ทัวร์ชลบุรี-ระยอง 3 วัน 2 คืน (ตอนจบ)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภาพ1 : ภูเขาขยะสูงเท่ากับตึก 6 ชั้น

6 ต.ค. 47 เช้านี้เรามุ่งหน้าสู่ เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยจุดหมายแรกคือโรงพยาบาลมาบตาพุด เราจอดรถถนนด้านหน้า ร.พ.ซึ่งมี ภูเขาขยะ สูงเท่ากับตึก 6 ชั้น ห่างจากตึก ร.พ.เพียงถนนกั้น ดูเผินๆแล้วไม่แตกต่างจากภูเขาธรรมดา แต่ดูแปลกตาตรงที่มีรั้วลวดหนามกั้นไว้ และเป็นภูเขาโล่งที่มีเพียงต้นหญ้าโดยมีร่องน้ำคอนกรีตจากด้านบนลงมารอบๆ

ด้วยความอนุเคราะห์ของร.พ. ทำให้พวกเรามีโอกาสไปดูภูเขาขยะจากมุมสูงบนชั้นดาดฟ้า(ชั้น 6)ของตึกร.พ. จากนั้นจึงได้พูดคุยกับ น.พ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการร.พ.หนุ่มอารมณ์ดี คุณหมอเล่าถึงที่มาของภูเขาขยะว่า เป็นโรงงานกำจัดขยะสารพิษของบริษัทเจนโก้ ซึ่งรับมาจากทั่วประเทศแต่ส่วนใหญ่เป็นของนิคมฯมาบตาพุด เดิมทีจะไปตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ชลบุรี (บ้านพี่ตุ้ยที่คณะเราเดินทางไปเมื่อวาน)แต่ชาวบ้านคัดค้าน จึงย้ายมาหาที่ตั้งในเขตนิคมฯซึ่งมาลงตัวในพื้นที่ตรงข้าม ร.พ.นี่เอง

ย้อนไปเมื่อปี 2541 โรงงานขยะแห่งนี้ตั้งขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 100 กว่าไร่ กำจัดขยะสารพิษโดยวิธี กองปิด คือใช้พลาสติกปูรองพื้นแล้วนำขยะที่ผ่านกระบวนการปรับเสถียรแล้วมากองทับไปเรื่อยๆจนเต็มพื้นที่จึงปิดและปูทับด้วยหญ้า ซึ่งภูเขาขยะสูงเท่ากับตึก 6 ชั้นลูกนี้ใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น และเป็นที่น่าเสียดายว่าพื้นที่กว่า 100 ไร่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้นอกจากใช้เป็นทิวทัศน์

คุณหมอเล่าถึงช่วงแรกที่โรงงานขยะมาตั้งที่นี่ว่า กลิ่นเหม็นมากจนถึงขั้นที่พยาบาลอาเจียน และคนไข้บางคนก็ย้ายไปพักที่อื่นเพราะทนกลิ่นไม่ไหว แต่ร.พ.ก็ทำอะไรไม่ได้ จนปี 2544 ที่นี่เต็มเลยย้ายไปที่หน้าการนิคมฯต่อ ส่วนที่นี่ยังใช้เป็นโรงผสมกากอยู่

สิ่งที่ตามมาจากการตั้งนิคมฯมาบตาพุดนั้น คุณหมอมองว่า ข้อดี ที่เห็นคือในช่วงแรกชาวบ้านขายที่ดินได้ในราคาแพง บางคนได้เป็นร้อยล้านก็มี นอกจากทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนก็มีมากขึ้น คุณหมอพูดติดตลกว่า โรงงานนึกได้สองอย่างคือโรงเรียนกับวัด ส่วนคนที่ได้ทำงานในนิคมนั้นคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ได้งานทำ เช่น แม่บ้าน ยาม และพนักงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับบนส่วนมากมาจากที่อื่น

ด้าน ผลกระทบ นั้นที่เห็นได้ชัดคือสุขภาพแย่ลง เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และสถิติการฆ่าตัวตายก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากความเครียดจากการตกงาน ห่างไกลบ้าน ส่วนโรคมะเร็งก็มีสถิติค่อนข้างสูง แต่ข้อเสียคือ ทางการแพทย์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเกิดจากการรับสารอะไร เพราะสารก่อมะเร็งมีจำนวนมาก แต่ที่นี่ยังดีเพราะเมื่อร้องเรียนก็จะมีการตรวจสอบและจัดการให้ดีขึ้นแต่ต้องร้องเรียน

นอกจากนี้อุบัติภัยที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่ มีตั้งแต่รถสารเคมีพลิกคว่ำประมาณ 2-3 ครั้งต่อปี ส่วนการระเบิดที่หนักที่สุดนั้นมีเพียงครั้งเดียวทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีการรั่วไหลของสารฟอสจีน(สารพิษที่ฮิสเลอร์ใช้ฆ่าชาวยิว) ที่ทำให้ชาวบ้านประมาณ 800 คนได้รับพิษ คุณหมอเล่าว่าต้องตรวจกันอยู่ถึง 3 วัน 3 คืน

ก่อนที่จะอำลา ร.พ.คุณหมอบอกพวกเราว่า ถ้าเลือกได้ก็อย่าให้เป็นเหมือนที่นี่ดีกว่า และอีกไม่นานโรงพยาบาลก็จะย้ายออกไปอีก 5 ก.ม. เพราะปัจจุบันอยู่ห่างจากนิคมเพียง 2 ก.ม.

เรามุ่งหน้าต่อไปยังริมทะเลฝั่งตะวันตกของนิคมฯมาบตาพุด บริเวณบ้านหนองแฟบ โดยมี พ่อเจริญ เดชคุ้ม ผู้นำชุมชนเกาะกกหนองแตงเม รอพูดคุยกับพวกเรา โดยมองเห็นทะเลที่ถูกถมอยู่ไม่ไกลนัก โดยจุดที่เราล้อมวงคุยกันสามารถมองเห็นตลิ่งพังหายไปอย่างน่าเสียดาย

พ่อเจริญเล่าว่า ผลพวงจากการถมทะเลนับพันไร่ ทำให้ลมเปลี่ยนทิศทางจนพัดพาตลิ่งหายลึกเข้าไปกว่า 40-50 เมตร ส่วนคำอธิบายของกรมเจ้าท่าบอกว่า เกิดจากลมตะเภานั้น พ่อเจริญบอกว่าเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิดแต่การพังของตลิ่งอย่างรุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นมาเพียงไม่กี่ปีนี้เอง และตอนนี้การแก้ปัญหาก็มีเพียงการนำหินมาถมริมตลิ่งเท่านั้น

ความกังวลของพ่อเจริญตอนนี้คือ การขยายตัวของนิคมฯ มากเกินไปจนส่งผลต่อวิถีชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลงจนน่าใจหาย ทำให้ประมงเรือเล็กได้รับผลกระทบหนักเพราะออกทะเลแต่ละครั้งแทบจะไม่คุ้มค่าน้ำมัน รวมถึงพืชผลที่ไม่ติดดอกออกผลเพราะน้ำฝนที่ตกลงมาทำดอกร่วงหมด

จากนั้นเราไปแวะดู หาดทรายทอง ซึ่งมีที่มาของชื่อจากความระยิบระยับยามทรายกระทบแสงแดดราวกับเกล็ดทองเลยที่เดียว แต่วันนี้เรามองเห็นเพียงก้อนหินขนาดเขื่องวางเรียงเป็นหาดแทน ยามเย็นที่เต็มไปด้วยคนที่มาเที่ยวพักผ่อน ร้านค้า รวมทั้งรถรับจ้างซึ่งเคยสร้างรายได้ให้กับคนที่นี่ก็หายไปเหลือเพียงความเงียบเหงาเท่านั้น

ก่อนอำลา พ่อเจริญบอกกับเราถึงความห่วงใยต่อชุมชนว่า ปีนี้การทำสวนเริ่มขาดน้ำ ซึ่งหากยังมีการขยายของอุตสาหกรรมมากขึ้นระยองคงต้องพบกับวิกฤติน้ำแน่นอน เพราะรัฐบาลลืมนึกถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของชุมชน แต่สำหรับพ่อเจริญไม่เคยลืมคำพูดเมื่อครั้งที่จะมีการตั้งนิคมที่เขาบอกว่าต่อไปไม่ต้องไถนาแล้วจะมีแต่ความเจริญ ไม่เคยลืมว่าต้องสูญเสียที่ดิน ต้องย้ายวัด

เราเดินทางกลับที่พักยามบ่ายเมื่อแดดเริ่มอ่อนแสง เย็นนี้เราออกมาดูความสว่างไสวยามราตรีอย่างตื่นตาตื่นใจอีกครั้งก่อนอำลาดินแดนอุตสาหกรรม
.............................................................................

7 ต.ค. เช้านี้ก่อนกลับเราไปที่การนิคมฯ โดยฝั่งตรงข้ามมองเห็นกองขยะที่เริ่มก่อตัวซึ่งคงจะกลายเป็นภูเขายักษ์ลูกใหม่ในไม่ช้า ส่วนกลิ่นไม่ต้องพูดถึงเพราะต้องยกผ้าปิดจมูกอัตโนมัติ แต่เราต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อลิฟท์ขึ้นหอคอยที่สามารถมองเห็นนิคมฯ ทั้งนิคมจากมุมสูงปิดซ่อม
แซม ครั้นจะเดินเท้าขึ้นไปซึ่งมีความสูงเท่ากับตึก 10 ชั้นก็กลัวว่าจะไปไม่รอด จึงได้แต่เพียงดูภาพจากสไลด์

ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันถึงมาตรฐานความปลอดภัยในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน สากล ISO 14001 และมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 4 สถานี และสถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำ 1 สถานี และการเจ็บป่วยในปัจจุบันก็ลดลงมากกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมาแล้ว

เราไปสุดทางที่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(มหาชน) แวะดูโรงงานผลิตผงและเม็ดพลาสติกแห่งแรก ซึ่งมีปตท.ถือหุ้นใหญ่ เรามีโอกาสเห็นเพียงพื้นที่จำลอง และมองเห็นความใหญ่โตของบริเวณจากตัวอาคารเท่านั้น

บ่ายแก่ๆ เราอำลากลับสู่ภูมิลำเนา ระหว่างทางสายฝนโปรายปรายเป็นระยะๆ ข้าพเจ้าครุ่นคิดถึงท้องทะเลแห่งแดนใต้ที่เพิ่งไปเยือนมาเมื่อไม่นานนัก คนอื่นๆก็คงเช่นกัน เพราะไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรนับจากนี้ แต่ทะเลตะวันออกวันนี้คงแจ่มชัดในใจเราไปนาน

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท