ชู" ภาคประชาชน" ร่วมกำหนดนโยบายดับไฟใต้

ประชาไท - 10 พ.ย.47 "มันไม่ง่ายที่จะให้เราให้อภัยคนที่ฆ่าคนที่เรารักที่สุด ไม่ว่าลูกชายหรือสามี แต่เราต้องร่วมกันสร้างเงื่อนไขที่ทำให้แม่และเมียของผู้ที่เสียชีวิตด้วยมือรัฐสามารถกล่าวคำให้อภัยออกมา ซึ่งหมายความว่าต้องทำให้เขาเชื่อว่าสังคมยังมีความเป็นธรรม ถ้าทำได้ประเทศไทยยังมีความหวัง" รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม
ศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานสัมมนา "จากกรือเซะถึงตากใบ : ความรุนแรงกับความหวังของสังคมไทย"

รศ.ดร.เกษียร ซึ่งเป็น 1 ใน 160 คนที่ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เห็นว่า รัฐควรยกเลิกกฎอัยการศึกและถอนทหารจากพื้นที่โดยด่วน เพราะทหารไม่ได้ถูกฝึกมาให้เข้าใจหลักการวิวาทะอย่างสร้างสรรค์ตามหลักประชาธิปไตย

นอกจากนี้ยังต้องเปิดเกมรุกทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่ความหมายแบบที่ราชการไทยเข้าว่า เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยา ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการทุ่มงบประมาณลงไปในพื้นที่

รศ.ดร.เกษียรกล่าวว่า ภาคประชาชนไม่ควรรอการแก้ปัญหาจากรัฐ แต่น่าจะมีการเปิดเวทีสาธารณะแห่งชาติ เพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหาและกำหนดนโยบาย โดยอยู่บนฐานที่ไม่ต้องการแยกดินแดน ยืนหยัดปฏิเสธความรุนแรงที่เป็นอยู่ และไม่ยอมรับการเมืองในภาคใต้อย่างที่เป็น

ทั้งนี้ ต้องนำข้อเสนอเรื่องการจัดการพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในอดีตมาพิจารณา ทั้งข้อเรียกร้อง 7 ประการของฮัจญีสุหรง ปี 2490 แนวนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี หรือข้อเสนออื่นๆ ที่เคยมี

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ โดยเสนอแนวคิด "เขตปลอดการฆ่า" ซึ่งเริ่มจากจากนำพื้นที่ในภาคใต้ซึ่งยังไม่มีเหตุรุนแรงเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนดูแลตนเอง โดยทุกฝ่ายที่จะเข้ามาต้องปลดอาวุธ เพื่อให้เห็นว่าภาคใต้ยังมีพื้นที่ที่สีขาว และเพื่อให้ประชาชนหลุดออมากจากโรคร้ายแรงที่สุดของความรุนแรงคือ ความสิ้นหวัง รวมทั้งสภาวะอัมพาตของสังคม

"คนที่คิดว่านี่คือความฝันอาจเรียนรู้โลกนี้น้อยไปหน่อย ในโคลัมเบียซึ่งถูกเบียดขับถึง 4 ฝ่ายก็เคยทำอันตรายมีแต่น่าเสี่ยง ดังนั้นคนเสี่ยงซึ่งคือประชาชนในพื้นที่จะต้องเป็นคนริเริ่มเอง" รศ.ชัยวัฒน์กล่าว

พร้อมทั้งยืนยันว่าเขาไม่เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะมีแนวคิดต่อต้านมุสลิม เพราะนายกรัฐมนตรีมีความเป็นนักธุรกิจเกินกว่าที่จะเป็นเช่นนั้น แต่อาจเป็นไปได้ว่ามีการใช้ภาคใต้เป็นเวทีแสดงความเด็ดขาดของผู้นำ เพื่อเป็นประโยชน์ทางการเมืองระยะสั้น ระหว่างที่ยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ใน ช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสังคมไทยในระยะยาวอย่างมาก

รศ.ชัยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ในสถานการณ์เฉพาะหน้ารัฐจะต้องหยุดก่อความรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรก และให้ประชาชนช่วยกันร่างนโยบายความมั่นคงในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ฉบับใหม่ เพื่อเป็นแนวทางให้แก่รัฐบาล ไม่ว่าชุดใดก็ตาม

"สิ่งที่ชาวบ้านต้องการไม่ใช่เงิน หรือข้าราชการที่เป็นมุสลิม แต่คือความจริงกับความเป็นธรรม สองอย่างนี้รัฐให้ได้ไหม ขอมากไปหรือไม่ มันเป็นข้อเรียกร้องในฐานะพลเมืองของรัฐ ไม่ใช่ไทยพุทธหรือไทยมุสลิม" รศ.ชัยวัฒน์กล่าว

ด้านนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า เราต้องยืนยันในหลักการของรัฐเดี่ยว แต่รัฐเดี่ยวที่ใช้คติค่านิยมที่รวมศูนย์อำนาจสุดขั้วเป็นศูนย์กลางทุกอย่างเป็นสาเหตุใหญ่ประการหนึ่งที่เกิดปัญหาไม่เฉพาะภาคใต้ แต่เป็นกับสังคมชายขอบทั่วประ เทศ จึงควรทบทวนการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง

"เป็นโอกาสดีที่จะดูแนวทางการปรับตัวของรัฐเดี่ยวให้เป็นรัฐสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการจัด ตั้งเขตปกครองพิเศษ ไม่ได้แปลว่ายกเลิกรัฐเดี่ยว ดังตัวอย่างในหลายๆ ประเทศ" นายนครินทร์กล่าว

สันติชัย อาภรณ์ศรี และมุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท