Skip to main content
sharethis

ผมเห็นเขายิง

"นายมะยูดีน อาแว" เด็กหนุ่มวัย 19 ปี จากตำบลกายูคล๊ะ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นอีกคนหนึ่งที่บาดเจ็บระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมหน้าโรงพักตากใบ จังหวัดนราธิวาส มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

อาการบาดเจ็บของ "นายมะยูดีน อาแว" อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง จนทางโรงพยาบาลปัตตานี ต้องส่งมาให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับช่วงดูแล มี "นายแพทย์ศิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล" เป็นแพทย์เจ้าของไข้

"นายมะยูดีน อาแว" ได้รับบาดเจ็บที่แขนขวา ที่มองเห็นร่องรอยน้ำเหลืองซึมออกจากผ้าพันแผลตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีรอยถลอกตามลำตัวตัว และใบหน้า

ทว่า นั่นไม่ร้ายแรงเท่ากับอาการไตวาย เพียงแค่ 2 สัปดาห์ "นายมะยูดีน อาแว" ถูกนำตัวไปฟอกไตแล้ว 3 ครั้ง

"นายมะยูดีน อาแว" บอกเล่ากับ "ประชาไท" ว่า ….

"วันเกิดเหตุมีเพื่อนบ้านมาชวนผมไปตากใบ บอกว่าไปประท้วง ชรบ. ผมไม่รู้ ชรบ. คืออะไร เมื่อเขามาชวน ผมก็ไป ไม่มีใครมาจ้าง ไม่ได้เสพยาเสพติด จะเสพได้อย่างไร ตอนนั้น ยังอยู่ในช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน

พวกเราไปด้วยกัน 5 คน เอารถกระบะของพ่อออกไป พี่ชายผม "อับดุลเลาะ อาแว" เป็นคนขับ เขาถูกจับด้วย ได้ข่าวว่าทหารเอาตัวไปอบรมวิวัฒน์พลเมืองแล้ว
พวกเราไปถึงตากใบประมาณ 11 โมงเช้า ตอนนั้น มีคนมากันมากแล้ว ผมเข้าไปยืนรวมอยู่กับที่มาก่อน ต่อมา มีเจ้าหน้าที่เอาที่กั้นถนน มากั้นล้อมรอบคนที่ชุมนุม คนที่อยู่ข้างในจะออกก็ไม่ได้ คนข้างนอกจะเข้าไปข้างในก็ไม่ได้

ผมอยู่ที่นั่นจนกระทั่งประมาณบ่าย 3 โมง ก็มีการฉีดน้ำใส่คนที่กำลังชุมนุมตรงบริเวณหน้าโรงพัก มีการใช้ระเบิดควันทำให้แสบตา จนเกิดชุลมุนกันขึ้น พอเหตุการณ์วุ่นวาย ผมก็ได้ยินเสียงปืน เท่าที่ผมเห็นมีทั้งยิงใส่คน มีทั้งยิงขึ้นฟ้า

ผมเห็นคนถูกยิงหลายคน แต่ผมไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่ที่ไหน บางคนถูกยิงที่ปาก ถูกยิงเข้าแก้มซ้ายทะลุแก้มขวา บางคนถูกยิงที่ราวนม บางคนที่ถูกยิงที่ท้อง เขายิงมาจากโรงพัก บางคนหนีลงแม่น้ำตากใบ ก็ยังมีคนตามไปยิง ผมเห็นเขาเอาปืนจี้ปากคนที่หนีไปจนมุมอยู่ริมน้ำตรงบันได แต่ผมไม่เห็นคนตายนะ

ส่วนผมหนีลงไปหลบอยู่ที่บันไดลงแม่น้ำ ท่อนล่างแช่อยู่ในน้ำ ตอนนั้น ได้ยินเสียงกระสุนปืนวิ่งผ่านเฉียดตัวผมนิดเดียวหลายนัด น้ำตรงที่กระสุนปืนตกใส่ กระเด็นใส่ผมหลายหน

ผมอยู่ตรงนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง เหตุการณ์จึงสงบลง ผมถูกจับมัดมือไขว้หลัง สั่งก็ให้คลานขึ้นรถทีละคน พอขึ้นไปบนรถ ผมยังถูกตีด้วยเหล็กแบนๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร ถูกตีที่ปาก แก้มขวา ถูกตีที่หัวจนแตกด้วย แต่จำไม่ได้ว่า ตอนไหน

บนรถ ผมนอนคว่ำหน้าอยู่ชั้นล่างสุด ลึกเข้าไปจนเกือบๆ จะถึงด้านในสุด ไม่รู้ว่าถูกทับข้างบนกี่ชั้น ใครที่ร้องว่าเจ็บจะถูกเหยียบ

ตอนอยู่บนรถมีฝนตกลงมา ท่วมขังกระบะรถ แค่ขังกระบะรถน้ำนิดเดียวก็จมรูจมูก เพราะยกหัวไม่ได้เลย ผมว่าคนตายมาก ก็เพราะน้ำท่วมนี่แหละ ใครจะหายใจได้

มีคนขอยืนขึ้น เพราะหายใจไม่ออก แต่กลับถูกราดน้ำ พอขออีกที คราวนี้ถูกเหยียบ
ผมโชคดี เพราะตอนขึ้นมา มีหมวกแก็ปใบหนึ่งตกอยู่บนพื้นรถ เป็นหมวกโค้ก สีแดง ผมเอาหัวเขี่ย เอามารองหน้าไว้

