Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สันติภาพเป็นสิ่งที่งดงามมีคุณค่าอย่างยิ่งของมนุษยชาติ แต่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์สันติภาพเป็นสิ่งที่สลับกับสงครามมาตลอด ภาวะสันติภาพและสงครามต่างมีปัจจัยเกื้อหนุนและอุปสรรคซึ่งล้วนเกิดจากมนุษย์

เงื่อนไขที่สำคัญสองประการที่จะมีผลผลักดันจิตใจของประชาชนให้สู่สันติภาพหรือสงคราม คือ ความเป็นธรรมและความมั่นคง ถ้าประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่าสังคมมีความเป็นธรรมและตนเอง
มั่นคงดีเงื่อนไขสงครามก็น้อย ถ้ารู้สึกได้รับความไม่เป็นธรรมสั่งสมมาเป็นเวลานานและรุนแรง หรือ รู้สึกถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลาไม่สิ้นสุด การเข้าสู่สงครามก็มีแนวโน้มสูง

กระบวนการสันติภาพ จะได้ผลจึงต้องใช้สันติวิธีส่งเสริมการสร้างความเป็นธรรมและป้องกันภาวะที่อาจจะคุกคามต่อความมั่นคงทั้งด้านกายภาพ, จิตใจ และ สังคม

เมื่อกระแสสงครามและความรุนแรงคุกรุ่นมาก การทำงานเพื่อสันติภาพจะทำได้ยาก ผู้คนจะหวั่น ไหวง่าย มีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ลบทั้งด้านความเป็นธรรมและด้านความมั่นคง การทำงานเพื่อสันติภาพในภาวะเช่นนี้จึงต้องการคุณภาพมากเป็นพิเศษกว่าภาวะปรกติ

บทความวิชาการนี้เสนอตัวอย่างเล็ก ๆ ในการประยุกต์ทฤษฎีการควบคุมคุณภาพ สำหรับสร้างสันติภาพในรูปแบบที่รัฐบาลกำลังรณรงค์ คือ การพับนกกระดาษสัญลักษณ์ของสันติภาพ เพื่อนำไปโปรยยังหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แสดงความปรารถนาดีจากประชาชนที่อยู่นอกพื้นที่ในวันที่ 5 ธันวาคม 2547

เมื่อสิ้นสุดบทความ หวังว่าผู้อ่านคงจะได้เห็นความสำคัญของการควบคุมคุณภาพและได้เห็นการประยุกต์ใช้รู้วิชาการ แม้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นขณะนี้

เบื้องต้นขอเสนอข้อสมมติบางประการในเบื้องต้นสี่ประการ ด้านบวกและด้านลบอย่างละสองข้อ ข้อสมมติประการแรก คือ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่น่าจะดี ผู้พับนกส่วนใหญ่มีจิตอันเป็นกุศล ข้อ ความที่เขียนลงไปในตัวนกกระดาษส่วนใหญ่จะเป็นมธุรสวาจา

ข้อสมมติประการที่สอง คือ ผู้ได้รับนกที่มีเจตนาดีและข้อความดีจะรู้สึกดี ทำให้เกิดจิตสันติ รัฐบาลย่อมเชื่อว่า ด้านบวกทั้งสองข้อข้างบนเป็นจริง มิฉะนั้นคงไม่คิดโครงการนี้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะเห็นด้วยกับข้อสมมติที่เหลือหรือไม่

ข้อสมมติประการที่สาม คือ มีผู้พับนกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสมลงในนกกระดาษ อย่างที่เห็นได้จากการส่ง SMS ออกโทรทัศน์และการเขียนบนเว็บบอร์ดหลาย ๆ แห่ง

ข้อสมมติประการสุดท้าย คือ เมื่อผู้รับนกได้รับข้อความไม่ดีเหล่านั้น จะมีความรู้สึกที่ไม่ดี ทั้งด้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมและรู้สึกไม่มั่นใจในความมั่นคง จนอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในระยะยาว ถ้ารัฐบาลตั้งใจให้เกิดเหตุการณ์ด้านลบในข้อสมมติที่สามและที่สี่เกิดขึ้นน้อยที่สุด รัฐบาลจะทำอย่างไรได้บ้าง

รัฐบาลอาจจะเชิญชวนหรือขอร้องให้ประชาชนให้ประชาชนเขียนแต่ข้อความที่ดี ซึ่งอาจจะลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง มากไปกว่านั้นรัฐบาลอาจจะคิดสั่งให้หน่วยงานกลั่นกรองดูข้อความในตัวนกเหล่านั้นให้คัดตัวที่มีข้อความไม่ดีออกไป แต่ทั้งหมดนี้คงจะทำได้ยากเนื่องจากมีนกจำนวนหลายล้านตัวซึ่งเขียนข้อความไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อควบคุมคุณภาพนกแต่ละตัวไม่ได้รัฐบาลมีทางเลือกที่จะจำต้องปล่อยนกไปทั้งหมด โดยหวังว่านกร้ายซึ่งมีข้อความไม่ดีมีอยู่น้อยและเชื่อว่า ถึงได้รับไปก็เกิดผลเสียหายไม่มากนัก

หรือรัฐบาลอาจจะใช้ทางเลือกที่สอง คือ การสุ่มตัวอย่างตรวจข้อความในนกแต่ละล็อต (lot) ก่อนนำไปโปรยโดยวิธีที่เรียกว่า `lot quality assurance sampling' แปลเป็นไทยว่า `การสุ่มตรวจเพื่อควบคุมคุณภาพของล็อต

วงการอุตสาหกรรมใช้วิธีนี้กันมานานเพื่อการควบคุมคุณภาพสินค้าว่าพร้อมออกสู่ตลาดหรือไม่ และวงการระบาดวิทยาเริ่มใช้กันในการเฝ้าระวังติดตามระดับของปัญหาต่าง ๆ เช่น เชื้อมาลาเรียดื้อยาในพื้นที่ว่ามีมากจนจะต้องเปลี่ยนชนิดของยาหรือยัง ถ้ารัฐบาลจะรับวิธีนี้ไปใช้ในกรณีของนกกระดาษอาจจะมีขั้นตอนดังนี้

ขั้นต้น รัฐบาลต้องกำหนดว่าอะไรคือ ล็อต เช่น อาจจะถือว่านกกระดาษที่มาจากแต่ละอำเภอ (หรือประมาณหนึ่งหมื่นตัว) คือหนึ่งล็อต การสุ่มตัวอย่างในขั้นต่อไปจะต้องทำทีละล็อต

ขั้นที่สอง รัฐบาลกำหนดมาตรฐานนกกระดาษที่จะโปรยว่าควรมีนกร้ายซึ่งมีข้อความไม่เหมาะสมไม่เกินร้อยละเท่าไร ถ้ามีจำนวนน้อยมาก เช่นหนึ่งในหมื่นตัวความเสียหายต่อสันติภาพคงไม่มากนักเพราะนกส่วนใหญ่เป็นนกที่ดี

แต่ถ้ามีนกร้ายถึงหนึ่งในสิบ การโปรยนกกระดาษอาจจะเกิดผลที่ร้ายแรงต่อสันติภาพเพราะข้อดีจากนกที่ดีจะถูกกลบด้วยผลร้ายจากนกที่มีข้อความไม่เหมาะสม

ขั้นที่สาม เมื่อกำหนดมาตรฐานที่ต้องการควบคุมได้ ก็คละนกกระดาษเหล่านั้นปนกัน แล้วสุ่มตัวอย่างออกมาตรวจสอบจำนวนหนึ่งเพื่อหาว่ามีนกร้ายมากเกินมาตรฐานหรือไม่ ถ้ามากเกินก็อย่าได้โปรยนกล็อตนั้นออกไป ถ้าไม่เกินก็น่าจะนำไปโปรยได้

คำถามต่อไปคือจะต้องใช้ตัวอย่างนกกี่ตัว คำตอบอยู่ที่ระดับความเข้มงวดของคุณภาพที่รัฐบาลต้องการ ในที่นี้จะให้ตัวอย่างสามระดับ คือ ร้อยละสิบ, ร้อยละห้า และร้อยละหนึ่ง ถ้าต้องการไม่ให้มีนกร้ายเกินร้อยละสิบ ก็สุ่มตัวอย่างมาจากล็อต เพียง 25 ตัว ถ้าพบว่ามีนกร้ายอยู่ในนั้นแม้แต่เพียงตัวเดียวก็พึงสรุปเบื้องต้นว่านกทั้งล็อต น่าจะมีนกร้ายอยู่เกินร้อยละ 10

ถ้าต้องการไม่ให้มีนกร้ายเกินร้อยละห้า ก็สุ่มตัวอย่างมากจากล็อต ให้ได้ 52 ตัว ถ้าพบนกร้ายอยู่แม้เพียงตัวเดียวก็น่าจะเชื่อว่ามีนกร้ายเกินร้อยละ 5 ของทั้งล็อต ถ้าจะเข้มงวดให้เหลือไม่เกินร้อยหนึ่งก็ต้องเพิ่มตัวอย่างเป็น 268 ตัว และไม่ให้พบแม้แต่ตัวเดียวใน 268 ตัวนั้นจึงจะผ่านเกณฑ์คุณภาพ

ถ้าต้องการความเข้มงวดระดับอื่นก็ต้องไปถามนักสถิติให้คำนวณขนาดตัวอย่างให้

ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ รัฐบาลอาจจะมอบหมายให้ผู้รับผิดชอบแต่ ล็อตตรวจสอบคุณภาพก่อนนำส่ง และลงบันทึกให้แน่นอนว่า ล็อตใดซึ่งผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วจะนำไปโปรยในพื้นที่ใด

ถ้าชาวบ้านฝ่ายรับนกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องการทำแบบฝึกหัดวิชาสถิติตรวจสอบคุณภาพซ้ำก็ย่อมทำได้โดยวิธีเดียวกัน จะได้เป็นการประเมินผลว่ารัฐบาลควบคุมคุณภาพได้ดีจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การสุ่มตัวอย่างประกันคุณภาพด้วยขนาดตัวอย่างเหล่านี้รับประกันความถูกต้องทางสถิติได้ร้อยละ 95 ไม่ใช่ร้อยละร้อย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในล็อตเดียวกันมีนกร้ายไม่เกินร้อยละหนึ่งจริง สุ่มล็อตนั้นมาครั้งละ 268 ตัวทำซ้ำอยู่ร้อยครั้งจะมีอยู่ 95 ครั้งซึ่งไม่มีนกร้ายปนมาเลย อีก 5 ครั้งยังอาจจะมีปะปนมาในตัวอย่างได้บ้างโดยบังเอิญ ถ้าต้องการให้เชื่อมั่นได้มากขึ้นก็ต้องเพิ่มขนาดตัวอย่างขึ้นไปอีก

โดยสรุป การทำงานเพื่อสันติภาพก็น่าจะต้องมีการควบคุมคุณภาพ ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านคงจะเห็นว่าวิชาสถิติมีประโยชน์และน่าเรียนรู้แม้ในยามที่เรามีปัญหารุนแรงเรื่องสันติภาพในปัจจุบัน

ศ. นพ. ดร. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้, หน่วยระบาดวิทยา,
คณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net