Skip to main content
sharethis

เมื่อประมวลเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ความเสียหายถึงขั้นสูญเสียชีวิตผู้คนถึง 85 ศพ ระหว่างการสลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปจนถึงระหว่างขนย้ายผู้ชุมนุมจากตากใบ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานีนั้น

ถ้าดูเฉพาะฉากลงมือปฏิบัติการแล้ว ย่อมจะเห็นว่า เป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ระดับล่างอย่างเป็นด้านหลัก โดยมีระดับสัญญาบัตรชั้นยศระดับกลางๆ มีส่วนร่วมอยู่ด้วยในจำนวนไม่มากนัก ขณะที่ระดับชั้นผู้ใหญ่ ยิ่งมีจำนวนน้อยลงไปอีกหลายเท่า

แน่นอน ย่อมยากอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับชั้นสัญญาบัตร ตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับสูง จะดูแลให้การปฏิบัติการอันแสนชุลมุนวุ่นวายนี้ ลุล่วงเป็นไปด้วยความนุ่มนวลอย่างทั่วถึง

ถึงกระนั้น โดยวิสัยแล้ว ย่อมยากอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ซึ่งเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ จะกล้าฝ่าฝืนทำเกินคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

ขณะที่เป็นไปได้สูงเช่นกันว่า การดำเนินการของผู้ปฏิบัติระดับล่าง อาจจะขาดความรอบคอบ หรือปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยความเคียดแค้น เนื่องเพราะมีอคติครอบงำ กระทั่ง ก่อให้เกิดความผิดพลาด ชนิดผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไปจนถึงผู้ปฏิบัติระดับล่าง ต่างก็คาดไม่ถึง

ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ระดับล่างชั้นประทวน และระดับกลางชั้นสัญญาบัตรกว่า 10 นาย ที่ "ประชาไท" มีโอกาสได้พูดคุยด้วย น่าจะบอกอะไรได้บางอย่าง

"การชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ มีลักษณะเหมือนกับการชุมนุมของชาวบ้านที่ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2546

คราวนั้น ชาวบ้านจับตำรวจ 2 คน เพราะคิดว่าเป็นโจรนินจา พอจับตำรวจได้ ข่าวจับโจรนินจา ก็แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเข้ามาสมทบกันเร็วมาก เหตุการณ์จบลงตรงที่ตำรวจทั้ง 2 นาย ถูกรุมทำร้ายจนตาย

อย่างคดียิงคนจีนที่โตมาด้วยกัน ที่บ้านบากง อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เขารู้ว่าลูกใครหลานใครอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อคนร้ายยิงคนจีนแก่ๆ ถึงในบ้าน ลูกหลานจึงรู้ว่า คนยิงเป็นใคร เขาก็บอกกับตำรวจ คนร้ายยิงเสร็จเข้าไปอยู่ในมัสยิด พอตำรวจจะไปจับ ชาวบ้านก็ออกมาล้อมตำรวจไว้ ถ้ายังปฏิบัติการต่อ คงจะยิงกันตายเป็นร้อยศพแน่ สุดท้ายเราก็ต้องถอนกำลังกลับ

ระยะหลังๆ มานี้ ลักษณะการชุมนุมแบบนี้ เกิดขึ้นหลายครั้ง เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็มีชุมนุมประท้วงกันที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส กล่าวหาทหารพรานยิงชาวบ้านผู้หญิง ชาวบ้านมารวมตัวกันเป็นพันคน กดดันให้นำทหารพรานออกนอกพื้นที่

พอเอาผู้หญิงชาวบ้านคนที่ถูกยิง ไปให้หมอดูแผล ปรากฏว่าไม่ใช่แผลถูกยิง ชาวบ้านก็ยังไม่ยอม เหตุการณ์ครั้งนั้น มันบ่งบอกอะไรบางอย่าง มันเริ่มชัดเจนขึ้นว่า การชุมนุมในช่วงหลังๆ มานี้ ไม่ได้ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ต้องการก่อความวุ่นวายมากกว่า เจ้าหน้าที่เริ่มจับทางได้ว่า การชุมนุมที่ตากใบ มีการวางแผนกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

ยิ่งมีคนจากแว้ง บาเจาะ แล้วสุไหงปาดีมาร่วมชุมนุมด้วย ยิ่งชัดเจนเลย คนที่ตากใบเอง ก็รับเงินค่าออกมาชุมนุม 200 บาทต่อคน ที่เรารู้เพราะเราส่งตำรวจหญิงลงไปหาข้อมูล ไปถามพวกผู้หญิงมุสลิมด้วยกัน

ที่ตากใบนี่ชัดเจนเลย มีที่ไหน ขนาดแม่ทัพภาค 4 กับนายศิวะ แสงมณี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีฐานะเป็นรองผู้อำนวยการคณะกรรมการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้มาเจรจาเอง ยังไม่ยอม ให้ส่งตัวแทนมาเจรจาก็ไม่ส่ง กลับโห่ไล่

ดึงกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสมาช่วยเจรจาด้วยก็แล้ว ก็ยังไล่ให้กลับ ไล่ให้ถอดหมวกออก เอาพ่อแม่ชุดชุมครองหมู่บ้าน จากตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบมาพูด เขาก็ยังไม่เชื่อ แต่ก็มีบางคนที่ยอมกลับบ้าน

