Skip to main content
sharethis

"นายรุสดี ยูโซะ" อายุ 32 ปี อยู่บ้านเลขที่ 134/1 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส คือ หนึ่งใน 58 ผู้ต้องหา ที่ถูกจับกุมระหว่างเข้าร่วมชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา

"ประชาไท" พบกับ "นายรุสดี ยูโซะ" เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 ขณะที่ชายผู้นี้ เดิน ทางมาร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนคนหาย ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส

วันนั้น นอกจาก "นายรุสดี ยูโซะ" จะมาพร้อมกับเพื่อนผู้ต้องหาอีก 3 คนแล้ว ยังมี "พ่อ" ของผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุอีก 1 คน และ "พ่อ" ของผู้เสียชีวิตในขณะขนย้ายอีก 2 คน ร่วมเดินทางมาร้องเรียนด้วย

"นายรุสดี ยูโซะ" ถูกตั้งข้อหาครอบครองอาวุธปืน วัตถุระเบิด เป็นแกนนำการชุมนุม ทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ตอนนี้ อยู่ในระหว่างการประกันตัว ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันถึง 250,000 แสนบาท

ขณะนี้ "นายรุสดี ยูโซะ" พร้อมกับเพื่อนบ้านในหมู่บ้าน ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคราวเดียวกันนี้ และได้รับการประกันตัวพร้อมกันอีก 9 คน จึงต้องไปรายงานตัวต่อศาลจังหวัดนราธิวาสทุก 12 วัน โดยมีกำหนดการรายงานตัวครั้งต่อไป วันที่ 2 ธันวาคม 2547

คนในหมู่บ้านเดียวกับ "นายรุสดี ยูโซะ" ถูกจับทั้งหมด 38 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุม 1 คน คือ "นายมะกอเซ็ง มามะ" อายุ 19 ปี อยู่บ้านเลขที่ 102/1 หมู่ที่ 5 ตำบลศาลาใหม่ เสียชีวิตขณะขนย้ายไปค่ายอิงคยุทธบริหารอีก 4 คน

นอกจากนี้ ยังมีคนจากหมู่บ้านใกล้กันเสียชีวิตอีก 1 คน คือ "นายเปาซี เจ๊ะมามะ" อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 76 หมู่ที่ 3 ตำบลศาลาใหม่

"นายรุสดี ยูโซะ" บอกกับ "ประชาไท" ว่า ….

"บ้านผมอยู่ห่างจากโรงพักตากใบประมาณ 5 กิโลเมตร ผมออกจากบ้านตอน 10 โมงเช้า จะไปซื้อกับข้าวกับขนมหวานที่ตลาดชายแดนตาบา ไว้แก้บวชตอนเย็น เพราะในช่วงเดือนบวช ตลาดตากใบไม่เปิดขายตอนเช้า

ขับมอเตอร์ไซค์ไปคนเดียว ถึง 3 แยกตากใบ มีตำรวจกับทหาร ตั้งด่านตรวจ แล้วเรียกให้จอด พอเขาตรวจแล้วไม่เห็นมีอะไร เขาก็ปล่อย ผมขับมอเตอร์ไซค์ต่อไปจนถึงตลาดตากใบ

พอขับรถผ่านด้านหลังที่ว่าการอำเภอตากใบ เห็นคนยืนอยู่มาก ผมอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เลยเลี้ยวมอเตอร์ไซค์ เข้าไปจอดในตลาด แล้วเดินไปหน้าโรงพักตากใบ เจอคนรู้จักคนหนึ่ง เขาถามผมว่า มาทำไม ผมบอกว่า เห็นคนเยอะเลยเข้ามาดู

ตอนนั้น เห็นคนยืนพูดโต้ตอบกันไปมา ตรงลานหน้าโรงพัก ผมเองไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ซักพัก ผมเห็นตำรวจกับทหารเข้ามามากขึ้นทุกที คนก็เข้ามามุงมากขึ้นทุกที เลยติดอยู่ที่นั่น ออกมาไม่ได้ จนมีการฉีดน้ำสลายการชุมนุม ผมก็ถูกจับไปด้วย

ไปอยู่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร 2 คืน ที่นั่นเขาให้ผมพิมพ์ลายนิ้วมือ จากนั้น นำไปควบคุมตัว ที่ค่ายทหารที่สุราษฎร์ธานี อยู่ที่นั่นอีก 3 คืน ถูกย้ายไปอยู่ที่นั่นทั้งหมด 190 คน

ที่สุราษฎร์ธานี มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบปากคำด้วย พอสอบหมดทั้ง 190 คน เขาก็นำกลับมาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร พวกเรากลับมาถึงประมาณ 8 โมงเช้า มานั่งรวมกันที่เรือนจำทหาร

