Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 26 พ.ย.47 ที่ ศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการครู อ.เชียงของ จ.เชียงราย ภาคประชาสังคมร่วมถกปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน โดยเฉพาะผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง โดยมีตัวแทนนักวิชาการ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสมาชิก นักธุรกิจ องค์กรชาวบ้านเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 300 คน

"รับรู้ว่า พี่น้องต่อสู้มายาวนาน ในเรื่องการระเบิดแก่งจนสามารถชนะได้ไประดับหนึ่ง ทำให้การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ต้องหยุดชะงักและทำให้ถูกทบทวน และขอวิงวอนให้องค์กรทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบนและการระเบิดแก่ง มาร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งให้ได้" นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

นางสุนี กล่าวว่า ต้องเข้าใจร่วมกันว่า ที่คนท้องถิ่น และหลายๆ องค์กรมาร่วมกันวันนี้ ต้องเริ่มสร้างความมั่นใจร่วมกันว่า นี่เป็นสิทธิพื้นฐาน ที่ทุกคนจะต้องใช้สิทธิในการเรียกร้องต่อสู้ เป็นสิทธิธรรมชาติ สิทธิความอยู่รอด องค์กรภาคประชาชนต้องช่วยกันตั้งถามหาวิธีการและร่วมกันเคลื่อนไหว

นางเตือนใจ ดีเทศน์ รองประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และวุฒิสภา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชุมชนไม่ได้มีส่วนในการรับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการติดตามผล

เพราะฉะนั้น ต้องมีการผลักดันให้ตัวแทนชาวบ้านเข้าไปแก้ปัญหาโดยเข้าไปเสนอนโยบาย ให้มีการผลักดันเรื่องการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการเข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับองค์กรท้องถิ่น ส.ส. และ ส.ว.

"นอกจากนั้น ชุมชนต้องมีการประสานงานเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่น เพื่อร่วมกันผลักดัน และอยากให้ชุมชนได้ใช้สื่อทางเลือกให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น วิทยุชุมชน หรือสำนักข่าวทางเลือกต่างๆ" นางเตือนใจ กล่าว

รศ.สุริชัย หวันแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ในตอนนี้ มีภาวะแยกพวกกันรุนแรง รัฐพยายามชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยกำลังมีการแตกขั้วกันอย่างรุนแรง หลายๆโครงการของรัฐที่ผ่านมา มุ่งแต่การพัฒนา โดยมักอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ไม่ได้คำนึงถึงมนุษยชาติ ไม่มองว่ามันจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ ต่อวิถีชีวิตของชุมชน ทำให้เกิดความสั่นคลอนชีวิตพื้นฐาน ซึ่งเห็นว่า เป็นสถานการณ์การพัฒนาที่ไร้สติ

"ที่ผ่านมา รัฐเป็นผู้เลือกกลุ่มพัฒนา โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของชุมชนที่แท้จริง รัฐมองแต่ภาพรวม ที่หลุดลอยไปจากความจริง และยังไปสร้างกระแสให้คนเกิดความขัดแย้งกันมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันให้รัฐบาลกลับมาคิดใหม่ ว่าทำอย่างไรจะให้ยุทธศาสตร์ประเทศ นั้นคำนึงถึงมิติความมั่นคงทางชีวิตและอาหาร" รศ.สุริชัย กล่าว

ทั้งนี้ มีนักพัฒนา นักเคลื่อนไหวจากประเทศจีน ลาว บังคลาเทศ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้าร่วมการอภิปรายในครั้งนี้ด้วย พร้อมเสนอให้มีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเพื่อถกปัญหาที่เกิดจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขง เพื่อหาทางร่วมกันแก้ไขโดยเร็ว

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net