ย้อนรอยนศ.รามฯ ต้าน "มหาธีร์" ของแท้ หรือ…?

ประชาไท- พลันที่ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซียผู้เพิ่งพ้นตำแหน่งไม่นานมานี้ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อูตูซาน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมาเลเซียเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ พิจารณาเพิ่มอำนาจปกครองตนเองให้แก่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม หลังกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบนั้น

ฉับพลันก็มีการตอบโต้ข้อเสนอของนายมหาเธร์ ในประเทศไทยจากทุกสารทิศ ทั้งในส่วนของรัฐบาลได้แก่ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงถึงท่าทีของรัฐบาลไทยทำนองวิจารณ์ดร.มหาเธร์ว่า ไม่ได้เข้าใจสภาพของเหตุการณ์ที่แท้จริง และไม่ได้สนับสนุนความพยายามอย่างจริงจังของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหา

ขณะที่นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เป็นเรื่องภายในของประเทศโดยใครก็ตามที่พยายามจะแบ่งแยกดินแดนทำไม่ได้อยู่แล้ว และถือว่ามีความผิดโทษฐานกบฏ

นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวในส่วนอื่น ในทำนองให้กำลังใจและสนับสนุนแนวทางของรัฐบาล สวนกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักขององค์กรในประเทศและนอกประเทศต่อการสลายการชุมนุม

กลุ่มมวลชนที่ความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักอาทิ กลุ่มมวลชนใน จ.บุรีรัมย์ กว่า 20,000 คน นำของ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคไทยรักไทย(ทรท.) กลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด เพื่อให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และประณาม ดร.มหาเธร์

ตามมาด้วยกลุ่มพลังมวลชนอีกหลายกลุ่มที่มาชุมนุมให้กำลังนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากฝ่ายรัฐบาล

ล่าสุด กลุ่มมวลชนในจังหวัดพัทลุง กว่า 2,000 คน ออกมาเคลื่อนไหวในท่วงทำนองที่ไม่ต่างจากที่บุรีรัมย์

แต่กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างฉับพลันทันที กลับเป็น นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อสายวันอาทิตย์หลังข่าวปรากฏทางสื่อไม่นาน

รุ่งขึ้นสื่อมวลชนหลายฉบับเสนอข่าวหน้าในแรกว่า มี กลุ่ม นศ.มาประท้วงมหาเธร์ มีการเแจกแถลงการณ์ และชูป้ายผ้าภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ธงชาติไทย หน้าสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ถนนสา

ทั้งย้ำว่า กลุ่มนศ.ฯ ย้ำว่า ถ้าอดีตผู้นำมาเลเซียไม่ยุติการเสนอความเห็น กลุ่มนักศึกษาจะรวมตัวกันชุมนุมครั้งใหญ่ เพื่อประท้วงไปยังรัฐบาลมาเลเซียให้แสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของอดีตผู้นำประเทศ ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยทำเรื่องขอให้ทางการมาเลเซียชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

นักศึกษารามคำแหงกลุ่มนั้นเป็นใครมาจากไหน เหตุใดพวกเขาถึงออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วเช่นนั้น

--------------------

บัณฑิตจากรั้วรามคำแหงอดีตนักกิจกรรม คนหนึ่ง เล่าว่า กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวเป็นนักศึกษารามคำแหงจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีนศ.รุ่นพี่ที่จบไปแล้วทำงานเป็นสต๊าฟของส.ส.สังกัดพรรคร่วมรัฐบาล

รุ่นพี่คนดังกล่าว ได้ใช้ความสัมพันธ์ในลักษณะรุ่นพี่รุ่นน้องมาพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวให้ไปชุมนุมที่หน้าสถานทูตมาเลเซีย โดยลักษณะการพูดคุยนั้นมีการพูดเชิญชวนในลักษณะอุดม การณ์ว่านักศึกษาควรไปทำอะไร เพราะมหาเธร์พูดถึงประเทศไทยไม่ดี

"จริงๆแล้วรู้ว่า เขา(นศ.) ก็ไม่เข้าใจและไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะที่รู้มาคือ เอกสารที่แจกและป้ายผ้าก็มีการเตรียมมาให้ แม้แต่นักข่าวก็เตรียมรอแล้ว คิดดูป้ายผ้าเป็นภาษาอังกฤษข้อความแบบนั้นดูแล้วมันยากและดูดีเกินไป อย่างเราเองซึ่งเคยทำกิจกรรมมาก่อนคิดอย่างนั้น" อดีตนักกิจกรรมรามฯ กล่าว