พวกที่เหลือที่ไม่ยอมกลับ พวกนี้เป็นแกนนำชัดๆ โดยเฉพาะพวกที่โพกหัวปิดหน้า เอาแต่โห่อย่างเดียว มีบางคนปีนเสาส่งสัญญานวิทยุ นี่ก็เป็นไปตามหลักการปฏิวัติ คือ ต้องยึดระบบการสื่อสารก่อนเป็นอันดับแรก

วันนั้น มีการขอกำลังตำรวจจากโรงพักเมืองนราธิวาส, บาเจาะ, สุไหงโก - ลก, มูโนะ และยี่งอ ให้ไปช่วยโรงพักตากใบแห่งละ 20 นาย ติดต่อไปที่ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัดนราธิวาส สายบังคับบัญชาของกำลังที่ส่งไปทั้งหมด ขึ้นต่อแม่ทัพภาค 4 ตามประกาศกฎอัยการศึก…"

นี่เป็นความคิดความเห็นและข้อมูล จากเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมปฏิบัติการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 กลุ่มหนึ่ง

จุดที่น่าสนใจ อยู่ที่เจ้าหน้าที่ระดับประทวนนายหนึ่ง ที่บอกกับ "ประชาไท" ตามอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจของตัวเอง ชนิดตรงไปตรงมาอย่างยิ่ง

"ผู้ใหญ่เขาเลือกไว้ก่อนแล้วว่า จะยิงใครบ้าง คนที่ถูกยิงหน้าโรงพักตากใบ 6 ศพ ทั้งหมดเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน คนพวกนี้โพกหัวอยู่หน้าม็อบ ส่วนคนที่ตายบนรถ นั่นเขาตายกันเอง ไม่มีใครถูกเหยียบ พวกเขานอนทับกันจนตายไปเอง…"

เจ้าหน้าที่ระดับล่างผู้นี้ บอกต่อไปว่า ช่วงนี้มีการเคลื่อนไหวเตรียมจะก่อม็อบอีก

"สายของเราที่เข้าใจภาษายาวีบอกว่า ได้ยินพวกนี้คุยกันหลังร้านอาหาร กินเหล้าไปด้วย คุยกันไปด้วย เขาบอกว่ากำลังเตรียมจะก่อม็อบ และออกก่อการร้ายอีก คราวนี้ จะเอาเรื่องตากใบมาเป็นข้ออ้าง

ช่วงนี้เงียบหน่อย เพราะวันที่ 20 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา ทางโรงพักตันหยง อำเภอเมืองนราธิวาส ตั้งด่านยึดเงินได้ 5 ล้านบาท เขาเตรียมจะนำมาใช้ก่อการร้าย ช่วงนี้ถึงได้เงียบ เพราะคนก่อเหตุไม่ได้รับเงิน คนที่ยิงคนรายวันมีเงินเดือนประจำนะคุณ พอไม่ได้รับเงินก็หยุดออกปฏิบัติการ…"

นี่คือ อารมณ์ ความรู้สึก และข้อมูล ที่ถูกแพร่เข้าสู่ความรับรู้ของเจ้าหน้าที่ระดับล่าง จริงหรือไม่ ผิดถูกอย่างไรไม่รู้ ทว่า ยิ่งได้รับข้อมูลแบบนี้ ความคิดแบบนี้ ภายใต้อารมณ์เช่นนี้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ ก็จะยิ่งมีอคติฝังใจ

"ตอนนี้ ฝ่ายราชการส่งกำลังลงไปมากแล้ว ประมาณ 50% ถูกส่งไปล็อกตามหมู่บ้านต่างๆ จะมีตำรวจ ทหารลงมาอีก รอจังหวะอีกนิด ถ้ามีคนไทยพุทธถูกยิงที่ไหนเมื่อไหร่ เราจะปูพรมทั้งหมู่บ้านเลย เลือกเป้าหมายวัยรุ่น พวกนี้แหละตัวดี จัดการหมดนั่นแหละ มุสลิมพวกนี้ทั้งหมดนี่ เป็นแนวร่วม

ยังบอกไม่ได้ว่า จะเกิดเหตุเมื่อไหร่ แล้วจะปูพรมเมื่อไหร่ การปูพรมแบบที่ว่า ก็คือ ตั้งแถวหน้ากระดาน แล้วเช็กชื่อทีละคน…."

ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับกลางชั้นสัญญาบัตร ดูจะสงวนท่าทีมากกว่า ยอมรับอะไรได้มากกว่า ข้าราชการระดับ "ผู้นำหน่วย" นายหนึ่ง บอกกับ "ประชาไท" ว่า …

"เหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ที่ทำให้คนตายจำนวนมาก…
ส่วนการสั่งการนั้น มีขั้นตอนของมันตามลำดับ ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ลงมือปฏิบัติในวันนั้น ไม่รู้เรื่องอะไรหรอก ผู้บังคับบัญชาสั่งการอย่างไร เขาก็ทำไปตามนั้น.."

นั่นซิ ผู้บังคับบัญชาคนไหน สั่งสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง
ใครละ สั่งให้จ่อยิงศีรษะคนที่คิดว่า น่าจะเป็นแกนนำ
เหล่านี้ ล้วนเป็นคำถาม ที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากได้คำตอบ
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net