Skip to main content
sharethis

กระทรวงวัฒนธรรมลงนามคำสั่งตั้งกรรมการรุดเข้าตรวจสอบจำลองวัดเป็นโรงแรม มองเจตนาโรงแรมไม่ลบหลู่เพราะแยกส่วน แต่ยอมรับต้องมีคณะกรรมการให้คำแนะนำให้เหมาะสมไปพลางก่อนแก้กฎหมาย ชาวไหล่หินยังกังขาว่าไม่เป็นธรรม

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวกรณีการนำสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาไปใช้ในกิจการโรงแรม โดยเฉพาะกรณีของโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ดาราเทวี ซึ่งจำลองวัดสำคัญหลายแห่งของภาคเหนือมาไว้ เช่นหอธรรมวัดเชียงยืน อุโบสถวัดอุมลอม ประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหวง และวิหารวัดไหล่หินหลวง จังหวัดลำปางซึ่งคณะศรัทธาชาวบ้านไหล่หินแสดงความไม่พอใจนั้น

เช้าวันที่ 15 พ.ย.2547 ชาวบ้านไหล่หินกว่า 70 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ ได้นั่งรถบัสเดินทางมายังวัดสวนดอกสมทบกับคณะสงฆ์และเครือข่ายชาวพุทธ รวมกว่า 200 คน โดยชาวไหล่หินได้นำภาพถ่ายการจัดเลี้ยงและร่ายรำภายในสถานที่ดังกล่าวมานำเสนอและมองว่าเป็นการจำลองวิหารวัดที่ชาวบ้านใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนามาเป็นฉากการแสดงซึ่งไม่มีความเหมาะสม

ที่ประชุมอภิปรายความเห็นและออกแถลงการณ์คัดค้านการจำลองวัดมาไว้ในโรงแรมด้วยเหตุผลคือ

1.นำศาสนสถานมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ ผิดหน้าที่และไม่เหมาะสมหากจะส่งเสริมความเป็นล้านนาควรใช้สถาปัตยกรรมล้านนาประเภทอื่นที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา

2.ผิดพ.ร.บ.การขออนุญาตตั้งโรงแรมเพราะระเบียบระบุว่าการขอตั้งโรงแรมต้องไม่อยู่ติดศาสนสถาน

3.การลอกเลียนวัดเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ภูมิปัญญา ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 46 ระบุให้ท้องถิ่นมีสิทธิ์อนุรักษ์ภูมิปัญญา

4.สถาปนิกผู้ลอกเลียนแบบหรือเซ็นต์อนุญาติก่อสร้างผิดจรรยาบรรณสถาปนิก

จากนั้นเวลา 11.30 น.ชาวบ้านไหล่หินได้มุ่งหน้าไปยังโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ดาราเทวีเพื่อขอเข้าชมการจำลองวัดไหล่หินหลวงดังกล่าว ซึ่งโรงแรมได้ให้การต้อนรับและนำชาวบ้านเข้าชมภายในท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างระมัดระวัง ระหว่างการนำชมมีการถกเถียงระหว่างไวยาวัจกรวัด
และผู้จัดการโครงการเล็กน้อย

ขณะที่ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไหล่หินต่างยืนมองอาคารที่จำลองเหมือนวัดไหล่หินและบอกตรงกันว่าเหมือนมาก
เหมือนกับมาเดินอยู่ในวัดที่บ้านตัวเอง

หลังการเข้าชมชาวบ้านยังมีท่าทีไม่พอใจในคำอธิบายของโครงการ โดยนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภาอบต.ไหล่หินและไวยาวัจกรวัดกล่าวว่า หากโครงการบอกว่าต้องการอนุรักษ์วัดไหล่หิน แล้วสิ่งที่พวกตนทำอยู่ คอยทำนุบำรุงยังอนุรักษ์ได้ไม่ดีหรือ และที่บอกว่าจะประชาสัมพันธ์วัดให้ดังไปทั่วโลก ก็น่าจะด้วยวิธีอื่นตนเข้ามาไม่มีข้อความหรือป้ายใดที่จะบอกให้คนมาดูรู้ว่านี่คือวัดไหล่หินหลวง
จ.ลำปางเลย ที่สำคัญคือจะจำลองมาทั้งวัดเพื่อเป็นฉากหลังเวลามีการจัดแสดงอย่างนี้ก็ไม่ได้พูดคุยหรือหารือกับวัดมาก่อน

นายสันต์ สืบแสง ผู้จัดการโครงการย้ำกับชาวบ้านว่าเจตนามิได้ลบหลู่ศาสนา การจำลองสถาปัตยกรรมวัดไหล่หินเป็นการจำลองรูปทรงอาคารศิลปะล้านนาที่งดงามไว้เพื่อการอนุรักษ์มิให้สูญหาย และเปรียบเสมือนห้องพระของโครงการและแยกออกจากพื้นที่ของห้องพักของโรงแรมอย่างชัดเจน
ส่วนการตกแต่งที่มีการมองว่าไม่เหมาะสมก็ได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว ขณะที่การจัดเลี้ยงและจัดแสดงภายในพื้นที่นั้นโรงแรมมองในแง่ของการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมแต่ข้อท้วงติงเรื่องความเหมาะสมบางประการก็รับจะดำเนินการอย่างระมัดระวังมากขึ้นในโอกาสต่อไป

ชาวบ้านไหล่หินสอบถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับสิ่งปลูกสร้างที่จำลองวัดมาไว้ นายสันต์กล่าวว่าขอรอการพิจารณาของกระทรวงวัฒนธรรมที่ตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาวันที่ 17 พ.ย.2547 คณะกรรมการตรวจสอบความเหมาะสมในการนำสถาปัตยกรรมและเครื่องตกแต่งของวัด มาใช้ตกแต่งโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแต่งตั้งขึ้นโดยมีรศ.ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(สถาปัตยกรรม) เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยนายสด แดงเอียด รองอธิบดีกรมศิลปากร นิติกรจากกรมศิลปากร ฯลฯ รวม 8 คน เดินทางมาตรวจสอบโรงแรม ขณะที่ชาวบ้านวัดไหล่หินราว 10 คนก็เดินทางมาสังเกตการณ์ด้วย

รศ. ดร.ภิญโญ กล่าวว่าจะรวบรวมข้อมูลที่ได้ทั้งหมด ไปพิจารณาร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะทำให้เสร็จเร็วที่สุด แต่ไม่อาจระบุกำหนดเวลาที่แน่ชัดได้ว่าจะเป็นเมื่อใด แต่เท่าที่ดูจากเจตนาของโรงแรมแล้วเข้าใจว่าเป็นการเพื่อการอนุรักษ์มากกว่าจะลบหลู่ เพราะมีการแยกพื้นที่เพื่อการค้ากับพื้นที่อนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เห็นว่าที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาชี้แนะที่ถูกต้อง ในการนำสถาปัตยกรรมและศิลปะพื้นถิ่นไปใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้น การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นควรจะมีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ขึ้นมาพิจารณารูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง จากนั้นอาจจะมีการจัดทำเป็นกฎหมาย ที่มีผลบังคับใช้ต่อไป

นายสด แดงเอียด รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่าการนำสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบของวัดมาใช้
จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นสำคัญ โดยในส่วนของโรงแรมนี้ เท่าที่เห็นเป็นการกระทำด้วยความเคารพ มากกว่าที่จะเป็นการลบหลู่ เพราะมีการจำลองวัด ไว้เป็นส่วนสำหรับให้พนักงานได้เคารพบูชา แต่ในอนาคต หากมีผู้ที่คิดทำในลักษณะเดียวกันนี้ ควรจะต้องขออนุญาตจากวัดที่เป็นต้นแบบก่อน
เพราะวัดถือเป็นนิติบุคคล ถึงแม้ในแง่กฎหมายแล้ว จะไม่มีข้อบังคับ แต่การขออนุญาตเป็นมารยาทที่สมควรจะต้องทำ

นางเรวดี สกุลพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานนิติการ กรมศิลปากร กล่าวว่า ในระยะยาว มีการกระจายอำนาจต่าง ๆ ให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้นในอนาคตท้องถิ่น ควรจะมีกฎหรือออกระเบียบ เพื่อควบคุมรูปแบบของอาคารได้ด้วยตนเอง โดยอาจจะเชิญผู้มีความรู้ในทางภูมิปัญญาท้องถิ่น มาให้ความเห็น
ว่าเหมาะสมหรือไม่

ด้านชาวไหล่หินที่เข้ารับฟังเห็นว่ากรรมการน่าจะมีตัวแทนจากทั้ง 3 ฝ่ายเข้าให้ข้อมูลทั้งทางวัด โรงแรมและคนกลาง ซึ่งชาวไหล่หินจะขอรอการสรุปความเห็นอย่างเป็นทางการจากกรรมการอีกครั้งระหว่างนี้จะนำสิ่งที่ได้รับรู้ไปแจ้งต่อกับชาวบ้านที่รอฟังอยู่

-------------------------------------

ทัศนะ: ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

"การนำวัดหรือสถานที่สำคัญมาทำเลียนแบบขึ้นในโรงแรมนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่านั้น เพราะปัจจุบันวัดไม่มีหน้าที่ทางสังคมอีกต่อไปแล้ว เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางศาสนา
และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถือเท่านั้น …คนส่วนใหญ่ ปัจจุบันจะไปวัดก็ต่อเมื่อมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตนเองเท่านั้น หรือแม้กระทั่งทางภาครัฐเองก็ยังไม่สนใจในเรื่องวัฒนธรรมเท่าที่ควร ดังจะเห็นได้จากการนำภาพมารผจญมาทำเป็นฉากเปิดโรงภาพยนตร์ ซึ่งมารผจญนี้ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากในทางพุทธศาสนาในอดีต

ดังนั้นการที่มีความเห็นแย้งเรื่องการจำลองวัดขึ้นในโรงแรมนั้นส่วนตัวเห็นว่าควรมาช่วยกันคิดหา
วิธีการ ที่จะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกับวัดได้มากกว่า"

รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ

"ความงามอันเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่งมักถูกจำลองอยู่ตลอดเวลา เชียงใหม่เองก็หนีไม่พ้น ผมมองว่าเขามองเห็นในความงามจึงจำลองออกมา แต่การจะใช้ทำอะไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องจำแนกหน้าที่ให้ชัด
ปัญหาคือเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ของสักการะบูชาก็ควรจัดวางให้ถูกต้อง ไม่ควรใช้ผิดที่ ผมเคยพักโรงแรมดังในอินเดียหลายแห่งจำลองปราสาทราชวังสำคัญมาเหมือนมาก และใหญ่โต รัฐบาลเป็นหุ้นส่วน แต่เขาไม่นำรูปเคารพมาวางไว้ หรือถ้าจะนำมาวางก็ควรอยู่ในจุดที่เพื่อให้คารวะ ที่ลาสเวกัส ผมเห็นเขาลงทุนหลายล้านดอลลาร์จำลองทุกที่ไว้ในนั้น โรงแรมที่บาหลีจำลองปูชนียสถานไว้ก็มาก

สำหรับผมการจำลองความงามโบสถ์วิหารมาเป็นที่ประชุมมันไม่แปลก แต่อย่านำสิ่งที่นับถือไปวางในห้องน้ำ โรงระบำ ทำอย่างนั้นก็ต้องค้าน การดัดแปลงมีทั้งดีและไม่ดี ความนิยมไม่เหมือนกัน ผมไม่อยากให้ทะเลาะกัน เรื่องการจำลองมันห้ามไม่ได้ แต่ต้องมีคำอธิบายที่ดีให้เข้าใจ"

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net