Skip to main content
sharethis

บูรณาเกินพ่นพิษศูนย์ประชุมส่อแห้ว
ที่ไม่ได้/งบบานปลาย-ถอยหลังเข้าคลอง

ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ที่ภาคเอกชนผลักดันมาเกือบ 10 ปี ยังไม่พ้นวิบากกรรม

แม้ครม.มีมติให้ก่อสร้างได้แล้ว แต่เพราะพิษของการ "บูรณาเกิน" แท้ๆ ทำเอาตอนนี้ต้องกลับเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เมื่อทั้งที่ดินมีปัญหา แถมงบประมาณยังบานปลายไปอีกกว่า 400 ล้านชนิดที่รองนายกรัฐมนตรีมึนตึ๊บ และอาจต้องย้ายกลับไปอยู่ที่เดิม

//////////////
ความฝันที่จะให้เชียงใหม่มีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี โดยการผลักดันของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ คาดหวังว่าตลาดประชุมสัมมนาจะยกระดับนักท่องเที่ยวได้ส่วนหนึ่งและระยะวันพำนักที่เพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลให้แวดวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเชียงใหม่บูมไปด้วย

ภาคเอกชนนำเสนอแนวคิดนี้กับรัฐบาลมายาวนาน การตอบสนองอย่างมากคือการนำเข้าหารือและเป็นมติเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี แต่ก็ค้างเติ่งไม่เป็นรูปธรรมสักที จนยุคของนายกรัฐมนตรีคนเมือง โครงการนี้ได้ถูกหยิบมาปัดฝุ่นเอาจริง มติ ครม. เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2546 เป็นรูปธรรมมาก สั่งการให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯ บริเวณที่ดินฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ย่านหนองฮ่อ ต.ช้างเผือกด้วยงบประมาณ 1,450 ล้านบาท

ททท. ได้มอบเงินค่าย้ายที่ฝึกรด. ให้กระทรวงกลาโหมไป 230 ล้านบาท และว่าจ้างบริษัท บริษัทดีไซน์ 103 อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด บริษัทแอคซิสกรุ๊ป จำกัด และบริษัทโฟร์ไลน์จำกัด เป็นผู้ออกแบบ พื้นที่นั้นจะอยู่รวมกับศูนย์เอสเอ็มอีของกรมส่งเสริมการส่งออกและตลาดกลางสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

การติดตามความคืบหน้าโครงการทำอย่างต่อเนื่องทุกเดือนโดยมีคณะกรรมการติดตามความก้าวหน้าโครงการตามดำริของนายกรัฐมนตรี แต่มาวันหนึ่งก็ย้ายด่วนสายฟ้าแลบโครงการนี้ ให้ศูนย์ประชุมแห่งนี้ไปสร้างที่ต.แม่เหียะติดกับไนท์ซาฟารี เพราะเป็นที่เดียวกันกับการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมพืชสวนโลก ที่จะมีคนหลั่งไหลมานับล้าน และเงื่อนไขสำคัญของการเป็นเจ้าภาพงานนี้คือจะต้องมีศูนย์ประชุมนานาชาติด้วย

มติ ครม. 28 ตุลาคม 2546 จึงให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างเป็นที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวง
ตำบลแม่เหียะ ที่เดินที่เปลี่ยนทำให้ต้องปรับแบบการก่อสร้างและเงื่อนไขการรองรับงานใหญ่ทำให้บริษัทออกแบบขยายพื้นที่ใช้สอยใหญ่โตออกไปจากที่กำหนดในทีโออาร์อีกถึงเท่าตัว และยุ่งไปกันใหญ่เมื่อรู้ว่าที่ดินที่ได้ย้ายมาตามมติครม.นั้น ไม่สามารถก่อสร้างได้ เพราะเป็นที่ดินเขตอุทยานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างที่เข้าใจ

การมาตรวจราชการที่จังหวัดเชียงใหม่ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2547 มีการหยิบเรื่องนี้เข้าหารือกันอย่างเคร่งเครียด

จุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุว่าททท.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดได้เพราะไม่ได้รับการส่งมอบพื้นที่จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ดูแลการจัดทำมหกรรมพืชสวนโลก และขณะนี้มหกรรมดังกล่าวก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ได้จัด เพราะประเทศจีนเป็นเจ้าภาพไปก่อน ทำให้ขนาดของการจัดงานลดลงมาเหลือระดับประเทศ ทว่าความคืบหน้าการออกแบบศูนย์ประชุมได้ดำเนินการไปแล้ว และจะยื่นงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 400 ล้านบาทเพราะการเปลี่ยนสถานที่และการออกแบบเพิ่มทำให้ค่าก่อสร้างเพิ่ม ส่วนเรื่องที่ดินก็ไม่ชัดเจนเพราะกลายเป็นว่าเป็นที่ดินของกรมอุทยานฯ

นายวิชิต พัฒโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานชี้แจงว่า พื้นที่กว่า 3,000 ไร่ย่านนี้เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอนุญาตให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรเช่าระยะ 30 ปี แต่ปี 2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ดังกล่าว และสัญญาเช่าที่ก็สิ้นสุดลงไปแล้ว

ดังนั้นการที่ททท.จะเข้าดำเนินการในพื้นที่ 250 ไร่นับจากนี้สิ่งที่ควรทำคือทำเรื่องขอเพิกถอนออกกฤษฎีกาแต่ใช้ระยะเวลานาน 1 - 2 ปี หรือดำเนินการตามพ.ร.บ.อุทยาน พ.ศ.2504 โดยอาศัยอำนาจจากเจ้าหน้าที่อุทยานไปก่อน ซึ่งสามารถทำได้ตามมาตรา 16 การดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์การคุ้มครองดูแลรักษาการท่องเที่ยวการนันทนาการ และประโยชน์ทางวิชาการการศึกษาหาความรู้ของประชาชน สามารถดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในฐานะปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นว่ากรณีนี้ไม่ควรเพิกถอนพื้นที่ออกจากกรมอุทยาน เพราะไม่เคยมีการทำมาก่อนนอกจากโครงการในพระราชดำริที่เขาใหญ่ซึ่งเป็นการเพิกถอนแบบมีเงื่อนไขว่าเมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วเสร๋จจะต้องประกาศเป็นเขตอุทยานใหม่ด้วยซ้ำ แต่ควรใช้วิธีให้คณะทำงานของอุทยานแห่งชาติอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่โดยอำนาจของอธิบดีกรมอุทยานฯ และควรปรับสภาพแบบแปลนใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นอุทยาน

แต่ผู้ว่า ททท.มองว่าจะเหมือนกรณีของเขาใหญ่ที่การที่ททท.จะเข้าไปดำเนินการใดจะต้องได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่ของอุทยานก่อนทั้งหมดซึ่งไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการอย่างยิ่ง

นอกจากนั้นยังมีประเด็นของการก่อสร้างที่เพิ่มเข้ามานั่นคือ การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่
ตามที่ออกแบบในพื้นที่อุทยานฯ เช่นนี้ ททท.จะต้องทำตามกฎหมายคือการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก่อน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายวิชิต พัฒโกศัย รองอธิบดีกรมอุทยานรายงานต่อนายสุวัจน์ว่า ถ้าดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่เขตอุทยานฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะศึกษาต่อเมื่อเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมเท่านั้น สามารถทำได้ (ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ไนท์ซาฟารีไม่ทำอีไอเอ) แต่นายวิชิตกล่าวต่อว่า เนื่องจากพิจารณาพื้นที่แล้วเห็นว่าโครงการศูนย์ประชุมฯแห่งนี้ เป็นโครงการใหญ่ ใช้เงินมาก อนาคตมีการบริหารจัดการด้านการตลาด ดังนั้นเพื่อความรอบคอบให้ดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย

ปัญหาที่ดินที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ นายสุวัจน์ได้สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมอุทยาน และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมได้มาประชุมร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม. คณะที่ 4 ซึ่งตนเป็นประธานเพื่อความชัดเจนด้านกฏหมายทั้งเรื่องของการใช้ที่ดิน และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งหากไม่สามารถดำเนินการใดได้ ก็อาจจะต้องย้ายกลับไปใช้พื้นที่เดิมที่ย่านหนองฮ่อ ซึ่งได้จ่ายเงิน 230 ล้านบาทให้กระทรวงกลาโหมไปแล้ว

ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติแห่งนี้ยังได้ของบประมาณเพิ่มเติมอีกกว่า 400 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่าเมื่อเปลี่ยนพื้นที่ แบบก็ต้องเปลี่ยนไป มีการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นมาจากที่ทีโออาร์กำหนดถึงเท่าตัว

ทีโออาร์กำหนดพื้นที่ไว้ 30,000 ตรม. แต่ได้ออกแบบเพิ่มเติมรวมเป็น 60,000 ตรม. ที่นั่งประชุมกำหนด 3,000 ที่นั่งแต่ได้ออกแบบให้ขยายรองรับได้ถึง 10,000 ที่นั่ง แต่การออกแบบพื้นที่จริงได้เพิ่มส่วนพื้นที่ว่างโดยรอบเข้าไปเพื่อความจุคนที่จะมาประชุมมหกรรมพืชสวนโลกด้วย
ผู้ว่าฯ ททท.ยอมรับว่าที่ทีโออาร์กำหนดสเกลไว้รับการประชุมสูงสุด 3,000 คน เพื่อการทำตลาดที่ง่ายด้วย ส่วนขนาดการประชุมใหญ่ระดับ 10,000 คนขึ้นไปคงไม่สามารถมีได้บ่อยนัก แต่เมื่อเงื่อนไขของมหกรรมพืชสวนโลก ความต้องการของในจังหวัดที่เห็นว่าเมื่อจัดทำแล้ว พื้นที่แสดงโอทอปพ่วงเข้ามาด้วย จึงต้องขยายพื้นที่ออกไปรวมทั้งค่าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นและระบบการจัดการด้วยไอที

โดยตัวเลขการก่อสร้างปัจจุบันอยู่ที่ 1,652.19 ล้านบาท หากลบงบประมาณเดิมที่อยู่ในพื้นที่หนองฮ่อซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของมติครม .คือ 1,450 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 1,220 ล้านบาท ค่าการย้ายสถานที่ 230 ล้านบาทที่จ่ายให้กระทรวงกลาโหมไปแล้วแต่ไม่ได้ใช้พื้นที่และไม่ได้รับเงินคืน ดังนั้นงบประมาณที่จะขอครม.เพิ่มเติมนี้คือยอด 432 .19 ล้านบาท ซึ่งนายสุวัจน์กล่าวว่าเป็นการของบประมาณสูงเพิ่มขึ้นจากยอดที่จะก่อสร้างเดิมถึง 40 % และไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

รองนายกรัฐมนตรี ชี้ให้เห็นว่าความจำเป็นที่จะใช้งานจริงและความเป็นไปได้เรื่องการตลาดคือสิ่งสำคัญ ศูนย์ประชุมแห่งนี้จะต้องรองรับคนเป็นหมื่นอยู่อีกหรือในเมื่อมหกรรมพืชสวนโลกก็ไม่ได้จัดแล้ว และความใหญ่จะส่งผลให้อุ้ยอ้ายเป็นภาระการบริหารจัดการในอนาคต ค่าใช้จ่ายอันเป็นต้นทุนอาจทำให้ศูนย์ฯแห่งนี้ขาดทุนไปได้ เขาจึงต้องนำเรื่องนี้เข้าหารือเป็นการด่วนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้อย่างไร ทั้งเรื่องพื้นที่ก่อสร้างและขนาดที่แท้จริง โดยเห็นว่าอย่างไรเสียศูนย์ประชุมนานาชาติจะต้องเกิดขึ้นที่เชียงใหม่ แต่จะเป็นที่ไหนและขนาดใดเท่านั้น

แนวโน้มของการตัดสินใจโครงการนี้ น่าจะอยู่ที่การกลับมาใช้ที่ 250 ไร่ย่านหนองฮ่อตามเดิม และขนาดของโครงการรวมทั้งแบบอาจต้องปรับเปลี่ยนไปอีกครั้ง เพราะตัวอย่างเคยมีให้เห็นกับศูนย์เอสเอ็มอีที่อยู่ย่านหนองฮ่อ ซึ่งเมื่อศูนย์ประชุมแห่งนี้ย้ายพื้นที่ไปศูนย์เอสเอ็มอีได้ขยายพื้นที่ใช้สอยให้ใหญ่ขึ้นจนเมื่อเข้าครม.แล้วนายกรัฐมนตรีตีเรื่องกลับมาบอกว่าไม่อยากให้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความผิดพลาดมาแล้ว และศูนย์ประชุมแห่งนี้กำลังจะซ้ำรอยซึ่งเม็ดเงินที่สูญเปล่าและช่วงเวลาที่สูญเสียนี้นับว่าไม่ใช่น้อย ไม่รวมการเสียโอกาสทางการตลาดไปด้วย
นี่แหละพิษของการบูรณาเกิน !

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net