Skip to main content
sharethis

"รัฐบาลจะทำอะไรต้องอาศัยภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐบาลไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือนั้นได้" คำให้การนายกรัฐมนตรีเมื่อเวลาประมาณ สี่ทุ่มเศษ ของวันที่ 29 ตุลาคม ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ตากใบจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 85 คนในเวลาต่อมา

นายกกล่าวถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญในค่ำคืนนั้น และอีกหลายคราวในวันอื่น ๆ ที่กล่าวในทำนองว่า ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย จะใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้

นายกฯ กำลังกล่าวถึงนิติรัฐ!!? และรัฐบาลนี้เคารพกฎหมายอย่างยิ่ง!!?

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและประเด็นกฎหมายที่ตามมาในการเสวนาเรื่อง "กรณีตากใบภายใต้กฎอัยการศึก: ความรับผิดชอบและการเยียวยาทางกฎหมาย" * ซึ่งจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลับได้คำตอบในทางตรงกันข้ามอย่างน่าอัศจรรย์

ประชาไทย อาศัยแกนหลักจากการเสวนาดังกล่าวซึ่งนักวิชาการกฎหมายได้ตั้งประเด็นไว้ นำมาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอประเด็นกฎหมาย ซึ่งถูกนำมาใช้อ้างอิงเสมอ ๆ เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ตากใบและเป็น
ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับกรณีตากใบที่สามารถยุติได้โดยไม่สามารถแปรเป็นอื่น เนื่องจากถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

กฎอัยการศึกปฐมบทแห่งการละเมิดรัฐธรรมนูญโดยรัฐ
พื้นที่อ. ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งหมายความว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของทหาร โดยลดอำนาจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนลง และยังรอนสิทธิของประชาชนในพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึกไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารได้

กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ. 2457 นั่นหมายความกฎหมายฉบับดังกล่าวประกาศใช้มาก่อนประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย

อันที่จริงแล้ว ไม่เฉพาะกฎอัยการศึกเท่านั้นที่เป็นกฎหมายเก่า และมีบางมาตราที่ขัดกับรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ นี่คือปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้คลี่คลายลง กฎหมายเก่าหลายฉบับต้องถูกยกเลิกเนื่องจากมีมาตราที่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญแต่กลับยังคงใช้อยู่และสร้างปัญหาละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากกว่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์รัฐไทย โดยระบุไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ตั้งแต่มาตรา 26 - 65 มีเนื้อหาในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพเช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สิน สิทธิในการแสดงออก เช่นการเขียน การพูด การชุมนุม สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในครอบครัว เสรีภาพในเคหสถาน เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐาน เสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในทางวิชาการ ฯลฯ
สำหรับกฎอัยการศึก มาตราที่ละเมิดสิทธิของประชาชนซึ่งรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ได้แก่มาตรา 12 -16 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารที่จะเข้ายึด อาศัย ทำลาย ขับไล่ กักขังตัวบุคคล และรอนสิทธิประชาชนไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร

ข้อบัญญัติในกฎอัยการศึกละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายมาตรา อาทิเช่น มาตรา 29 (หลักสิทธิเสรีภาพ) มาตรา 31 (สิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย) มาตรา 35 (เสรีภาพในเคหสถาน) มาตรา 48 (สิทธิในทรัพย์สิน) เป็นต้น

การจับกุม 6 ชรบ. โดยละเมิดหลักกฎหมาย

ชนวนอันนำไปสู่การชุมนุม และการสลายการชุมนุมอันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 84 ศพ มาจากการละเมิดหลักกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปฐม

การจับชรบ. 6 คนในข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ผิดตามมาตรา 137 จำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และ ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มาตรา 352 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รัฐธรรมนูญมาตรา 237 กำหนดหลักในการจับกุมและขังผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาไว้ดังนี้

