Skip to main content
sharethis

Dennis J.D. Sandole, Ph.D.
Professor of Conflict Resolution and International Relations
Institute for Conflict Analysis and resolution
George Mason University
---------------------------------------------------------------

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์ประท้วงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ จากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐไม่กี่วัน

"ประชาไท" โดย "มูฮำหมัด ดือราแม" กับ "ปิยะโชติ อินทรนิวาส" แห่ง "สยามโครนิเคิล" หนังสือพิมพ์ไทย ในสหรัฐอเมริกา มีโอกาสสนทนากับ "ศาสตราจารย์ ดร.เดนิส เจ.ดี. ซานโดลี" นักวิชาการด้านการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความสัมพันธ์นานาชาติ จากสถาบันวิเคราะห์ความขัดแย้งและการแก้ปัญหา แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน รัฐเวอร์จีเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมาร่วมสัมมนาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ความคิดความเห็นของนักวิชาการจากประเทศมหาอำนาจ ในฐานะ "นักวิชาการด้านสันติวิธี" ผู้เดินทางมาภาคใต้ในสถานการณ์ที่คุกรุ่นไปด้วยความรุนแรงเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า เป็นความคิดความเห็นที่น่าจับตาอย่างเป็นพิเศษ

…………………………..

มองปัญหาความรุนแรงในเอเชียอาคเนย์อย่างไร

เดือนมกราคม 2547 ผมไปร่วมสัมมนาที่รัฐปีนัง มาเลเซีย เรื่องปัญหาและทางออกของข้อขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย การสัมมนาครั้งนั้น พูดถึงปัญหาและข้อขัดแย้งในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่อินโดนีเชีย มินดาเนา ในฟิลิปปินส์ กัมพูชา พม่า ฯลฯ เราได้รับรู้เหตุการณ์ในปัตตานี หรือในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย เหตุการณ์เผาโรงเรียน การปล้นอาวุธ อะไรทำนองนี้

มองความเชื่อมโยงของปัญหา ในภูมิภาคนี้อย่างไร

แม้จะเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มชนมุสลิมอาศัยอยู่เป็นหลักก็จริง แต่บุคลิกของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกัน ประเด็นน่าสนใจอยู่ที่ว่า ปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ มีความคล้ายคลึงกันอยู่ ดูเหมือนกับมีสาเหตุมาจากด้านศาสนาเป็นหลัก เช่น ในฟิลิปปินส์เป็นเรื่องมุสลิมกับคริสเตียน มุสลิมในฟิลิปปินส์รู้สึกว่า ตัวเองถูกทอดทิ้ง ผลจากการพัฒนาต่างๆ จะตกอยู่กับกลุ่มคริสเตียน ส่วนมุสลิมได้รับการพัฒนาน้อยกว่า

ถ้าหันมาดูปัญหาภาคใต้ของไทย จะเห็นว่ามีเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ พี่น้องมุสลิมรู้สึกว่า พี่น้องศาสนาอื่นได้รับการพัฒนามากกว่า มุสลิมได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับการดูแลน้อยกว่า ทำให้มองกันว่า ชาวมุสลิมถูกละเลย

ไทยเรามีความเหลื่อมล้ำอยู่จริง แต่การฆ่าฟันไม่เคยเกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาเลย

ผมก็เห็นด้วยว่า ปัญหาไม่ได้มาจากด้านศาสนาอย่างเดียว ศาสนา คือ ปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้ง ปัญหาโดยรวม คือ เรื่องเชื้อชาติ การเมือง ที่สำคัญ คือ ด้านเศรษฐกิจ แต่ละปัญหามีลักษณะเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะในแง่กลุ่มคนมุสลิมมักจะมีฐานะยากจน เมื่อเปรียบเทียบกับชาวพุทธ ชาวคริสต์ หรือผู้มีเชื้อสายจีน

ฉะนั้น เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจเข้ามา สิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยทำให้มุสลิมคิดว่า สภาพที่เป็นอยู่ทำให้เขามีฐานะยากจน ฉะนั้น ถ้าเขามีโอกาสบริหารทรัพยากรของเขาเอง อาจจะทำให้เขามีฐานะดีขึ้น เมื่อมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยว ก็จะโยงไปเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาการเมืองก็ไปเกี่ยวกับเรื่องของสิทธิ มันโยงไปถึงปัญหาเชื้อชาติ

แล้วนำไปสู่คำถาม เพราะเขาเป็นมุสลิมหรือเปล่า เขาถึงได้รับการดูแลเอาใจใส่น้อย อะไรทำนองนี้ ซึ่งมันจะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้การก่อการร้าย หรืออะไรตามมา เขาพยายามชี้แจงปัญหาของตัวเองให้รัฐบาล หรือผู้มีอำนาจรับฟังว่า เขามีปัญหาอย่างนี้นะ แต่เมื่อรัฐบาลไม่สนใจ ไม่รับฟัง เขาก็คิดว่า จะทำอย่างไรให้เป็นที่สนใจ นำไปสู่การหยิบอาวุธขึ้นสู้ เพื่อดึงให้ผู้มีอำนาจเข้ามาเห็นปัญหาว่า ทนไม่ไหวแล้วนะ ต้องใช้อาวุธแล้วนะ

อย่างที่บอก สาเหตุมันเชื่อมโยงกันทั้งหมด อาจจะมาทางเศรษฐกิจก่อน แล้วโยงไปถึงการเมือง โยงไปถึงด้านอื่นๆ อะไรต่อไปอีกมากมาย

อย่างที่ว่าไว้ข้างต้น ศาสนาไม่ใช่ประเด็นหลัก อย่างกรณีฟิลิปปินส์ เขตที่ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 5 เขต ยังมีสภาพเศรษฐกิจที่จนกว่าประเทศที่จนที่สุดในแอฟริกาเสียอีก แสดงให้เห็นว่าปัญหาของชาวมุสลิม สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจ ขณะที่ชุมชนชาวคริสเตียนในฟิลิปปินส์มีการศึกษาดีกว่า มีภาวะเศรษฐกิจดีกว่า มันลามไปเป็นเรื่องศาสนา จากคำถามที่ว่า ทำไม ชาวคริสต์จึงมีอะไรดีกว่าชาวมุสลิม

ทีนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับภาคใต้ของไทย อาจจะมีปัญหาคล้ายคลึงกัน คือ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ หรือพูดได้ไม่ดี ฉะนั้น เรื่องนี้ก็นำไปสู่โอกาสต่างๆ ในชีวิต เช่น ไปสมัครงานก็มีโอกาสน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งก็นำไปสู่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ผมมีเพื่อนมุสลิมในมินดาเนาของฟิลิปปินส์ เขาไม่ใช่คนยากจน มีการศึกษาจบถึงด็อกเตอร์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นถึงคณบดีในมหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าเขาไม่มีสิทธิ์ที่จะซื้อบ้านเป็นของตัวเอง เพราะเขาเป็นมุสลิม ชี้ให้เห็นว่า เป็นความแตกต่างทางศาสนา เมื่อคนมุสลิมถูกจำกัดสิทธิ์มากมาย ก็นำไปสู่ความโกรธแค้น นำไปสู่การประท้วง ก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา

การที่คนมุสลิมบนเกาะมินดาเนา ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่เท่าเทียมกัน เมื่อเทียบกับชาวคริสเตียน มันนำไปสู่ความรุนแรง จากการประท้วงต่อต้าน รัฐบาลใช้วิธีส่งทหารเข้าไปปราบปราม แล้วประกาศสงครามกับชนมุสลิมมินดาเนา เราลืมสาเหตุที่แท้จริง ลืมปัญหาที่แท้จริงที่นำมาสู่ข้อขัดแย้งว่า คืออะไร แทนที่รัฐบาลเข้าไปดูว่า ปัญหามาจากอะไร กลับส่งทหารเข้าไปปราบปราม โดยไม่สนใจสาเหตุดั้งเดิมของปัญหา

นี่คือที่สิ่งกำลังเกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยในเวลานี้ใช่หรือไม่

ใช่ครับ มันก็มีความเป็นไปได้ สิ่งสำคัญในเวลานี้ที่เราสามารถทำได้ คือ ให้ทุกคนมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า ข้อเท็จจริงหรือปัญหาที่แท้จริง คืออะไร เมื่อเรียนรู้แล้วว่า อะไรคือสาเหตุของข้อขัดแย้งที่แท้จริง เราสามารถหลีกเลี่ยงเหตุการณ์รุนแรงได้

ในความเห็นของผม การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง แทนที่เราจะใช้กำลังเข้าไปแก้ปัญหา เราเปลี่ยนเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้คนในพื้นที่มีการศึกษาดีขึ้น มีเศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเราเอาเรื่องนี้เข้ามาใช้ โอกาสที่ข้อขัดแย้ง จะลุกลามออกไปเป็นความรุนแรง มันจะไม่มี

จากการลงมาสัมผัสกับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีคำแนะนำอย่างไร

ที่เห็น ก็คือ อยากให้จัดสัมมนาเปิดโอกาสให้คนหลายกลุ่มที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน มีโอกาสคุยกันอย่างเปิดอก เมื่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้มาแลกเปลี่ยนกัน จะทำให้เห็นแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน

อีกอย่าง คือ ไม่อยากให้รัฐบาลใช้กำลังทหาร แต่เข้ามาสนับสนุนด้านสวัสดิการสังคม ด้านการศึกษา หนุนให้มีการลงทุนในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น เน้นการให้สวัสดิการประชาชนเป็นหลัก

อีกอย่างอยากให้ใช้ประโยชน์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียให้มากขึ้น เพราะต่างก็เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกันอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน คนมาเลย์กับพี่น้องมุสลิมปักษ์ใต้ของไทยก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ทั้งในด้านวัฒนธรรม เชื้อชาติ ภาษาพูดก็สื่อสารกันได้ดี

ฉะนั้น รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย น่าจะใช้สิ่งนี้ชักชวนให้ชาวมุสลิมในมาเลย์เข้ามาช่วยเหลือชาวมุสลิมในไทย เหมือนอย่างที่อดีตผู้นำมาเลเซียได้ชักชวนชาวมาเลย์ ช่วยเหลือชาวมุสลิมในมินดาเนา คือ ช่วยด้านการลงทุน ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้มุสลิมที่นั่น มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ผมคิดว่าถ้าไทยทำได้แบบนี้ ปัญหาความขัดแย้งจะคลี่คลายได้

เวลานี้ กลุ่มอาเซียนกำลังจัดรูปแบบว่าด้วยความมั่นคง หรือความไว้วางใจใหม่ เรียกกันย่อๆ ว่า ARS นอกจากประเทศอาเซียนแล้ว ยังมีประเทศอื่นในภูมิภาค รวมทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอเมริกาเข้ามาร่วมด้วย รูปแบบที่กำลังทำอยู่ในกลุ่มอาเซียน อาจจะคล้ายกับ OSCE ในเวียนนา คือ องค์การว่าด้วยความมั่นคงในยุโรป ที่พอจะเป็นรูปแบบที่นำมาใช้ในกลุ่มอาเซียนได้ ถ้าเอามาใช้ ผมคิดว่า จะช่วยแก้ปัญหาการก่อการร้ายในระดับโลกได้

มีตัวอย่างมาแล้ว ผู้นำบางประเทศพยายามใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แทนที่จะมองว่า มันเป็นเพียงปัญหาภายในประเทศ เขากลับมองว่า เป็นเรื่องปัญหาระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเหตุการณ์จับตัวประกันนักเรียนในรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินบอกว่า เป็นเรื่องก่อการร้ายระหว่างประเทศ แทนที่ปัญหาจะจำกัดอยู่ภายในประเทศ ก็ถูกผลักให้เป็นปัญหาระหว่างประเทศ

ดังนั้น ถ้าประเทศใดพยายามจำกัดวงปัญหา ให้เป็นเรื่องภายในประเทศ มันจะเป็นการจำกัดกรอบปัญหา ไม่ให้กระจายออกไป

ความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้เป็นปัญหาระหว่างประเทศ

รัฐบาลไทยต้องเข้ามาจัดการไม่ให้ปัญหาลุกลามออกไป วิธีการที่จะทำได้ รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือคนในพื้นที่ โดยไม่ใช้กองกำลัง เข้าไปส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และอะไรอีกมากมาย ขณะเดียวกัน ไทยเป็นสมาชิกองค์กรต่างๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเวทีเหล่านี้ได้

ประเด็นสำคัญ ถ้าไทยแก้ปัญหาภาคใต้โดยแนวทางสันติ จะเป็นแบบอย่างให้ประเทศอื่น นำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้ง เช่น บนเกาะมินดาเนา หรือในภูมิภาคอื่น มันน่าจะเป็นต้นแบบให้นานาประเทศนำไปใช้ประโยชน์ได้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net