การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ "เวียงกุมกาม"กับการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ "เวียงกุมกาม"
กับการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่น

หากใครมีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือในช่วงนี้ จะมองเห็นป้ายท่องเที่ยวติดอยู่ตามรายทางเพิ่มมากขึ้น ยิ่งพอเริ่มเข้าเขตติดต่อระหว่างลำพูน-เชียงใหม่ เราจะมองเห็นป้ายบอกแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่…เมืองโบราณเวียงกุมกาม ถือว่าเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของล้านนา แต่ทว่ากำลังเป็นสถานท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่…ว่ากันว่าเป็นเมืองที่สร้างขึ้นก่อนเมืองเชียงใหม่

เวียงกุมกาม เป็นหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.1837 โดยพ่อขุนมังราย เป็นเมืองหลวงและเป็นศูนย์กลางทางด้านการค้า การคมนาคมขนส่งทางน้ำและการเกษตร ตั้งอยู่บริเวณฟากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง

ต่อมาเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ สายน้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง ทะลักเข้าสู่เวียงกุมกามล่มสลาย พ่อขุนมังรายจึงโยกย้ายมาสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นในปี 1839 และได้ปล่อยให้เวียงกุมกามรกร้างอยู่อย่างนั้น

พอถึงปี พ.ศ.2527 กรมศิลปากร ได้เริ่มเข้าไปขุดแต่งบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานภายในเขต
เวียงกุมกาม และพบว่า ชาวบ้านท้องถิ่นจำนวนมากเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ปะปนกับโบราณสถาน บางพื้นที่ได้กลายเป็นสวนลำไย เป็นชุมชนท้องถิ่นอยู่กระจัดกระจายรายรอบบริเวณเขตเมืองเก่า

ปัจจุบัน เมืองโบราณเวียงกุมกาม ได้รับการส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีแผนสำหรับการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างสอดคล้องกับศักยภาพของโบราณสถานและสภาพแวดล้อม
จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่า ปัญหาเรื่องการเข้าไปถือครองที่ดินในเขตโบราณสถาน ชุมชนไม่พร้อมในเรื่องการจัดการการรองรับนักท่องเที่ยว ปัญหาเรื่องขยะ การสร้างตึกสูงบดบังทัศนียภาพของโบราณสถาน ปัญหาการจราจร และอีกหลายปัญหาที่กำลังถาโถมเข้ามา

จนในที่สุด, ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า เป็นนโยบายเร่งด่วนและควรได้สนับสนุนให้มีมาตราการผังเมืองในการบริหารจัดการชุมชนให้เติบและพัฒนาอย่างมีแบบแผน

จึงได้ว่าจ้างบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้าไปทำการศึกษาเพื่อวางผังพัฒนาพื้นที่เฉพาะเมืองโบราณเวียงกุมกาม ภายใต้กรอบงานกระบวนการวางและจัดทำแผนผังเฉพาะ เพื่อการอนุรักษ์โบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเพื่อเพิ่มบทบาทด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดต่อไป

และเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ทีผ่านมา ที่ห้องประชุมกาสะลอง โรงแรมพรพิงค์ ทาวเวอร์ เชียงใหม่ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรท้องถิ่นและชาวบ้านในเขตพื้นที่ดังกล่าว เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น โครงการวางและจัดทำผังพื้นที่เฉพาะเมืองโบราณเวียงกุมกาม

ผศ.อัษฎางค์ โบราณานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่เข้าไปถือครองที่ดินในเขตโบราณสถาน เป็นการเวนคืนตามระเบียบ ตามกฎหมายที่กำหนด อาจจะจัดในรูปของโครงการจัดรูปที่ดิน โดยการเวนคืนที่ดินทั้งหมดมารวบรวม ก่อนจะมีการแบ่งจัดสรรใหม่ให้กับชาวบ้าน ตามจำนวนเดิมของตน โดยทางรัฐจะเป็นฝ่ายจัดหาที่ดินที่ห่างออกไปจากพื้นที่โบราณสถานอย่างเป็นธรรม

"อีกวิธีหนึ่ง อาจจะทำเป็นโครงการแลกเปลี่ยนที่ดินเป็นบ้าน โดยรัฐจะให้สิทธิ์เจ้าของที่ดินตรงนั้น รวมไปถึงผู้ที่มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ตรงนั้น ได้ประเมินราคาเพื่อแลกกับบ้านที่รัฐจัดให้ เหมือนกับบ้านจัดสรร" ผศ.อัษฎางค์ กล่าว

ผศ.อัษฎางค์ ยังกล่าวอีกว่า มาตราการด้านการวางผังเมือง ได้เสนอเป็น 2 ทางเลือก คือ แนวคิดวางผังเมืองโบราณสถานในสวนสาธารณะขนาดเล็ก หรือ Pocket Historical Parks
ทางเลือกที่ 2 เสนอเอาไว้ในรูปแบบ โบราณสถานในสวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือ Grand Historical Parks