คนที่นอนทับผมตรงแขนขวา ผมกับคนข้างๆ ด้านซ้ายมือ ตายทั้งสองคน ที่ผมรู้ว่าตาย เพราะผมเรียกแล้ว เงียบ ไม่มีเสียงตอบรับ

พวกเราถูกต้อนขึ้นรถ ตอนประมาณบ่าย 3 กว่าๆ มาถึงปัตตานี น่าจะประมาณซัก 6 โมง หรือทุ่มหนึ่ง

พอลงจากรถ ผมเดินไม่ไหว มือข้างขวาไม่มีความรู้สึก หายใจขัด รู้สึกอึดอัด มือเริ่มบวม เขาให้พวกเราไปนั่งรออยู่ในเต้นท์ ปรากฏว่า คนในรถตายกันราวๆ 20 คน น่าจะได้ ผมคิดว่าตายเพราะถูกทับ ส่วนคนที่ผมเห็นกับตาว่าถูกยิง ไม่มีใครรู้ว่า เขาเอาไปไว้ที่ไหน

เขาก็ให้นั่งรออยู่จนถึงประมาณตี 5 ของวันที่ 26 ตุลาคม 2547 ถึงได้เอาข้าวใส่กระป๋องมาให้กิน มีเนื้อด้วย แต่เหม็นมาก กินแล้วจะอ้วก ผมเลยไม่กิน และไม่ได้กินอะไรเลย เพราะกินไม่ลงอยู่ 3 วัน

อยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารได้ 2 คืน มือผมยิ่งบวม ยิ่งเจ็บ จึงไปบอกเจ้าหน้าที่ บอกว่าเจ็บมาก เขาให้หมอมาดู แต่ไม่ได้ส่งไปโรงพยาบาล เขาให้เพียงยาแก้ปวด

ผมยิ่งเจ็บมากขึ้นไปอีก อาเจียนออกมาด้วย พอวันที่สาม เขาถึงได้เอาไปส่งโรงพยาบาลปัตตานี เพราะมีอาการเหนื่อย ฉี่ไม่ออก แขนขวา กระดูกสันหลังปวดมากขึ้นทุกที ตอนนั้น ขาขวายังไม่บวม

อยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 4 คืน เขาก็ส่งมาโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หมอบอกว่าไตอักเสบ ต้องกรีดตรงแขนเอาเลือดเสียที่คั่งออก 2 วันต่อครั้ง …"

แม่ของ "นายมะยูดีน อาแว" ก็เหมือนกับ "แม่" ของทุกคน เธอบอกกับ "ประชาไท" ว่า ตลอดกลางวันของวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เธอไม่รู้เรื่องเลยว่า มีการชุมนุมกันที่ตากใบ เพราะไม่ได้อยู่บ้าน

เธอมารู้ข่าวอีกทีก็ตอนเย็นแล้ว พอรู้ว่าลูกทั้ง 2 คน ไม่กลับบ้านก็กระวนกระวาย ทำท่าจะเป็นลมเสียให้ได้ เป็นห่วงลูก ยิ่งรู้ว่ามีคนถูกจับไปค่ายทหารที่ปัตตานี เธอยิ่งกังวลหนักเข้าไปอีก
พอวันที่ 26 ตุลาคม 2547 สามีของเธอ ซึ่งก็คือ "พ่อ" ของลูกชาย 2 คน เดินทางไปหาลูกชายที่ค่ายบ่อทอง ปัตตานี แต่ก็หาไม่เจอ พอมีข่าวออกมาว่า มีคนตายถึง 78 คน รุ่งเช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ออกไปดูอีกครั้ง ไปดูรูปศพคนตายก็ไม่มี

เกือบ 6 โมงเย็น ของวันที่ 29 ตุลาคม 2547 มีคนโทรศัพท์มาบอกเพื่อนบ้าน ฝากให้มาบอกเธอว่า "นายมะยูดีน อาแว" ผู้เป็นลูกชาย เจ็บหนักอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี

"ฉันกระวนกระวายมาก นอนไม่หลับ คิดถึงลูก อยากจะออกไปดูคืนนั้นเลย แต่ก็ออกไม่ได้ กลัวจะเจอเหตุร้าย" เธอเล่ามาถึงตอนนี้ ด้วยน้ำเสียงและแววตาหม่นเศร้า

จนกระทั่งเช้า เธอรีบออกจากบ้าน เดินทางไปโรงพยาบาลปัตตานี คราวนี้ ถึงได้เจอหน้าลูกชายในสภาพเจ็บหนัก พร้อมๆ กับทราบข่าวลูกอีกคน "อับดุลเลาะ อาแว" ซึ่งเป็นพี่ชายของ "มะยูดีน อาแว" ว่า ถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร

ต่อมา ลูกชายของเธอคนนี้ ถูกนำตัวไปอบรมวิวัฒน์พลเมือง ที่ค่ายรัตนพล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา และได้รับอนุญาตให้กลับบ้านแล้ว

ขณะที่ "นายมะยูดีน อาแว" ยังคงอยู่ในสภาพเจ็บหนัก อันสืบเนื่องมาจากขนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุม จากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาจากคำบอกเล่าของ "นายมะยูดีน อาแว" ก็คือ มีการยิงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมจริงหรือไม่

ทำไม ต้องยิง, ยิงด้วยเหตุผลอะไร, ใครเป็นคนสั่งให้ยิง, ผู้ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งยิง มีกี่คน, คนไหนบ้าง เป็นผู้ลั่นไก, ทำไม ถึงใช้กระสุนจริง

นี่คือ คำถาม ที่กำลังรอให้ทุกฝ่ายเข้าไปคลี่ปม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net