Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง ต่อกรณีโศกนาฏกรรมที่ตากใบ และสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย

โดย กลุ่มไทยศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

7 พฤศจิกายน 2547

พวกเรา สมาชิกกลุ่มไทยศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาและนักวิชาการชาวไทยและออสเตรเลีย ผู้สนใจศึกษาและติดตามสถานการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมืองในประเทศไทย

ในฐานะแห่งความเป็นมนุษย์ พวกเราขอแสดงความเสียใจและเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อโศกนาฏกรรมความรุนแรงที่สืบเนื่องจากการปราบปรามและกวาดจับประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา อันเป็นผลให้มีประชาชนชาวไทยเสียชีวิตถึง 85 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก โดยผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นกรณีการเสียชีวิตในสภาพทุกข์ทรมาน อันเนื่องมาจากปฏิบัติการณ์โดยใช้ความรุนแรงและไร้มนุษยธรรมขณะอยู่ภายใต้การจับกุมของกองกำลังของรัฐ

พวกเรามีความเห็นว่า ภายหลังเกิดเหตุการณ์อันน่าสลดใจดังกล่าว รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงท่าทีที่บ่งบอกถึงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะต่อสถานการณ์ความสูญเสียต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมากโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

พวกเราขอย้ำว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่อำเภอตากใบไม่ได้เกิดขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและพลเมืองไทยมุสลิมในภาคใต้ที่มีประวัติศาสตร์และที่มาของปัญหาสืบเนื่องเรื้อรัง ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องหรือจำกัดอยู่แต่เฉพาะประเด็นความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง การค้ายาเสพติด ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือขบวนการก่อการร้าย เช่นที่เป็นคำอธิบายของเจ้าหน้าที่รัฐ

การละเลยความสำคัญของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่น ส่งผลให้การแก้ปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ต้องประสบกับความล้มเหลวในอันที่จะประกันความสงบสุขและความปลอดภัยอย่างแท้จริงแก่ประชาชนในท้องถิ่นมาโดยตลอด สถานการณ์ที่ติดตามมาคือ การที่รัฐบาลยิ่งเพิ่มแนวโน้มที่จะจัดการกับปัญหาโดยใช้มาตรการทางอาวุธและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังเห็นได้จากกรณีการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และสงขลา จนเป็นผลให้มียอดผู้ถูกสังหารถึงกว่าหนึ่งร้อยคนภายในระยะเวลาอันสั้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

และดังเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มาตรการทางอาวุธดังกล่าวได้นำมาซึ่งความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของฝ่ายรัฐ ขณะเดียวกันก็ยิ่งกระตุ้นให้ชุมชนชาวไทยมุสลิมเกิดความไม่ไว้วางใจในรัฐเพิ่มมากขึ้น นำมาซึ่งวงจรความรุนแรงที่ได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตทั้งของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เป็นชาวไทยมุสลิมและไม่ใช่ชาวไทยมุสลิมมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งยังส่งผลให้เกิดเป็นความรู้สึกหวาดระแวงและมุ่งร้ายต่อกันในระหว่างประชาชนต่างศาสนา

ท่ามกลางสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งนี้ พวกเราในฐานะนักศึกษาและนักวิชาการ ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย ดังนี้

-รัฐบาลไทยต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทั้งนี้รวมถึงการออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาล แสดงความเสียใจและขอโทษต่อประชาชน โดยเฉพาะต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบและเหตุการณ์สืบเนื่องอื่น ๆ และดำเนินมาตรการชดใช้อย่างเป็นธรรม อย่างจริงใจและเร่งด่วน

-เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกระบวนการยุติธรรม เพื่อเปิดเผยความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทุกระดับชั้นมาลงโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ควรให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว

-รัฐบาลต้องเคารพต่อสิทธิในการชุมนุมประท้วงอย่างสงบของประชาชน

-รัฐบาลต้องจัดกิจกรรมให้การศึกษาและอบรมแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับสถานการณ์ความไม่สงบ ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความตระหนักรู้ เคารพ และปฏิบัติตามหลักสากลด้านสิทธิมนุษยชน ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมประท้วงอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง และคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม

-รัฐบาลต้องทบทวนจุดยืนในการจัดการปัญหาในภาคใต้อย่างจริงจังและเป็นระบบ ทั้งนี้เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า จุดยืนที่ผ่านมาของรัฐบาลมีความโน้มเอียงไปในทางการแก้ปัญหาเฉพาะจุด และส่งเสริมการใช้อาวุธและความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะนำมาซึ่งความล้มเหลวในการแก้ปัญหา แต่ยังได้สร้างความทุกข์โศก และกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชิงชัง ตลอดจนการตอบโต้ด้วยความรุนแรงในหลายกรณี ในหมู่ชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนับวันแต่จะขยายวงกว้างออกไป

-ในกระบวนการทบทวนจุดยืนของฝ่ายรัฐดังกล่าว จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับบริบททางประวัติศาสตร์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนาของประชาชนในพี้นที่ โดยตั้งอยู่บนหลักการของการเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของกลุ่มชนต่าง ๆ และโดยการรับฟังความคิดเห็น ความรู้สึก และความคาดหวังของประชาชนในท้องถิ่นต่อสถานการณ์ที่พวกเขามีส่วนได้รับผลกระทบ และรัฐบาลควรหันมาให้ความสำคัญกับมาตรการทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แทนการใช้อาวุธเข้าปราบปราม

-ความดำริของรัฐบาลในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้น ควรดำเนินต่อไป แต่เช่นเดียวกับทิศทางการพัฒนาในภาคอื่น ๆ แนวทางการพัฒนาของรัฐต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ประชาชนในท้องถิ่นต้องมีโอกาสร่วมตัดสินใจในกระบวนการพัฒนาทุกระดับอย่างแท้จริง

-พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลไทยจะให้ความใส่ใจพิจารณาข้อความเห็นของพวกเราดังแสดงมาข้างต้น ทั้งยังหวังให้สมาชิกในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นโดยยึดหลักอหิงสธรรม มุ่งยุติวงจรความรุนแรง เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืนและความสงบสุขอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นแก่ประชาชนในเร็ววัน.

กลุ่มไทยศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net