"หากทำได้ ก็จะทำให้มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่ จัดให้สำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาท่องเที่ยว ศึกษาหาความรู้ไปพร้อมๆ การพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งจะทำการเชื่อมโยงโบราณสถานในแต่ละแห่งเชื่อมกับสองฟากฝั่งลำน้ำปิง มีการปรับปรุงศูนย์ข้อมูลเวียงกุมกาม สถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ พัฒนาระบบจราจร ถนน ทางเท้า ทางจักรยานในสวนสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้รองรับทั้งหมด" ผศ.อัษฎางค์ กล่าว

ผศ.จามรี อาระยานิมิตสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม กล่าวว่า นอกจากนั้น อาจจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ที่อยู่ใกล้กับโบราณสถาน อาจจำเป็นต้องนำกฎหมายควบคุมอาคารสูงไม่เกิน 6 เมตร เพื่อความเหมาะสมกับเมืองโบราณทางประวัติศาสตร์ล้านนา ซึ่งคงต้องควบคุมรูปแบบตัวอาคาร กำหนดระยะห่างของอาคาร การใช้สีทาบ้าน หรือห้ามตัดต้นไม้ใหญ่ เพื่อต้องการความร่มรื่น

อ.ภาวดี ธนวิสุทธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม กล่าวเสริมว่า อาจจำเป็นต้องมีการควบคุมในจัดการดูแลพื้นที่สองฝั่งลำน้ำปิง เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยเน้นการพัฒนาขนส่งทางน้ำเชื่อมโยงระหว่างเมืองเชียงใหม่และเวียงกุมกาม

ซึ่งเราได้เสนอความคิด คือ มีการปรับฝายในลำน้ำปิงเพื่อให้เรือผ่านได้ มีการก่อสร้างท่าเรือบริเวณริมลำน้ำปิง ใกล้วัดเจดีย์เหลี่ยม และมีการกันพื้นที่ที่อยู่ติดน้ำปิงให้ถอยร่นห่างออกไปประมาณ 100 เมตร เพื่อปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม นอกจากนั้น อาจมีการสร้างสะพานแขวนเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินข้ามลำน้ำปิงเข้ามาชมเวียงกุมกามได้สะดวกยิ่งขึ้น

หลังจากนั้น ได้มีการแลกเปลี่ยนเสนอความคิดเห็น กับแนวคิดโครงการที่ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย นำเสนอ

นายสงวน เขียวชะอุ่ม สมาชิก อบต.ท่าวังตาล บอกว่า อยากให้มีศูนย์ข้อมูลตรงจุดเดิม คือบริเวณวัดเจดีย์เหลี่ยม เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะต้องการมาเที่ยวชมตรงนั้น และอยากให้มีการพัฒนาฝายท่าวังตาลให้เป็นจุดรับส่งนักท่องเที่ยวที่มาทางเรือ เพราะท่าวังตาล ถือว่าเป็นท่าเรือทางประวัติศาสตร์ในอดีตเคยเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง

นายทนงศักดิ์ กัลยา นักจัดรายการวิทยุ นาม"เป่งลึ๊ง" และเป็นประธานชุมชนหนองผึ้ง กล่าวว่า ที่ผ่านมา การเดินทางเข้าสู่เวียงกุมกามนั้นไม่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกที่ชัดเจนว่า ตรงไหนเป็นเวียงกุมกาม ทำให้คนต่างจังหวัดแทบจะไม่รู้ และขอเสนอให้มีการเน้นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันดีงามของชาวล้านนา เช่น มีศาลา ซุ้มน้ำหม้อ รั้ว หรือ ต้นไม้โบราณทางล้านนา

"อีกเรื่องหนึ่ง ที่อยากเสนอ ก็คือ ในเรื่องการจัดการท่องเที่ยว ขอให้มีการเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนให้ทั่วถึง เพราะที่ผ่านมานั้น ชุมชนในเขตเวียงกุมกามจะได้รับผลประโยชน์เพียงกลุ่มเดียว" นายทนงศักดิ์ กล่าว

นายบุญธรรม มหาหมัด ตัวแทนชาวบ้านอีกคนหนึ่ง ได้บอกว่า ที่ผ่านมา ปัญหาขยะ รัฐไม่ได้เข้าไปจัดการ ปล่อยให้ชุมชนจัดการกันเอง และเมื่อพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ จะเห็นว่า ปัจจุบัน มีรถราง 7 คัน รถม้า 9 คัน แต่ผู้รับผลประโยชน์มีเพียงกลุ่มเดียว และนักท่องเที่ยวต่างโอดครวญว่า รถราง รถม้า จะวิ่งจนสุดสาย ไม่ยอมให้นักท่องเที่ยวหยุดแวะชมข้างทางเลย

นายบุญเวศ คำฟู ผู้ใหญ่บ้านหนองผึ้ง กล่าวว่า หากจะมีการปรับปรุง พัฒนา จำเป็นต้องมองถึงอนาคตด้วย ต้องทำให้สมบูรณ์แบบให้เหมือนกับ เมืองสุโขทัย เมืองอยุธยา และที่สำคัญต้องมองถึงเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วย

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ของโครงการวางและจัดทำผังพื้นที่เฉพาะเมืองโบราณเวียงกุมกาม ครั้งที่ 2 นี้ ทางผู้รับผิดชอบโครงการ รับปากจะนำข้อมูลที่ได้รับไปเสนอและปรับปรุง เพื่อดำเนินการในขั้นต่อไป

……………………………………..

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท