Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากนึกถึงแม่น้ำสาละวิน คนไทยหลายคนคงรู้จักว่าเป็น เส้นแบ่งพรมแดน ระหว่างไทย-พม่า บริเวณจ.แม่ฮ่องสอน ที่ยาวกว่า 118 กม. ตั้งแต่ อ.แม่สะเรียง ไล่เรื่อยจนเข้าสู่รัฐกะเหรี่ยงในพม่าอีกครั้งที่ อ.สบเมย ก่อนไปไหลลงสู่ทะเลที่เมืองมะละแหม่ง ในรัฐมอญ

ตลอดสองฟากฝั่งริมน้ำสาละวิน และแม่น้ำสาขาเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อาศัยเพาะปลูกพืชริมฝั่งยามฤดูน้ำลด รวมทั้งอาหารตามธรรมชาติโดยมีพันธุ์ปลากว่าร้อยชนิดที่อพยพขึ้นลงระหว่างสาละวินกับแม่น้ำสาขา

ขณะที่ผืนป่าในบริเวณนี้ มีทั้งพรรณพืชเขตหนาวซึ่งได้รับอิทธิพลจากเทือกเขาหิมาลัยและ อีกส่วนหนึ่งเป็นพืชผลัดใบเขตมรสุมชนิดที่พบทางอินโดจีน ซึ่งนักนิเวศวิทยาจัดให้เป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก สาละวินจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและสลับซับซ้อน และความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าวได้รับรองโดยรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 43 ให้แม่น้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่าเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

ต้น พฤษภา 46 สาละวินเปล่งประกายต้องแสงแดดยามสายอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้า ณ บ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายสินค้าระหว่างสองฟากฝั่งทั้งชาวรัฐคะยาห์หรือรัฐคะเรนนี รัฐกะเหรี่ยงรวมทั้งชาวบ้านฝั่งไทยมาช้านาน โดยพ่อค้าจากฝั่งไทยจะส่งออกน้ำมันพืช เสื่อ และรองเท้า ส่วนฝั่งพม่าขายพริกและหัวหอมให้ไทย

เรือแล่นทวนน้ำจากแม่สามแลบไปเพียง 30 นาทีคือบ้านท่าตาฝั่งเป็นจุดที่จะสร้างเขื่อนตอนล่าง และถ้าแล่นเรือต่อไปอีก 2 ชั่วโมงครึ่งเป็นจุดที่จะสร้างเขื่อนตอนบน ลึกเข้าไปในฝั่งไทยคือบ้านแม่แต๊ะหลวง ปัจจุบันพื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกประกาศเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ซึ่งจะจมหายไปกับสายน้ำทันทีที่เขื่อนมาเยือน

ค่ำคืนนั้นเสียงพ่อหลวงดังก้องท่ามกลางชาวบ้านที่มารวมตัวเพื่อรับฟังข่าวคราวที่กำลังมาถึงหมู่บ้านแม่แต๊ะหลวง "บางคนฟังแล้วอาจจะอยากได้เงิน เพราะเงินซื้ออะไรก็ได้ แต่ซื้อวิถีชีวิตที่มีมาเป็นร้อยปีไม่ได้ ถ้าสร้างเขื่อนก็คงอยู่ไม่ได้ ไม่รู้จะย้ายไปอยู่ที่ไหน" มันเป็นความผูกพันที่เกินจะเอ่ยถึงการอพยพโยกย้าย

ชาวบ้านเล่าว่าเคยมีไฟไหม้บ้านแต่คนแก่ไม่ยอมย้ายออกมาบอกว่าเกิดที่ไหนจะตายที่นั่น ในพื้นที่ อ.ม่สะเรียงและ อ.สบเมยในปัจจุบันมีชาวบ้านที่อพยพมาจากพื้นที่ที่สร้างเขื่อนภูมิพล เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านนึกไม่ออกว่าจะต้องโยกย้ายออกไปอยู่ที่ใด ที่เชียงใหม่ก็มีคนจำนวนมาก หากจะไปรับจ้างชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ก็มีปัญหาในการพูดภาษาไทย และการพลัดพรากของญาติพี่น้องย่อมตามมา

โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ที่มีการศึกษาไว้และกำลังถูกผลักดันในขณะนี้ คือเขื่อนตอนบน-ล่าง ช่วงอำเภอแม่สะเรียง โดยใช้เทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าแบบสูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างกลับขึ้นไปใช้ใหม่ จึงต้องสร้างเขื่อนสองเขื่อนควบคู่กันมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าของโครงการร่วมกับรัฐบาลพม่า

โครงการเขื่อน ตอนบน ตั้งอยู่ที่ เว่ยจี สูง 168 เมตร กำลังผลิตติดตั้ง 4,540 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินของประเทศไทยและพื้นที่รัฐคะเรนนี และเขื่อน ตอนล่าง ตั้งอยู่ที่ ดา-กวิน สูง 49 เมตร กำลังผลิตติดตั้ง 792 เมกะวัตต์ ซึ่งน้ำจะท่วมอุทยานแห่งชาติสาละวิน และรัฐกะเหรี่ยง ในฝั่งพม่า ซึ่งยังขาดความชัดเจนในเรื่องพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งน้ำที่จะเอ่อท่วมเข้าไปยังลำน้ำปาย ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเฉพาะฝั่งพม่าที่ยากต่อการเข้าไปสำรวจ

กระแสน้ำไหลเชี่ยวท่ามกลางเขาสูงตระหง่านนิ่งสงบ สาละวินกลายเป็นดินแดนที่ถูกปิดลับและดูลางเลือนมาหลายสิบปี นับแต่ฟากฝั่งตะวันตกคุกรุ่นด้วยไฟสงครามซึ่งไม่รู้ว่าจะมอดลงวันใด แม้ว่าเราจะอยู่ไม่ห่างไกลนัก แต่ริมฝั่งสาละวินคงได้ต้อนรับผู้คนเพียงไม่กี่กลุ่มที่สัญจรไปสู่

ตลอดลำน้ำนอกจากเป็นที่ตั้งของชุมชนแล้ว ยังเป็นที่มั่นสำคัญของกองกำลังกู้ชาติกลุ่มต่างๆ จากด้านใต้ของรัฐฉานก่อนถึงรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำจากเขื่อนตอนบนจะเอ่อท่วมเป็นบริเวณกว้างนั้น คือ รัฐคะเรนนี หรือ รัฐคะยาห์ ซึ่งคนไทยรู้จักในนามกะเหรี่ยงแดง แผ่นดินคะเรนนีอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามหาศาล เฉพาะแร่ธาตุมีไม่น้อยกว่า 10 ชนิด เช่น ทองคำขาว ทองคำ เหล็ก ตะกั่ว พลอย ดีบุก วูลแฟรม และก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งไม้สักดำซึ่งเป็นไม้สักหายาก

การสู้รบเพื่อเข้าครอบครองดินแดนแห่งนี้จึงมีมาโดยตลอด แต่จนปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าก็ยังไม่สามารถทำสำเร็จ กว่า 50 ปีที่ผ่านมานักรบคะเรนนีต่อสู้อย่างเข้มแข็งภายใต้ พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNPP ที่เป็นเสมือนตัวแทนทางการเมืองของชาวคะเรนนี และถึงแม้ว่า KNPP เคยเจรจาหยุดยิงไปแล้วแต่ดูเหมือนว่าเสียงปืนยังไม่เงียบหายไปเช่นเดียวกับพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ

ถัดลงมาเลาะเลียบริมฝั่งชายแดนไทย-พม่า คือ รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ขับเคี่ยวมายาวนานจนขึ้นชื่อว่าเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่า ในปี 2490 ชาวกะเหรี่ยงรวมตัวกันตั้งองค์กรดูแลประชาชนในนาม องค์กรสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ซึ่งประกาศปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระ โดยต่อสู้แบ่งแยกดินแดนซีกตะวันออกของพม่าตลอดฝั่งน้ำเมยและลุ่มน้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทย-พม่าเป็นเขตปกครองตนเอง โดยเรียกแผ่นดินผืนนี้ว่า กอทูเล -ดินแดนอันบริสุทธิ์ ปราศจากความชั่วร้ายทั้งมวล

