Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 17 พ.ย. 2547 -- เอ็นจีโอจีนเผย โครงการสร้างเขื่อนในจีนส่งผลกระทบภูมิภาคแม่น้ำโขงแน่นอน เฉพาะน้ำโขงเจอ 15 เขื่อน ระบุรัฐไม่เจรจาเรื่องผลกระทบอย่างจริงจัง

"นี่เป็นข้อมูลที่ไม่เคยเปิดเผยในประเทศที่อยู่ทางตอนปลายแม่น้ำ และรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ก็ไม่เคยเจรจากับประเทศจีนอย่างแข็งขันจริงจัง" ดร. ยู เซียว กัง ผู้อำนวยการองค์กรกรีนวอเตอร์เชด สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนกล่าว ภายหลังให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนกว่า 300 แห่งในประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศอินโดจีนอย่างแน่นอนเพราะประเทศจีนเป็นประเทศต้นน้ำ

ดร. ยู เซียว กัง ให้ข้อมูลว่า 3 มณฑลในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนมีโครงการสร้างเขื่อนถึงกว่า 300 โครงการ ในจำนวนนี้ บางส่วนได้รับการอนุมัติแล้ว และบางส่วนอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม

ทั้งนี้ ธุรกิจด้านการสร้างเขื่อนและผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นที่ยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรสูงมาก และธนาคารภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน ยินดีให้การสนับสนุนเงินกู้

ปัจจุบันบริษัทซึ่งทำธุรกิจด้านการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้ามีจำนวน 5 บริษัทใหญ่ มีทุนจุดทะเบียนบริษัทละประมาณ 3,000 ล้านหยวน โดยบริษัทเหล่านี้เป็นผู้เสนอโครงการต่อรัฐบาล เพื่อให้คณะกรรมการของรัฐบาลเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโดยอาศัยข้อมูลจากทั้งภาคเอกชนและเอ็นจีโอ

โครงการสร้างเขื่อนจำนวนมากในประเทศจีน จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแถบอินโดจีนเนื่องจากจีนเป็นประเทศต้นน้ำสำคัญทั้ง 2 สายในภูมิภาคนี้ ได้แก่แม่น้ำลานชาง ซึ่งเป็นต้นสายของแม่น้ำโขง และแม่น้ำนู ต้นสายของแม่น้ำสาละวิน

แม่น้ำทั้ง 2 สาย มีจุดกำเนิดอยู่ในมณฑลยูนนาน หนึ่งใน 3 มณฑลตะวันตกเฉียงใต้ของจีนซึ่งเป็นดินแดนแห่งการสร้างเขื่อนกว่า 300 โครงการ

เฉพาะสายน้ำลานชาง ต้นน้ำของแม่น้ำโขงนั้น มีโครงการสร้างเขื่อนถึง 15 โครงการ ในจำนวนนี้ ได้ผ่านการอนุมัติแล้ว 8 โครงการ (สร้างเสร็จแล้ว 2 เขื่อน) และอยู่ระหว่างการศึกษาและวางแผน 7 โครงการ

สำหรับแม่น้ำนู ต้นน้ำของแม่น้ำสาละวิน มี 13 โครงการ แต่ได้ถูกคัดค้านโดยเอ็นจีโอและประชาชน เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำนูส่วนใหญ่เป็นพื้นที่มรดกโลก มีความหลากหลายทางชีวภาพและชาติพันธุ์สูง การคัดค้านเป็นผลให้รัฐบาลระงับโครงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำนูจำนวน 9 โครงการ

ดร. ยู เซียว กัง กล่าวว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้ง 6 ประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จีน ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา ทั้งนี้ จะต้องสร้างความตระหนักในประชาสังคมและรัฐบาลของประเทศเหล่านี้

อนึ่ง แม้จะมีคณะกรรมการความร่วมมือลุ่มน้ำโขงซึ่งจะมีอายุครบ 10 ปีในปี 2548 ที่จะถึง ทว่ามีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่เจรจากัน ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำกลับไม่เข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว

"ผมคิดว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ เราต้องการ 6 ประเทศที่จะร่วมกันปกป้อง แม่น้ำโขงเป็นมารดาของสายน้ำที่ไหลลงสู่ภูมิภาคอินโดจีน เหมือนกับแม่น้ำเหลืองที่เป็นมารดาแห่งสายน้ำในประเทศจีน คนในลุ่มน้ำโขงย่อมเห็นแม่น้ำโขงเป็นเหมือนแม่ของเขา แต่สำหรับประเทศจีนแล้ว อาจพูดได้ว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และจีนก็เป็นประเทศต้นน้ำ ฉะนั้น ต้องมีการศึกษาให้เกิดความตระหนักในภาคประชาสังคม และรัฐด้วยทั้ง 6 ประเทศ"

ดร. ยู เซียว กัง กล่าว พร้อมทั้งแสดงความคาดหวังว่าการประชุมนานาชาติเรื่องการจัดการทรัพยากรและกลไกความร่วมมือในภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งจัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยในวันที่ 16 - 18 พ.ย. นี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ภาคประชาสังคมจะนำข้อเสนอไปเสนอต่อรัฐบาล

"เราหวังว่าวันหนึ่ง รัฐและภาคประชาสังคมจะร่วมมือกันในการวางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ดร.ยู เซียว กัง กล่าวในที่สุด

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net