Skip to main content
sharethis

บรรยายภาพ : หน้าสภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส สถานที่เกิดเหตุตากใบทมิฬ วันที่ 25 ตุลาคม 47 ในภาพคณะของกรรมาธิการฯ วุฒิสภาเดินทางมารับฟังคำชี้แจงของผู้บังคับการตำรวจ สภ.อ.ตากใบ
-------------------------------------------------------------------

การสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น จบลงด้วยคำถามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย เมื่อนำมาสู่การสูญเสียชีวิตมากมายอย่างไม่คาดคิด และผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมีอยู่หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร น่าจะเป็นผู้สร้างความกระจ่างได้อย่างดีที่สุด

พันตำรวจโทภักดี ปรีชาชน รองผู้กำกับสอบสวน สภอ.ตากใบ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่เกิดเหตุ ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ช่วงเช้าวันดังกล่าว เวลาประมาณ 8.30 น.ได้รับแจ้งจากสายตรวจทหารตำรวจร่วมว่า มีรถกระบะบรรทุกวัยรุ่น 3-4 คน บอกว่ามาจาก อ.บาเจาะ และอ.ยี่งอ เพื่อมาซื้อของและมาละหมาด แต่ดูผิดสังเกตจึงแจ้งมาที่สภ.อ.ฯ

โดยมีบางส่วนประมาณ 300 คนไปอยู่ที่หาดเสด็จ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ จึงส่งสายตรวจไปดูแล และเชิญมารวมกันที่สภ.อ.ฯเพราะจำนวนกำลังดูแลไม่พอ ตอนแรกผู้ชุมนุมทยอยมาอยู่บริเวณสนามเด็กเล่นซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสถานีตำรวจประมาณ 200 คน จึงได้ส่งตำรวจที่เป็นมุสลิมไปคุยด้วยว่าต้องการอะไรแต่เขาไม่ตอบ

จากนั้นปรากฏว่า มีรถเริ่มทยอยมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยสายตรวจแจ้งว่ามีประชาชนจากอ.ท่าแพรก เดินทางมาโดยรถจักรยานยนต์ประมาณ 300-400 คน บอกว่าจะมาที่สภ.อ.ฯจึงให้สายตรวจนำทางมาเพราะบางคนมาจากพื้นที่อื่นจึงไม่รู้ทางมาสภ.อ.ฯ

เมื่อมาถึงปรากฏว่ามีการเขียนป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ถูกจับทั้ง 6 คน ซึ่ง พันตำรวจโทภักดีบอกว่าทางเจ้าหน้าที่ได้บอกกับผู้ชุมนุมว่าทั้ง 6 คนไม่อยู่ที่สภ.อ.ฯแต่ก็ไม่เป็นผล ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ส่งตำรวจนอกเครื่องแบบไปปะปนประมาณ 200 คน

เวลาประมาณ 10.00 น. นายศิวะ แสงมณี นั่งเฮลิคอปเตอร์มาถึงเป็นคนแรก โดยได้ประชุมร่วมกับนายอำเภอ ปลัดจังหวัด หลังประชุมจึงให้ปลัดฯ ซึ่งเป็นมุสลิมไปเจรจาแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า จากนั้นจึงเชิญกำนัน และโต๊ะอิหม่าม รวมทั้งอดีตสจ.ที่เป็นมุสลิม มาเจรจากับผู้ชุมนุมแต่ยังไม่สามารถเจรจาได้

จนกระทั่งประมาณ 10 โมงกว่า แม่ทัพภาค 4 เดินทางมาถึงและผู้ชุมนุมยังยืนยันให้ปล่อยทั้ง 6 คนโดยไม่มีเงื่อนไข เจ้าหน้าที่จึงบอกผู้ชุมนุมอีกครั้งว่าอยู่นอกอำนาจศาลแต่ก็จะประสานให้ประกันตัว

สิ่งที่ทำให้มีการตัดสินใจสลายการชุมนุมนั้น พันตำรวจเอกทนงศักดิ์ ภัทรภานุ รองผู้บังคับการสภ.อ.ตากใบ เล่าต่อว่าประมาณ บ่าย 2 โมงหลังจากที่นำพ่อแม่และภรรยาทั้ง 6 คนมาพูดกับผู้ชุมนุมว่า พอใจและเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังไม่ยอม และเริ่มบุกเข้ามาทำลายข้าวของ ทำลายป้ายโรงพัก และมีประมาณ 100 คนที่ดันเข้ามาในบริเวณโรงพักประมาณ 10 เมตร และเมื่อประธานฯ อิสลามจังหวัดนราธิวาสมาคุยก็ยังไม่ยอมอีก พร้อมกันนั้นเองก็ได้รับทราบจากผู้บังคับการว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ และเห็นว่าใกล้ค่ำ

"เราสังเกตเห็นว่าใส่เสื้อคลุมและอยู่ในลักษณะกุมไว้ แต่ไม่เห็นว่าเป็นอาวุธอะไร ส่วนอาวุธที่พบหลังจากการสลายการชุมนุมนั้น งมได้จากเขื่อนที่อยู่ด้านหลังสนามเด็กเล่น แต่จุดที่งมได้นั้นไม่รู้ เพราะทหารเป็นฝ่ายดูแล ตอนนี้กำลังหาที่นักข่าวถ่ายไว้ซึ่งเห็นว่ามีอาวุธอยู่ด้วย" รองผู้บังคับการ กล่าว

พันตำรวจเอกทะนงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ขั้นต้น ได้ประกาศเตือนโดยปลัดจังหวัดเป็นภาษายาวีว่า ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกไปเพราะจะมีการสลายการชุมนุม ตามมาด้วยการฉีดน้ำดับเพลิงจากด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ให้โดนศีรษะเพื่อให้เปียกและให้ผู้ชุมนุมถอยออกไป และขณะนั้นทหารพยายามจับแกนนำที่อยู่ด้านหน้าซึ่งก็จับได้ 1 คน

และเมื่อผู้ชุมนุมเริ่มดันเข้ามาเรื่อยๆ ทหารประมาณ 200 คนจึงกระจายออกไปด้านข้าง เหลือเพียงชุดสลายการชุมนุมประมาณ 60 คนอยู่ด้านหน้า และเริ่มมีการขว้าง แก๊สน้ำตา พันตำรวจเอกทนงศักดิ์บอกว่า ไม่ทราบว่ามีกี่ลูก แต่เห็น 1 ลูก ซึ่งจากนั้นไม่นานมีการขว้างกลับมาและเนื่องจากกระแสลมมาทางเจ้าหน้าที่ทำให้กระจายกันออก

"เมื่อความวุ่นวายเกิดขึ้นจึงมีการยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขู่ผู้ชุมนุม เพราะมีการขว้างก้อนหินที่นำมาจากรอบๆ เขื่อนบริเวณริมน้ำ รวมถึงเศษไม้ซึ่งบางส่วนที่มาจากแผงกั้นของเจ้าหน้าที่ จนเมื่อทุกคนหมอบคว่ำหน้าไปกับพื้นแล้ว จึงเริ่มเดินสำรวจ ปรากฏว่าพบศพอยู่ 6 ศพ ซึ่งมีบาดแผลบริเวณศีรษะ แต่ผมไม่ได้ร่วมชันสูตรไม่ทราบว่าบาดแผลเกิดจากอะไร" พันตำรวจเอกทนงศักดิ์ เล่า

ขณะที่ พันตำรวจโทภักดี ยืนยันว่า โรงพยาบาลชันสูตรแล้วพบว่าเป็นบาดแผลจาก อาวุธปืน โดยส่วนใหญ่อยู่บริเวณศีรษะ ท้ายทอย มีเพียงศพเดียวที่มีบาดแผลบริเวณสีข้างซ้าย ส่วนคนอื่นๆบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ทางด้านเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 คน จากการถูกไม้และก้อนหินศีรษะแตก โดยมีตำรวจ 1 คนที่ถูกยิงบริเวณสีข้าง แต่ไม่ทราบชนิดอาวุธปืนเพราะกระสุนยังฝังอยู่ที่ปอด ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนราธิวาส

รองผู้บังคับการ เล่าต่อว่าการขนย้ายใช้รถตชด. 6 ล้อสีฟ้า 4 คัน ลักษณะเดียวกับรถยีเอ็มซีเป็นชุดแรกที่ออกไป รถนย.(นาวิกโยธิน-ผู้เขียน) ไม่ทราบจำนวนคัน และรถชุดสุดท้ายคือรถยีเอ็มซี 25 คัน รวมทั้งหมดประมาณ 30 กว่าคัน

"ตอนแรกมีการประสานขอรถตำรวจเพิ่ม แต่เมื่อหารถสิบล้อมาได้ปรากฏว่าขนเสร็จแล้ว เพราะรีบระบายคนเนื่องจากเริ่มมืด จากรถที่นำมาถ้าให้ยืนไปรับรองว่าพอเพราะเฉพาะ รถยีเอ็มซีขนได้เป็นร้อย แต่เท่าที่เห็น 4-5 คันแรกซึ่งเป็นรถตชด.นั่งพิงกันไป แต่คันอื่นผมไม่เห็นที่บอกว่า ให้นอนทับกัน โดยเส้นทางที่ผ่านมีเรือใบโรยไว้ 3 ช่วง ห่างช่วงละประมาณ 1 กม." พันตำรวจเอกทนงศักดิ์ เล่า

ทั้งนี้แกนนำ ที่มีประมาณ 30 คนสามารถจับได้ 10 คน และผู้ถูกจับกุมไม่มีเด็กและผู้หญิงเพราะตอนที่เริ่มมีการฉีดน้ำผู้หญิงก็ถอยออกไปด้านข้าง และทรัพย์สินต่างๆ เช่น โทรศัพท์ แหวน กระเป๋าสตางค์ก็ส่งมอบให้กองทัพไปในคืนนั้นทั้งหมด ส่วนรถยนต์ประมาณ 70 คันและรถจักรยานยนต์ประมาณ 170 คัน นำไปฝากไว้ที่ค่ายจุฬาภรณ์

"รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกองทัพเป็นคนทำเพราะเป็นฝ่ายบังคับบัญชา ซึ่งตอนนี้เราก็ยังไม่เห็น และหลังจากขนย้ายออกไปแล้วทุกอย่างอยู่ในความดูแลของทหาร" รองผู้บังคับการสภ.อ.ตากใบ กล่าวสรุป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net