเกิดความวิตกว่าอาจมีการสะสมของสารพิษในทะเลและสัตว์น้ำในทะเล ชาวประมงในชุมชนหลายคนก็พูดทำนองเดียวกันว่าน้ำทะเลแถบนี้เปลี่ยนไปมาก ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ทะเลตาย เมื่อลงไปเล่นน้ำแล้วจะมีอาการคันตามผิวหนัง บางคนกลายเป็นแผลเน่าเรื้อรัง ปูปลาที่จับได้เนื้อจะเน่าเร็วผิดปกติ หรือเมื่อนำไปปรุงอาหารแล้วจะมีกลิ่นเหม็นน้ำมัน บางคนมีอาการท้องเสียเมื่อรับประทานเข้าไป

ข้อสังเกตและข้อวิตกที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือข้อมูลการตรวจสอบที่มีในหลายหน่วยงานของภาครัฐไม่มีการเปิดเผยและยืนยันให้ชัดเจน ถึงขั้นส่งผลให้อาหารทะเลจากภาคตะวันออกถูกปฏิเสธจากตลาดต่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนมากที่ยังนิยมไปเที่ยวระยองเพื่อกินอาหารทะเลสดๆยังไม่ค่อยรับรู้ข้อมูลเหล่านี้

เนื่องจากพื้นที่มาบตาพุดมีอุตสาหกรรมเคมีและปิโตรเคมีจำนวนมาก อุบัติภัยด้านสารเคมี จึงเกิดขึ้นบ่อยในแต่ละปีทั้งภายในโรงงานและระหว่างการขนส่ง ซึ่งปัญหาหนึ่งคือการควบคุมระบบนั้นต้องอาศัยช่างผู้ชำนาญการจึงส่งผลให้ไม่สามารถระงับเหตุได้ทันเมื่อมีความขัดข้องของระบบ ทำให้พบว่าชาวชุมชนมาบตาพุดมีความวิตกกังวลสูงมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะการกลัวโรงงานอุตสาหกรรมระเบิดและก๊าซรั่ว ซึ่งลูกกลมใหญ่ที่เป็นถังบรรจุก๊าซเหลวที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปนั้นก็มีรัศมีการระเบิดถึง 2 กม.

ของเสียอันตรายจากนิคมฯมาบตาพุดมีประมาณเดือนละ 22,000 ตัน การเพิ่มขึ้นของ ขยะพิษ กลายเป็นปัญหาใหญ่เพราะไม่สามารถหาพื้นที่รองรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่การจัดการให้ถูกวิธีมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอันตรายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตามที่สาธารณะ ที่รกร้างต่าง ๆ และทิ้งปะปนกับขยะชุมชนของเทศบาล

ตามคำบอกเล่าของผู้นำหลายชุมชนระบุถึงรูปแบบต่าง ๆ อย่างตรงกันว่า มีการนำขยะจากโรงงานมาเสนอบริการถมที่ให้ฟรี ซึ่งในหลายกรณีเจ้าของที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตอบรับอย่างเต็มใจ การซื้อหรือเช่าที่ดินของชาวบ้านที่เป็นพื้นที่เกษตรห่างไกลลับตาสาธารณะแล้วใช้เป็นที่ทิ้งขยะจากโรงงานก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เกิดขึ้นเช่นกัน

จังหวัดระยองมี ฝั่งทะเล ยาวประมาณ 100 ก.ม. ในจำนวนนี้ถูกกัดเซาะรุนแรงเป็นระยะทางราว 30 การพังทลายของชายฝั่งยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงธุรกิจการท่องเที่ยว การทำประมงขนาดเล็กชายฝั่ง ตลอดจนสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวที่ในระยะหลังประสบเหตุจมน้ำทะเลตายไปแล้วหลายราย

ทั้งนี้ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะกระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไปประกอบกับพื้นทรายใต้ท้องน้ำของชายหาดบางแห่งยุบตัวลงอย่างกระทันหันจากการถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สร้างโรงงานอุตสาหกรรมและการดูดทรายเพื่อขุดร่องน้ำให้ลึกเพื่อรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงการดูดทรายอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงไม่มีคำตอบใด ๆ ที่ชัดเจน ปัจจุบันกรมเจ้าท่าและนิคมฯ มาบตาพุดพยายามแก้ปัญหาด้วยการทำเขื่อนคอนกรีตกั้นแนวชายฝั่ง ซึ่งในวันพรุ่งนี้คณะของเราก็จะเดินทางไปดูหาดทรายที่หายไปทั้งหาดนั้น

พี่เอเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่มาเยือนตั้งแต่ปี 2525 จนถึงปัจจุบันเนื่องจากมาบตาพุดไม่เคยหยุดพัฒนา โดยช่วงแรกชาวบ้านขายที่ดินริมทะเลกันมากเพราะได้ราคาดี จากเดิมที่เป็นที่ดินไม่มีค่า ไม่มีราคาและเป็นที่ดินที่ว่ากันว่าพ่อแม่จะยกให้ลูกที่ไม่รัก ราคาไร่ละ 1-2 หมื่นกลายเป็นไร่ละกว่าล้านบาท

อุธาหรณ์ของครอบครัวหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ หลังจากขายที่ดินได้เงินถึง 30 ล้านบาท แต่ 3 ปีต่อมาแม่ต้องสูญเสียลูกชายทั้ง 3 คนอายุราว 20-25 ปีพร้อมกับเงินที่มีอยู่ไปด้วยโรคเอดส์ ซึ่งสิ่งนี้คือความไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของชุมชนริมทะเลที่สงบเงียบ หลายคนร่ำรวยข้ามคืนและจนอย่างรวดเร็ว คนที่นี่กลายเป็นคนที่จนลงพร้อมกับโศกนาฏกรรมที่น่าหดหู่ จากชุมชนเล็กๆประชากรประมาณ 8,000 คนแต่ตามทะเบียนราษฎร์ของมาบตาพุดในปัจจุบันเพิ่มถึงกว่า 30,000 คนแล้ว โดยมีการยืนยันรวมประชากรแฝงว่ามีถึง 60,000 คน

พี่เอ ย้ำถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับต่างชาติที่มาลงทุนแต่ไม่มองชุมชนรอบๆ ซึ่งไม่มีแม้แต่น้ำประปาและไฟฟ้าใช้ขณะที่ได้รับการชื่นชมว่าเป็นนิคมฯที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลก

วงสนทนาปิดลงเพื่อไปฉายภาพที่ชัดเจนต่อในการลงพื้นที่ในวันพรุ่งนี้ แต่คณะเราประมาณ 10 ชีวิตเริ่มต้นออกเดินทางไปดูความสว่างไสว ยามราตรี ของมาบตาพุดบนหลังรถกระบะ เรามองเห็น ไม้ขีดไฟยักษ์ หรือปล่องที่เผาก๊าซของเสียทิ้งอย่างชัดเจนตาขึ้นเป็นระยะๆ

ครึ่งชั่วโมงต่อมาเรามาถึงปลายทางคือเขตอุตสาหกรรมของ บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทยจำกัด หรืออีกชื่อที่รู้จักดีคือ TPI ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีเนื้อที่ถึง 4 พันกว่าไร่ ครอบคลุมทั้งสองฝั่งถนนโดยตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2525 จนถึงปัจจุบันมีโรงงานปิโตรเคมีประมาณ 20 โรง โรงผลิตไฟฟ้า โรงหลอมเหล็ก สวนอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของบริษัทของบริษัทในเครือฯ ท่าเรือน้ำลึก คลังเก็บก๊าซฯ และน้ำมัน โกดังเก็บพลาสติกและสารเคมีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ข่าวร้ายที่เราได้รับรู้จากพี่เอและทีมงานวิจัยคือ ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนมีคนงานในโรงงานเม็ดพลาสติกเสียชีวิตในสภาพเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์แต่เมื่อเขาไปตรวจเลือดหลายที่ยืนยันว่าไม่มีเชื้อHIV ซึ่งระหว่างที่พี่เอกำลังประสานเพื่อนำมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ แต่เขาซึ่งมีอาการหอบตลอดเวลาและกินอาหารไม่ได้นั้นเสียชีวิตในที่สุดด้วยอายุเพียง 32 ปีหลังจากที่เข้าไปทำงานได้เพียง 4 ปี โดยได้รับเงินค่ารักษาจากกองทุนประกันสังคมที่น้อยนิด หลังจากรถ 2 คันและบ้านถูกขายไปกับการรักษาตัวจนหมด ซึ่งการตายลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายราย โดยพี่เอบอกกับเราว่าอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่อันตรายที่สุดต่อสุขภาพ

เมื่อรถกระบะแล่นเข้าสู่อาณาจักรของ TPI ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาพร้อมกับกลิ่นต่างๆที่โชยมาเป็นระยะๆ ซึ่งเท่าที่เราพอแยกแยะได้มี 3-4 กลิ่น แต่สุดท้ายผ้าเช็ดหน้ากลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำออกมาปิดบังจากกลิ่นที่เราเองก็ไม่แน่ใจว่าจะส่งผลอย่างไรเมื่อสูดดมไปเต็มที่ ข้าพเจ้าอดนึกถึงชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่กับสภาวะแบบนี้ หากเป็นอาหารหรือน้ำเราเลือกที่จะไม่กินได้ แต่อากาศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

รถกระบะแล่นไปช้าช้าเพื่อบันทึกภาพเป็นระยะๆ สิ่งที่เราไม่รู้มากมายแฝงตัวอยู่กับความใหญ่โตเบื้องหน้า จนอดคิดไม่ได้ว่าการอยู่ห่างไกลออกไปให้มากที่สุดน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เคยรู้สึกมาก่อนหน้านี้เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางอุตสาหกรรมต่างๆ แต่อุบัติภัยรวมทั้งสิ่งที่ได้รับรู้ทำให้คิดว่าหากต้องมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับคนมาบตาพุดทั้งที่ไม่รู้และไม่มีที่ไปจะต้องอยู่ในสภาพเช่นไร

การเดินทางจบลง คืนนี้เราแยกย้ายกันเข้าที่พักริมทะเลโดยมีเสียงคลื่นเห่กล่อม อีกฟากคือไอน้ำที่พวยพุ่งและแสงไฟสว่างไสวของนิคมอุตสาหกรรมที่ไม่เคยหลับใหลเช่นกัน

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net