Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 17พ.ย.47 กรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เชิญผู้เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลกรณีบริษัทเครื่องสำอางของญี่ปุ่นทั้งโคซี่และชิราโตริ รวมทั้งบริษัทชีล เจดังของเกาหลีจดสิทธิบัตรกวาวเครือขาวของไทยที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2545

โดยมีข้อสรุปว่า เห็นด้วยให้มีการคัดค้านการจดสิทธิบัตรของสหรัฐ แต่ในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญหน่วยงานรัฐมาให้ข้อมูลอีกครั้ง ทั้งกรมวิชาการเกษตร กรมแพทย์แผนไทยฯ กรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข

ทั้งนี้ กมธ.การต่างประเทศมีการตั้งข้อสังเกตหลายอย่าง ทั้งความพร้อมของหน่วยงานในการคัดแยกสารที่ให้คุณประโยชน์และโทษของกวาวเครือให้ชัดเจน การส่งเสริมธุรกิจสมุนไพรไทยของผู้ประกอบการไทย ศักยภาพของหน่วยงานรัฐที่จะต่อสู้ในเรื่องนี้ รวมทั้งความไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพในการผลักดันเรื่องดังกล่าว ระหว่างกองคุ้มครองพันธุ์พืช ภายใต้กรมวิชาการเกษตร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักนโยบายและแผนกระทรวงทรัพยากร

ในส่วนของการให้ข้อมูลนั้น นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าวว่า บริษัทของญี่ปุ่นมีข้อเรียกร้องสิทธิถึง 20 ข้อที่ครอบคลุมส่วนที่เกี่ยวกับผิวหนังโดยรวม ทั้งการชะลอความแก่ และไวเทนนิ่ง ส่วนบริษัทของเกาหลีนั้นมีข้อเรียกร้องสิทธิ 6 ข้อเกี่ยวกับการทำเต้านมให้เต่งตึง ซึ่งมีการขอจดสิทธิบัตรในระบบความร่วมมือระหว่างประเทศ (พีซีที) ด้วย มีผลทำให้ลดความยุ่งยากในการขออนุญาตในประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกกว่า 100 ประเทศลงมาก ซึ่งหากประเทศใดยอมรับสิทธิบัตร จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้

"ถ้าเราจะสู้ในระดับกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก็สามารถยกประเด็นการขาดความใหม่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งในการยื่นขอสิทธิบัตร เพราะเคยปรากฏอยู่ในตำราหรือภูมิปัญญาไทยมานานแล้ว" นายวิฑูรย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกมธ.การต่างประเทศ ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าในการยื่นคัดค้านสิทธิบัตร เนื่องจากเห็นประสบการณ์จากต่างประเทศว่าต้องใช้เวลาและงบประมาณสูงมาก ดังนั้นควรพิจารณาว่าจะยื่นคัดค้านหรือจะต่อรองให้มีการจ่ายผลประโยชน์

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิบัตรจะเป็นการตัดไม้ข่มนามในเวทีโลก เพื่อให้ปรากฏในเชิงกลยุทธ์ว่าประเทศไทยเอาจริงหากมีการละเมิดกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาทำท่าจะมีการคัดค้านหลายครั้งเมื่อมีการละเมิดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ แต่ก็ไม่เคยทำจริง ในขณะที่อินเดียไม่เคยเป็นข่าวมากมาย แต่ทำจริงทั้งกรณีของขมิ้นชัน หรือสะเดา ซึ่งต่อสู้กับประเทศมหาอำนาจจนได้รับชัยชนะมาแล้ว

"ถ้าทำแบรนด์เนมคนไทย แล้วไม่มีใครซื้อ บริษัทใหญ่ๆ จะมาใช้ก็ได้ แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เราซึ่งเป็นประเทศเจ้าของทรัพยากร ตามพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542" ดร.เจษฎ์กล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net