จากนั้น ทหารก็มาเรียกชื่อแยกออกมา 58 คน มีชื่อผมด้วย เขาบอกว่าจะสอบปากคำเพิ่มเติม เขาให้ผมพิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วเรียกไปให้ตำรวจสอบปากคำทีละคน พวกตำรวจมาด้วยกัน 15 นาย

พอเขาเรียกชื่อผม ผมก็เข้าไป เขาอ่านอะไรให้ฟังไม่ทราบ ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง เขาอ่านไม่ค่อยชัด ขณะที่พวกเราบางคน ไม่เข้าใจภาษาไทยเลยก็มี

พออ่านเสร็จเขาถามว่า จะสารภาพหรือปฏิเสธ ผมบอกปฏิเสธ เท่าที่ทราบทั้ง 58 คนปฏิเสธหมดเลย บางคนไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่พอเห็นคนอื่นปฏิเสธก็ปฏิเสธกับเขาด้วย

จากนั้น เขาก็ให้เซ็นชื่อทันที พวกเราเซ็นชื่อลงบนกระดาษหนาประมาณ 3 แผ่น ตรงด้านขวาล่าง มีรอยประทับตราสีแดงอยู่ด้วย ผมไม่รู้ว่าเป็นตราอะไร แล้วก็ไม่ได้อ่านด้วยว่า เป็นหนังสืออะไร เพราะตอนนั้นจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว

สอบเสร็จประมาณ 6 โมงเย็น เจ้าหน้าที่มาบอกว่า สรุปแล้วไม่มีอะไร คืนนี้กลับบ้านได้

พอเซ็นชื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตำรวจก็ออกไป ต่อมา ก็มีผู้ชายเข้ามา 5 คน ผู้หญิง 2 คน บอกว่า เป็นทนายความมาจากรุงเทพฯ เขาบอกชื่อทุกคน แต่ผมจำชื่อไม่ได้สักคน ถ้าจำไม่ผิด เขาบอกว่ามาจากสภาทนายความ

เขาถามว่า เซ็นชื่ออะไรไปบ้างหรือเปล่า พวกเราบอกเขาไปว่า เซ็นชื่อไปแล้ว เขาก็บอกว่าทำไมถึงรีบเซ็นชื่อ พวกคุณถูกจับหมดแล้วนะ

พอได้ยินดังนั้นแหละ ผมถึงกับขาสั่น ไม่นึกว่าจะตกเป็นผู้ต้องหา คิดว่า ต่อไปนี้ ต้องเข้าไปอยู่ในคุกแน่ๆ บางคนกลัวติดคุก สั่นไปทั้งตัว

พอพวกทนายความออกไป ทหารก็ปิดประตูเรือนจำล็อกแล้วปิดไฟ ได้ยินแต่เสียงหมาเห่าอยู่ข้างนอก ผมนอนไม่หลับทั้งคืนเลย

พอวันรุ่งขึ้น เขาจึงนำตัวไปส่งที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ไปถึงเจ้าหน้าที่ให้ถ่ายรูปติดหมายเลขด้วย อยู่ที่นั่น 5 คืน ญาติถึงมาบอกว่า ได้ประกันตัวแล้ว หลักทรัพย์ค้ำประกันคนละสองแสนห้าหมื่นบาท

อยู่ที่นั่น คนคุมนักโทษอยากรู้ว่า พวกเราเป็นแกนนำจริงหรือเปล่า ก็เข้ามาถาม ผมบอกว่า ผมจบ ป. 4 โรงเรียนปูลาเจะมูดอ ไม่มีความรู้อะไรเลย ทำอาชีพเลี้ยงปลา ตอนนี้ ปลาตายหมดแล้ว จะไปเป็นแกนนำได้อย่างไร

ชีวิตนี้ ผมยังไม่เคยเห็นอาวุธสงคราม ระเบิดก็ไม่เคยเห็น แล้วผมจะใช้อาวุธเป็นเหมือนกับพวกผู้ก่อการร้ายได้อย่างไร"

คงจะเป็นเพราะพูดจาฉะฉาน บุคลิกภาพผิดแผกแตกต่างไปจากลักษณะของชาวบ้าน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั่วไป กระมัง

"นายรุสดี ยูโซะ" จึงกลายเป็น "แกนนำชาวบ้าน" ในสายตาของทางราชการ ถูกเปลี่ยนฐานะจากชาวบ้านธรรมดา ไปเป็น "ผู้ต้องหา" ในคดีความมั่นคงแห่งรัฐ เพียงชั่วข้ามคืน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net