สกน.หนุนตั้งกองทุนฯแก้หนี้สินเกษตร

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-9 พ.ย.47 " การจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ โยอินชัย กรรมการบริหารกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กล่าวว่า เดิมที คณะรัฐมนตรีได้ประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เมื่อปี พ.ศ.2542 ซึ่งทางกลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน(สกน.อ.) ได้ร่วมกันผลักดันขึ้นในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย กฎหมายฉบับนี้ ได้มีการพูดถึงเรื่อง การฟื้นฟูของเกษตรกร และรัฐจะมีงบประมาณอุดหนุนให้แก่กองทุนฟื้นฟู โดยให้เกษตรกรจัดทำแผนงานและโครงการ เข้าไปขอรับงบกองทุนดังกล่าว

"แต่นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ยังไม่มีการนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ปฏิบัติ และได้มีการเสนอเพิ่มเติมในเรื่อง การจัดการหนี้สินเกษตรกรขึ้นมา แต่ไม่มีการบรรจุเรื่องเอาไว้ จนถึงปี 2544 ได้มีการผลักดันเข้าไปจนสำเร็จ" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ทางกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้เคยยื่นหนังสือต่อรัฐบาล เพื่อรับทราบปัญหาของเกษตรกรในหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาเรื่องที่ดิน การจัดการป่า การจัดการน้ำ การจัดการเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร รวมไปถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่งได้ผลักดันมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2544 จนรัฐบาลทักษิณได้รับข้อเสนอของ สกน.ไปพิจารณาศึกษาเป็นเวลา 1 ปี

แต่ก็ยังไม่มีจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่รับเอาไว้ ยังไม่มีผลต่อการจัดการ จึงได้มีการชุมนุมเรียกร้องครั้งใหญ่ระหว่างวันที่ 10 มี.ค.- 10 เม.ย.2545 จนในที่สุด ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติ ในการแก้ไขปัญหา และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหากลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และองค์กรประชาชนภาคเหนือขึ้น โดยมี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีตัวแทนหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ รวมไปถึงตัวแทนของกลุ่มเกษตร เป็นคณะอนุกรรมการร่วม

ตอนนั้น มีการเสนอปัญหาของเกษตรกรอยู่หลายเรื่อง อาทิ ปัญหาเรื่องที่ดินและการถือครองที่ดิน การจัดการป่าและน้ำ ราคาพืชผลเกษตร ปัญหาหนี้สิน ปัญหาโครงการต่างๆ ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่อง การสร้างเขื่อน โรงงานลำไยระเบิด การสร้างโรงงานไฟฟ้า ปัญหาการละเมิดสิทธิชนเผ่า เป็นต้น

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัญหาหนี้สิน ก็เป็นประเด็นหนึ่ง ที่ได้ร่วมเรียกร้อง จนมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมี นายวราเทพ รัตนากร รมช.การคลัง เป็นประธาน มีการดำเนินการได้ในระดับหนึ่ง แต่มีความคืบหน้าน้อยมาก เนื่องจาก มีเกษตรกรไปขึ้นทะเบียนเพียง 6,622 ราย และเมื่อคณะกรรมการได้สุ่มสำรวจตรวจสอบข้อมูล นำมาประเมินเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน พบว่า ในจำนวน 87% เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ อีก 13% ต้องมีการปรับระยะเวลาให้ยาวขึ้นถึงจะชำระหนี้ได้

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท