Skip to main content
sharethis

ในบรรดาผู้บาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เฉพาะที่ถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ดูเหมือน "นายมะรีกี ดลเลาะห์" ชายหนุ่มวัย 23 ปี ผู้มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 103 หมู่ที่ 9 ตำบลบางปอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จะสาหัสมากที่สุด

ด้วยเพราะ "นายมะรีกี ดลเลาะห์" ผู้นี้ ถูกตัดขาขวา แผลถูกพันด้วยผ้าพันแผลตั้งแต่หัวเข่าลงไป ขณะที่แขนทั้งสองข้าง ถูกพันด้วยผ้าพันแผลตั้งแต่ข้อศอกไปจนถึงฝ่ามือ แขนบวมเป่ง ร่างกายเต็มไปด้วยรอยถลอก

"นายมะรีกี ดลเลาะห์" ถูกเจาะคอด้านขวา เพื่อสอดสายยาง หมอต้องนำตัวไปฟอกไตอยู่เป็นระยะ ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ "นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์"

ภายใต้สภาพดังกล่าว "นายมะรีกี ดลเลาะห์" จึงมีโอกาสได้พูดกับ "ประชาไท" ด้วยอาการอิดโรย เพียงสั้นๆ ว่า…

"หลังจากถูกจับมัดนำตัวขึ้นไปบนรถยีเอ็มซี ผมก็สลบไปเลย มารู้สึกตัวอีกทีก็ที่โรงพยาบาลปัตตานี ขาของผมที่ถูกตัดออก เป็นแผลเละ ไม่ใช่แผลถูกยิง แต่เป็นแผลเพราะอะไร ผมไม่ทราบ เพราะสลบตั้งแต่อยู่บนรถทหารแล้ว เท่าที่จำได้ ผมไม่ได้ถูกคลุมหัวด้วยถุงดำ …"

ขณะที่ "นางยาเราะห์ วาดะห์" ผู้เป็นมารดายืนยันด้วยความมั่นใจอย่างยิ่งว่า ลูกของนางไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ

"นายมะรีกี ดลเลาะห์" บอกกับเธอผู้เป็นแม่ว่า จะไปซื้อของมากินช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน ที่ตลาดชายแดนตากใบ เขาขึ้นรถยนต์ไปกับเพื่อนและญาติอีก 5 คน

พลันที่มีข่าวการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ "นางยาเราะห์ วาดะห์" ก็เริ่มใจไม่ดี กลัวลูกชาย "นายมะรีกี ดลเลาะห์" ซึ่งไม่เคยไปตลาดตากใบมาก่อน จะเป็นอันตราย

"ฉันเลยโทรศัพท์ไปหา เขาบอกว่า ถูกทหารตั้งด่านสกัด ตรง 3 แยกไปโรงพยาบาลตากใบ ไม่ใช่ 3 แยกไปสุไหงโก - ลกนะ มีทหาร ตำรวจ มีคนอยู่ตรงนั้นมาก ฉันเลยบอกให้เขากลับบ้าน เขาบอกว่าตำรวจให้กลับ แต่ทหารไม่ให้กลับ จากนั้นสายก็หลุด โทรศัพท์กลับไปหาอีกครั้ง ก็ไม่ติด ฉันกังวลมาก"

ตกค่ำวันนั้น เธอนั่งเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ รอดูข่าวภาคค่ำอยู่ที่บ้าน มีรายงานข่าวการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ เธอเห็นรถยนต์คันที่ลูกชายโดยสารไปตากใบด้วย แต่รอเท่าไหร่ลูกชายก็ไม่กลับบ้าน

จนวันที่ 26 ตุลาคม 2547 เพื่อนบ้านที่ไปสอบถามชื่อญาติ ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร กลับมาบอกเธอว่า มีชื่อ "นายมะรีกี" ถูกควบคุมอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหารด้วย แต่ไม่มีนามสกุล

วันที่ 27 ตุลาคม 2547 ญาติๆ พากันไปดูที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร พบว่ามีชื่ออยู่จริง แต่ไม่มีนามสกุล จึงไปถามเจ้าหน้าที่ ถึงได้ทราบว่า "นายมะรีกี ดลเลาะห์" ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี

พอวันที่ 28 ตุลาคม 2547 จึงได้ไปดูที่โรงพยาบาลปัตตานี หมอบอกว่า นำตัวส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตอนนี้อยู่ห้องไอซียู

จนวันที่ 29 ตุลาคม 2547 จึงตามมาดูที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ถึงได้เจอตัว
"นายมะรีกี ดลเลาะห์" เล่าให้ผู้เป็นแม่ฟังว่า มีควันพุ่งใส่หน้าทำให้แสบตา เลยวิ่งไปที่แม่น้ำตากใบ เพื่อล้างหน้า แล้วก็ถูกจับตรงนั้น ก่อนโดนจับโยนขึ้นรถ ถูกมัดมือไขว้หลังแน่นมาก

ช่วงอยู่บนรถ ถูกทหารย่ำที่ขาหลายครั้ง จากนั้น เอาคนอื่นมานอนทับแล้วเหยียบ เอาคนอื่นมานอนทับอีกชั้น แล้วเหยียบอีกรอบ เขาคงต้องการให้แน่น จุคนได้มาก "นายมะรีกี ดลเลาะห์" อยู่ชั้น 2 ส่วนคนข้างล่างที่ถูกเขานอนทับ ปรากฏว่าตายคารถ

"หมอบอกว่า อาจจะต้องตัดแขนซ้ายออก เพราะแผลติดเชื้อ ตอนนี้เขาเสียขาไปข้างหนึ่งแล้ว ฉันไม่อยากให้หมอตัดแขนเขาอีก" คำพูดบ่งบอกอารมณ์ของผู้เป็นแม่ หล่นออกจากปาก "นางยาเราะห์ วาดะห์"

เธอเคยถามหมอว่า ใครจะรับผิดชอบจ่ายค่ารักษาพยาบาล หมอบอกว่า ไม่เป็นไร เบิกค่ารักษาได้

ทว่า จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีใครมาติดต่อให้ความช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้นำเอกสารเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าล้างไต ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 8 พฤศจิกายน 2547 มาให้ดู มูลค่าที่ปรากฏในเอกสารทั้งสิ้น 11,510 บาท

ถึงแม้อาการของเพื่อนร่วมชะตากรรม ที่นอนเรียงเคียงข้างอยู่ในโรงพยาลสงขลานครินทร์อีกรายอย่าง "นายนุปฮัน มะกอเซ็ง" ดูจะหนักหนาสาหัสอยู่ไม่น้อย

ทว่า พลันที่นำมาเทียบเคียงกับอาการบาดเจ็บของ "นายมะรีกี ดลเลาะห์" แล้ว อาการของ "นายนุปฮัน มะกอเซ็ง" ดูคล้ายจะเบาบางลงไปชนิดเทียบกันไม่ติด

"นายนุปฮัน มะกอเซ็ง" อายุ 29 ปี เป็นชาวอำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส นอนพักรักษาตัวในสภาพ ถูกพันด้วยผ้าพันแผลที่น่องขวา จากใต้หัวเข่าจนถึงข้อเท้า พร้อมกับร่องรอยบาดแผลถลอกตรงแก้มขวา อยู่ภายใต้การดูแลของ "นายแพทย์ประกิต พฤกษ์ประเสริฐ"

จากคำบอกเล่าของ "นายนุปฮัน มะกอเซ็ง" ถึงที่มาที่ไปของสาเหตุที่ถูกจับกุมแล้ว ไม่แตกต่างกับกรณีของ "นายมะรีกี ดลเลาะห์" มากนัก …

"ผมจะไปซื้อของที่ตลาดชายแดนตากใบ เพราะที่นั่นของราคาถูก จะเอามากินมาใช้ในช่วงถือศีลอดเดือนรอมฎอน พอขับรถไปถึงสามแยกสุไหงโก - ลก ก็ถูกตำรวจดักไว้

พอดีฝนตกหนัก คนที่ติดอยู่ตรงนั้น ดันให้เดินไปข้างหน้า ตรงไปทางโรงพักตากใบ เดินไปไม่นานก็เกิดชุลมุนกัน ผมได้ยินเสียงปืน แต่ไม่เห็นคนถูกยิง จะวิ่งออกมาก็ไม่ได้ เลยถูกจับมัดมือไขว้หลัง นำตัวไปขึ้นรถ ผลักให้นอนคว่ำรวมกับคนอื่น นอกจากจะอยู่ด้านในสุดของรถแล้ว ผมยังอยู่ล่างสุดด้วย

ทหารที่คุมอยู่เขาบอกให้อดทนไว้ ไม่นานก็ถึง เขาย้ำว่าไม่ต้องพลิกตัว คิดดูคนแน่นอย่างนั้น ผมจะพลิกตัวได้อย่างไร ตอนที่อยู่บนรถ มีฝนตกลงมา น้ำไหลเข้ามาในรถด้วย

ผมไม่รู้นะว่า รถที่ผมมามีคนตายหรือไม่ เพราะผมเป็นคนสุดท้ายที่ลงจากรถ ตอนไปถึงค่ายอิงยุทธบริหาร ตอนนั้น ไม่เห็นมีใครอยู่บนรถแล้ว ตอนอยู่บนรถผมไม่กล้าเงยหน้า เพราะกลัวถูกเตะ…."

กว่าญาติจะรับรู้ว่า "นายนุปฮัน มะกอเซ็ง" ถูกจับ และได้รับบาดเจ็บมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ก็เมื่อไปตรวจชื่อพบที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร

ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือว่า มีคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใดๆ ถูกจับกุมไปด้วยกี่คน แต่ละคนได้รับผลกระทบจากการควบคุมตัวอย่างใดบ้าง เช่น บาดเจ็บกันกี่คน ล้มตายกันไปกี่ศพ

อีกคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบ ก็คือ ทำไม ถึงต้องตั้งด่านจับกุมผู้คนที่สัญจรไปมา แล้วควบคุมตัวส่งไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ทั้งๆ จุดที่ตั้งด่าน อยู่นอกบริเวณที่ชุมนุมด้วยเล่า

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net