เขาเล่าต่อว่า ในรามคำแหงมีนักศึกษารุ่นพี่ที่ไปสัมพันธ์กับพรรคการเมืองจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็กลับมาใช้ความเป็นพี่น้องส่วนหนึ่งในการเข้ามาดึงนักศึกษาไปร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางการเมือง

โดยถ้าเป็นลักษณะ ไหว้วานและมีค่าน้ำจิ้ม จำพวกค่ารถ ค่าน้ำและค่าอาหารก็จะมีนักศึกษาไปประมาณ 40-50 คน แต่หากต้องการจำนวนคนมากอาจจะมีการจ่ายค่าแรงหัวละ 100-200 บาท ก็สามารถเกณฑ์คนได้เป็นหลักร้อย แต่คนนอกจริงๆ ที่ไม่รู้จักมักคุ้นกันเอาเงินมาจ้างเฉยๆ ก็เป็นเรื่องยาก

บทบาทของกลุ่มนักศึกษานี้นอกจากกรณีมหาธีร์แล้ว พวกเขายังเคยไปร่วมยื่นหนังสือถึง ทำเนียบรัฐบาล เสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณาพักราชการ รศ.รังสรรค์ แสงสุข อธิการบดี ม.รามคำแหง เนื่องจากเห็นว่ากระทำผิดขั้นวินัยร้ายแรงและมี ความประพฤติที่ไม่เหมาะสมหลายประการ

รวมทั้งยังร่วมกับ นศ.รามกลุ่มอื่นๆ เดินขบวนไปที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อยื่นหนังสือให้เร่งดำเนินการพิจารณาผลสอบวินัย รศ.รังสรรค์ ที่ผ่านมาเกือบ 1 ปี ก็ยังไม่มีการนำผลการสอบ สวนดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการ ซึ่งในขณะนั้นมีความขัดแย้งระหว่างรศ.รังสรรค์และอาจารย์คนหนึ่งในรามคำแหง

ในการประท้วงครั้งนั้น กลุ่มผู้ต่อต้านอธิการบดี มร. ประกอบด้วยกลุ่มแกนนักศึกษาหลากกลุ่มหลายพรรคนักศึกษา กลุ่มที่มาร่วมไม่ได้มีอุดมการณ์ร่วม แต่มีประเด็นเฉพาะหน้าที่เห็นเหมือนกันคือ ขับไล่ รศ.รังสรรค์ออกจากตำแหน่งผู้บริหารฯ

สำหรับนักศึกษาบางคนในกลุ่ม ข้อมูลจากแหล่งข่าวคนเดิมระบุว่า ก่อนหน้านี้ก็เห็นเขาและเธอเป็นสต๊าฟเดินช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันประกาศตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งนี้อดีตนักกิจกรรมรามฯ คนดังกล่าว พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในรั้วรามคำแหงว่า เมื่อมีการเคลื่อน
ไหวของกลุ่มนศ.รามฯ ก็มักจะถูกจับตามองจากรุ่นพี่และเพื่อนๆ เนื่องจากกลุ่มที่ออกไปเคลื่อนไหวเหล่านั้นไม่มีการระบุชัดเจนว่าเป็นกลุ่มไหน ไม่รู้ว่ามีจุดยืนอย่างไร

"เมื่อกลุ่มนักศึกษาคนอื่นออกไปเคลื่อนไหวด่ารัฐบาลก็ถูกมองว่าฝ่ายค้านจ้างมา พอด่าฝ่ายค้านก็หาว่ารัฐบาลจ้างมา ภาพเลยดูแย่ไปหมด เพราะคนทั่วไปแยกไม่ออกอยู่แล้ว แต่ถ้าสังเกตคือน้องที่ไปสถานฑูตฯเขาจะไม่มีคนที่ออกมานำชัดเจน เพราะเอาเข้าจริงเขาไม่กล้าออกหน้า แต่พี่ที่มาคุยเขาเก่งเขาใช้จิตวิทยาทั้งนั้น พูดถึงศักดิ์ศรีของประเทศชาติอะไรแบบนั้น กับให้เงินนิดหน่อย" เขากล่าวส่งท้าย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท