Skip to main content
sharethis

"กฎอัยการศึกมันไม่มีประโยชน์อะไร เพราะมองไม่เห็นข้าศึก" นายทองใบ ทองเปาด์ สว. มหาสารคามกล่าวในการเสวนา "กรณีตากใบภายใต้กฎอัยการศึก : ความรับผิดชอบและการเยียวยาทางกฎหมาย" ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายทองใบอธิบายว่าจากการลงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าชาวบ้านต้องการให้ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก เนื่องจากรับไม่สามารถจัดการหรือหาตัวข้าศึกได้ ขณะที่กฎอัยการศึกกลับถูกนำมาใช้บังคับชาวบ้านมากกว่า

การเสวนาดังกล่าวมุ่งเน้นประเด็นเรื่องความขัดกันระหว่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศกับพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎอัยการศึก ซึ่งนักกฎหมายผู้เข้าร่วมการเสวนาเห็นร่วมกันว่า กฎอัยการศึกน่าจะเป็นกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญในหลาย ๆ ประเด็น

นายปริญญา เทวานฤมิตกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์กล่าวว่า กฎอัยการศึกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2457 ตั้งแต่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นกฎหมายที่เก่ามากไม่เหมาะกับยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันซึ่งบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่าน ๆ มา พบว่าบทบัญญัติในกฎอัยการศึกขัดรัฐธรรมนูญเกือบทั้งสิ้น เช่นมาตรา 14 มาตรา 16 เป็นต้น

อย่างไรก็ตามนายปริญญา กล่าวว่ากฎอัยการศึกก็ยังมีความจำเป็น แต่ควรใช้เฉพาะเวลาศึกสงครามจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่อ้างเหตุจลาจล หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยเพื่อใช้กฎอัยการศึกได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ท้ายที่สุดนายปริญญาได้เสนอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยกฎอัยการศึกฉบับที่ใช้อยู่ขณะนี้เนื่องจากเป็นกฎหมายที่พ้นสมัยไปแล้วโดยผู้ร่วมเสวนาทุกคนต่างเห็นพ้องในประเด็นนี้

สำหรับกรณีที่ตากใบซึ่งมีผู้เสียชีวิตขณะขนย้ายผู้ต้องหาจำนวน 78 คนนั้น นายปริญญากล่าวว่าแม้กระทั่งกฎอัยการศึกก็ไม่ได้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ไว้ เนื่องจากกฎอัยการศึกไม่ได้ให้อำนาจในการทำลายชีวิตประชาชนไว้ด้วยจึงต้องกลับไปใช้ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแทน ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ในกรณีดังกล่าวเข้าข่ายประมาทเลินเล่อ และ/หรือเจตนาทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ทั้งนี้ รศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ กล่าวว่า การจัดการกับผู้ชุมนุมกรณีตากใบกระทั่ง มีผู้เสียชีวิตขณะขนย้ายผู้ต้องหา จำนวน 84 ศพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอ้างว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าตายสะสมมาเป็นจำนวนเกือบ 300 คนแล้วนั้น เหมือนกับการเล่นฟุตบอลที่ถูกคู่ต่อสู้กระตุกแขนเสื้อหลายครั้ง แต่กลับตอบโต้ด้วยการหันไปชกคนดูแทนที่จะชกคู่พิพาท

"มันไม่ใช่การชกกับคู่พิพาท เพราะไม่มีหลักฐานว่าเขามาตัดคอ มาฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์แต่อย่างใด กรณีนี้หันไปชกคนดู ซ้ำยังกระทืบเป็นเหตุให้คนดูและกองเชียร์ถึงแก่ความตาย อย่างไรก็ตามท่านที่เป็นนายกรัฐมนตรีให้เหตุผลว่าถ้าหากผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามมันชก มันดึงเสื้อเรา เราก็หันกลับไปกระทืบกองเชียร์ได้เลย" รศ.ดร.กิตติศักดิ์กล่าวเปรียบเทียบ

รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธุ์ คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า "ไม่ว่าจะเป็นนักนิติศาสตร์จากสำนักใดก็ตามที เราเชื่อตรงกันว่า ประเทศต้องปกครองด้วยหลักนิติธรรม (Rules of Law) แม้ว่ากฎอัยการศึกจะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถทำอะไรได้สะดวกหลายประการตามสถานการณ์ของเรื่อง แต่กฎอัยการศึกก็ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมเช่นเดียวกัน

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net