ในคดีอาญา การจับกุมและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับ โดยไม่ชักช้า กับต้องได้รับโอกาสหรือแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบในโอกาสแรก และผู้ถูกจับกุมซึ่งยังถูกควบคุมอยู่ต้องถูกนำตัวไปศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับกุมถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับได้หรือไม่ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
หมายจับหรือหมายขังบุคคลจะออกได้ก็ต่อเมื่อ
(1) มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาร้ายแรงที่มีอัตราโทษตามที่กฎหมายบัญญัติหรือ
(2) มีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นด้วย

จากมาตรา 237 สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติ คือ ต้องขอหมายจับจากศาล ซึ่งจากกรณีที่เกิดขึ้นกับชรบ. ทั้ง 6 คนนั้น ไม่แน่ชัดว่าตำรวจได้ขอหมายจับ จากศาลตามที่บัญญัติไว้ในรธน. หรือไม่

ประการต่อมา เมื่อจับแล้วจะต้องแจ้งข้อกล่าวหาอย่างละเอียดและแจ้งแก่ญาติหรือผู้ที่ผู้ถูกจับกุมไว้ใจ ไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามบทบัญญัติประการนี้หรือไม่

ประการต่อมา ภายหลังการจับกุม ผู้ถูกจับกุมจะต้องถูกนำตัวไปศาลภายใน 48 ชั่วโมง นับจากเวลาที่ถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน (สถานีตำรวจ) ไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติดังนี้หรือไม่

ประการต่อมา การนำตัวไปยังศาลก็เพื่อให้ศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับได้หรือไม่ ถ้าไม่มีเหตุก็ต้องปล่อยตัวไป

ทั้งนี้ ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุดได้อธิบายเหตุตามที่มาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดต้องอยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
1. จะต้องเป็นความผิดร้ายแรง ความผิดร้ายแรงหมายถึงความผิดที่ต้องมีการสืบประกอบ คือความผิดที่ต้องระวางโทษตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
2. มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำผิดอาญา และจะหลบหนี
3. มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำผิดอาญาและจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ตามความเห็นของดร. คณิต ณ นคร พิจารณาจากข้อเท็จจริงคดี ชรบ. 6 คน พบว่าความผิดที่ถูกล่าวหาทั้ง 2 กระทง ไม่เข้าข่ายความผิดตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 237 กำหนด อีกทั้งยังไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาทั้ง 6 จะหลบหนีและจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอื่นใดได้ จึงไม่เข้าข่ายที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 จะถูกจับกุมไว้บนโรงพักสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จนกระทั่งเป็นเหตุให้เกิดการเรียกร้องให้ปล่อยตัวและลุกลามไปสู่การชุมนุม และมีการสลายการชุมนุมจนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมและระหว่างขนย้ายผู้ต้องหาจำนวนทั้งสิ้น 84 ศพในที่สุด

นอกจากนี้ข้อเท็จจริงอีกประการซึ่งยังไม่กระจ่างคือ การกักขังดังกล่าวกระทำโดยศาลสั่งหรือไม่ เพราะบทบัญญัติมาตรา 237 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้การกักขังผู้ถูกกล่าวหาต้องสั่งโดยศาล

สรุป การจับหรือการควบคุมคน 6 คนเป็นปัญหากฎหมายมาแต่ต้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามหลักที่รัฐธรรมนูญกำหนดในประเด็นการขังผู้ถูกกล่าวหา และข้อเท็จจริงอีกหลายประการที่ไม่ปรากฏทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามหลักที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ครบถ้วนหรือไม่ ถ้าไม่...นี่คือจุดเริ่มต้นละเมิดกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเอง

ตอนต่อไป ประเด็นสลายการชุมนุมซึ่งไม่มีกฎหมายฉบับใดสามารถคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐจากความรับผิดในการตายของผู้ชุมนุม

*หมายเหตุ
การเสวนา "กรณีตากใบภายใต้กฎอัยการศึก: ความรับผิดชอบและการเยียวยาทางกฎหมาย" จัดขึ้นโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายกันในประเด็นกฎหมาย โดยวิทยากรประกอบด้วย นายทองใบ ทองเปาด์ สว. มหาสารคาม ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ๊งประพันธ์ นักวิชาการนิติวิทยาศาสตร์ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย ศ.ดร.คณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด อ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. ดำเนินรายการโดย อ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net