Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำประกาศเกษตรศาสตร์เพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน
(Kasetsart Declaration for Sustainable Agriculture)

เครือข่ายเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนทั่วประเทศ ร่วมกับคณะทำงานสมัชชาเกษตรทางเลือกครั้งที่ 3

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จมาเปิดงาน สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 3 "มหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน: ฟื้นฟูวิถีชีวิตไทยเพื่ออธิปไตยของชาติ" เป็นเสมือนการตอกย้ำให้ปวงชนชาวไทยร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญของการทำเกษตรกรรมยั่งยืนให้เป็นนโยบายสาธารณของชาติ

ณ สถานที่แห่งนี้ "สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร" ยังย้ำเตือนให้พวกเราทั้งหลายเล็งเห็นถึงความสำคัญและการให้ความเคารพเกษตรกรรมในฐานะที่เป็นองค์วัฒนธรรมและวิถีชีวิตปวงชนชาวไทย หาใช่เพียงแค่อาชีพที่สร้างรายได้หรือเงินตราเท่านั้น ในขณะที่คำแปลว่า
"วิชาแห่งแผ่นดิน" อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยที่เราชุมนุมกันอยู่ ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า ระบบการเรียนรู้และการพัฒนาที่เป็นอยู่นั้น ต้องมีเป้าหมายเพื่อเกษตรกรและผืนแผ่นดิน มากไปกว่าการคำนึงถึงการเติบโตของธุรกิจการเกษตร และความก้าวหน้าของเกษตรกรรมที่ต้องแลกกับการล่มสลายของชุมชน และการขาดความเป็นไทของประเทศ

พวกเราตัวแทนจากทั่วประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วย เกษตรกร ข้าราชการ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ตัวแทนจากชุมชนพื้นเมือง และชุมชนศาสนาต่างๆ ที่เกี่ยว ข้องกับการทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืนมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ รวมตัวกัน ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างวันที่ 18-21 พฤศจิกายน 2547

เนื่องจากเราตระหนักดีว่า การทำเกษตรกรรมยั่งยืนของขบวนการเกษตรยั่งยืนในสังคมไทยในอนาคตข้างหน้าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามหลายประการ อาทิเช่น

- การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ อาจนำไปสู่การล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศที่มีจำนวนหลายสิบล้านคนในอนาคต ดังกรณีตัวอย่างเกษตรกรนับแสนคนที่ปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวในภาคเหนือต่างประสบกับชะตากรรมในปัจจุบัน ตลอดจนเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อ โคนม และธัญพืชต่างๆ นับล้านๆ
ครอบครัวอาจต้องประสบภาวะล้มละลายในอนาคต

- ข้ออ้างในการแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูพืชและสัตว์ซึ่งมีมูลฐานมาจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว
ก่อเกิดการกวาดต้อนเกษตรกรรายย่อยให้เข้าไปอยู่ภายใต้พันธนาการของบรรษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ อันส่งผลให้มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมากและเป็นตัวการบั่นทอนอิสรภาพเกษตรกรในการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน

- การส่งเสริมให้มีการทดลองและวิจัยพืชจีเอ็มโอซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเกษตรกรรมยั่ง ยืนและทำลายฐานพันธุกรรมอันหลากหลายของเรา

- ประเทศมหาอำนาจ บรรษัทข้ามชาติ และบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับชาติเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรส่วนรวมของประชาชนไทยทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ ทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้การผลักดันระบบทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การจดสิทธิบัตรในพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์และจุลินทรีย์
และแม้แต่เข้ามาในนามของความช่วยเหลือที่ใช้ชื่อว่า "การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน" เป็นต้น
ล้วนแต่เป็นการหวังกอบโกยผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลของประเทศไทยไปเป็นของส่วนบุคคล

ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ เราเห็นว่าไม่มีหนทางใดอีกแล้วสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับวิถีเกษตรกรรมที่จะฟื้นฟูวิถีชีวิตไท และอธิปไตยของประเทศได้ นอกจากต้องรวมพลังยุติข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ทำให้เกิดการล่มสลายของเกษตรกร และอุปสรรคขวากหนามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด

ต้องสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนให้กลายเป็นเกษตรกรรมกระแสหลักของประเทศภายในหนึ่งทศวรรษนับจากนี้ โดยต้องผลักดัน และร่วมมือกับทุกฝ่าย และดำเนินการทุกวิถีทาง
เพื่อให้เกิดการประกาศเป้าหมายการพัฒนาเกษตรกรรมที่ชัดเจนว่า ต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง เป็นเกษตรกรรมยั่งยืนภายในปี 2557 การดำเนินการในเรื่องนี้ ต้องอาศัยกลไกสำคัญ อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การจัดตั้งคณะกรรมการเกษตรกรรมยั่งยืนระดับชาติที่มีตัวแทนมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของเครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง

สอง การจัดตั้งสถาบันเกษตรกรรมยั่งยืนที่เป็นหน่วยงานอิสระปลอดจากผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องจากเกษตรกรรมเคมีและพันธุวิศวกรรม

สาม การสร้างหลักประกันในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พร้อมมีส่วนร่วมในการจัดการที่ดิน รวมทั้งแหล่งน้ำ ป่าไม้ และทรัพยากรชีวภาพ

สี่ การสนับสนุนทรัพยากร และมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนอยู่แล้วในปัจจุบันนับแสนครอบครัว รวมทั้งเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมแบบเก่ามาเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นต้น

ห้า รีบเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภคตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณา
จักรไทย เพื่อสนับสนุนผู้บริโภค กลุ่มองค์กรผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤติอาหาร
และสร้างทางเลือกของสังคม ตลอดจนสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

เราจะสนับสนุนพรรคการเมืองทุกพรรคที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวนี้ และจะรณรงค์เรียกร้องประชาชนทั่วไป เกษตรกรทั่วประเทศ และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ให้เลือกพรรคการเมืองใดที่จัดทำนโยบายที่เป็นอุปสรรคขัดขวางในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่ได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น

พวกเราตระหนักร่วมกันว่า เกษตรกรจะต้องเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
การเชิดชูเกียรติเกษตรกรหลายท่านที่สรรค์สร้างเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเท่านั้น

กระบวนการเรียนรู้และพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนจะต้องดำเนินไป โดยเกษตรกรจะต้องเป็นผู้ที่ทำงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรกรรมของตนเอง เกษตรกรสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เกี่ยวข้องจัดการระบบตลาดเชื่อมโยงกับผู้บริโภค และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับเกษตรกรรรมด้วยตนเองโดยมีพวกเราทั้งหลายเป็นผู้สนับสนุน

นี่คือนโยบายสาธารณะแห่งวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนที่แท้จริงอันเป็นสาระของคำประกาศนี้

รู้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ
รู้ใจ จักรวาล สรรค์สร้าง
รู้อยู่ รู้ทำ นำทาง
รู้วาง ตนเพียง พอดี
ศักดิ์สิทธิ์ พิทักษ์ รักษา
ศักดา สำแดง แหล่งที่
ศักดิ์นาม ธำรง ธรณี
ศักดิ์ศรี วิเศษ เกษตรกร

21 พฤศจิกายน 2547
สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net