หลังจาก มาเนอร์ปลอว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของกอทูเลล่มสลายลง เหล่าผู้นำของ KNU มาพำนักและบัญชาการรบในฝั่งไทย ขณะที่เหล่านักรบยังเรียงรายอยู่ตลอดริมน้ำ และผู้ลี้ภัยในค่ายอพยพในฝั่งไทยซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงยังคงมีจำนวนมากที่สุด

ความหวังและความฝันที่เขื่อนสาละวินถูกนำมาขายโดยกฟผ. มีตั้งแต่ค่าไฟฟ้าราคาถูกที่คาดว่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 35,000 ล้านหน่วย ราคาอยู่ที่ประมาณ 90 สตางค์ต่อหน่วย กฟผ.จะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าปีละ 30,000 ล้านบาท ทำให้ไทยประหยัดเงินกว่าปีละ 4,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องลงทุน นั่นคือสำหรับคนไทย

แต่สำหรับคนในพม่า สิ่งที่จะถูกนำมาคิดคำนวณเป็นต้นทุนนั้นยังเป็นคำถามที่ค้างคา ที่ผ่านมาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ตั้งแต่การบังคับใช้แรงงาน การบังคับโยกย้าย การข่มขืน ล้วนเป็นต้นทุนที่ไม่เคยถูกนำมาพูดถึง ซึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของกองกำลังทหารพม่าในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาพร้อมกับโครงการพัฒนา เช่น การสร้างถนน ท่อก๊าซ การสร้างเขื่อน ฯลฯ

นอกจากนี้เขื่อนสาละวินจะเป็นตัวเชื่อมโยง โครงข่ายพลังงานในภูมิภาคอาเซียน (Asean Power Grid) ซึ่งจะทำให้กฟผ.เป็นองค์กรชั้นนำด้านพลังงานและธุรกิจการจัดหาไฟฟ้าในภูมิภาค โดยไทยจะเป็นเหมือนพ่อค้าคนกลางที่จะทำการขายไฟฟ้า นั่นคือสิ่งที่ไทยต้องการไปสู่แต่จะนำพาพม่า ซึ่งยังมีความขัดแย้งปะทุอยู่ทุกย่อมหญ้าไปสู่นั้นคือสิ่งใด เราไม่รู้และไม่เคยตั้งคำถาม

ข่าวการเตรียมเดินทางไปเซ็นลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 เขื่อน บนแม่น้ำสาละวินปลายเดือนตุลาคมดังขึ้นและเงียบหายไป พร้อมกับสถานการณ์ทางการเมืองพม่าที่ส่งสัญญาณมาสู่เมืองไทย ให้คิดคำนึงถึงความเป็นจริงที่ควรตระหนัก แต่เขื่อนที่มีการรื้อมาใหม่อีก 2 เขื่อนคือ เขื่อน ฮัทจี และ ตะนาวศรี ซึ่งอยู่ถัดไปด้านล่างเว่ยจีและดากวินในรัฐกะเหรี่ยงเป็นข่าวร้ายที่ตามมาถึงสาละวินอีกระรอก

กรุงเทพมหานคร 10 พฤษจิกายน ที่งานเปิดตัวหนังสือ "เขื่อนสาละวิน โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน" ฉบับภาษาอังกฤษ เสียงหนึ่งของผู้พลัดถิ่นจากพม่าฝากถึงพวกเราว่า อย่าส่งเสริมและสนับสนุนโครงการใดๆเลย ตราบใดที่พม่ายังไม่มีสันติภาพ และสันติสุขอย่างแท้จริง เพราะมันจะนำสิ่งเลวร้ายและความทุกข์ยากมาสู่ ไม่ใช่การพัฒนา

"ท่ามกลางสงครามที่เกิดขึ้น สิ่งที่ล้มตายไปไม่ใช่ทหารของทั้งสองฝ่าย สิ่งที่ถูกตีแตกจนล่มสลายไม่ใช่ฐานที่มั่นหรือค่ายทหารของฝ่ายขบถ ชนเผ่าต่างๆและหมู่บ้านอันนับไม่ถ้วนต่างหากที่ถูกโจมตีอย่างหนักหน่วง รุนแรง เผ่าพันธุ์เหล่านั้นกำลังล่มจมลง พวกเขาคือผู้พ่ายแพ้ที่แท้จริง...." สัญจรสู่สาละวิน-ถนนธงชัย โดย คืน ญางเดิม

จันลอง ฤดีกาล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net