Skip to main content
sharethis

ลวดลายงามวิจิตรของ "เพ็ญศิริไหมไทย" ทุกลวดลายบนผืนผ้าที่พลิ้วไหว ล้วนบ่งบอกความตั้งใจจริงต่อการอนุรักษ์ "ผ้าไทย" ไว้ได้อย่างตรึงใจ ซึ่ง "ชีระโชติ และเพ็ญศิริ สุนทรารักษ์" คนสองคนที่ร่วมกันสานก่อต่อลายมรดกงานหัตถกรรมที่บรรพบุรุษวางรากฐานไว้ให้ ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อดำรงผ้าไทยให้คงอยู่สืบนาน

"ชีระโชติ" เล่าว่า ระยะแรกกว่าจะมาเป็น "เพ็ญศิริไหมไทย" ราวปี 2516 คุณพ่อปรีชาเกียรติและคุณแม่พยอม บุณยเกียรติ พ่อและแม่ของ "เพ็ญศิริ" ภรรยาของเขา ซึ่งทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ เริ่มก่อร่างวางฐานธุรกิจทอผ้าไหม เพื่อสืบสานงานหัตถกรรมดั้งเดิมของครอบครัวที่มีโรงทอผ้าไหมอยู่ที่จังหวัดลำพูน โดยนำผ้าไหมมาจำหน่ายให้กับลูกค้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งขณะนั้นเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ก็จำต้องหยุดชะงักไป จากผลพวงของเหตุการณ์ความไม่สงบช่วงตุลาคม ปี 2516 จากนั้น 5 ปีต่อมาเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลาย ก็เริ่มกลับมาสานต่อธุรกิจผ้าไหมอีกครั้ง โดยได้ลงทุนเปิดโรงงานเล็ก ๆ ย่านบางขุนเทียน นำคนงานจากลำพูนลงมาทอผ้าที่กรุงเทพฯ เพื่อตัดปัญหาการวิ่งขึ้นวิ่งลงขนส่งสินค้าไปมา และครั้งนี้เองที่ชื่อของ "เพ็ญศิริ" เริ่มเปิดตัวออกสู่ตลาดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ปี 2523 ก็ต้องย้ายฐานการผลิตทั้งหมดกลับไปทำโรงทอที่ลำพูน เนื่องจากประสบปัญหาคนงานเดินทางกลับบ้านบ่อย ทำให้การผลิตไม่มีความต่อเนื่อง คุณพ่อปรีชาเกียรติ ตัดสินใจลาออกจากงานประจำบริษัทแห่งหนึ่ง ส่วนคุณแม่พยอมก็วางมือจากงานราชการที่กองสลาก ย้ายกลับมาปักฐานทำธุรกิจทอผ้าไหมที่บ้านเกิดจังหวัดลำพูนแบบจริงจัง โดยภรรยาของเขารับอาสาทำตลาดและวิ่งหาลูกค้าในกรุงเทพฯ ซึ่งสมัยนั้นผ้าไหมยกดอก ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน เริ่มได้รับความนิยมจากลูกค้าที่เป็นเหล่าบรรดาข้าราชการและเจ้านายระดับสูงในรั้วในวัง

พื้นที่ 2 งานแถวแม่สารป่าแดด ตำบลเวียงยอง จังหวัดลำพูน ถูกพลิกฟื้นทำเป็นโรงงานทอผ้าไหม ด้วยเงินทุนที่พ่อและแม่ของภรรยาเก็บสะสมมาตลอดชีวิต มีคนงานทอเริ่มแรกประมาณ 20 - 30 คน ขั้นตอนการผลิตผ้าแต่ละผืน ใช้วิธีการผลิตแบบโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น 100 % และเริ่มพัฒนารูปแบบให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการปรับกระบวนการฟอกย้อมไม่ให้มีสารตกค้าง กิจการเริ่มไปได้ดี ลูกค้าเริ่มขยายวงกว้างขึ้น ทำให้การผลิตสินค้าแทบจะไม่ทันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งระยะต่อมาราวปี 2527 เพ็ญศิริไหมไทย ก็เริ่มพัฒนาลวดลายแปลกใหม่ของผ้าไหมยกดอกออกสู่ตลาดมากขึ้น และนับเป็นโรงทอรายแรกที่สามารถเก็บรายละเอียดลายผ้าไว้ในกระดาษกราฟ ซึ่งสามารถกระจายงานให้ช่างทอทำได้หลาย ๆ คนในเวลาเดียวกัน

โอกาสและวิกฤติ

หลังจากที่ชีระโชติเข้ามาเป็นเขยของครอบครัวบุณยเกียรติเมื่อปี 2531 เขาก็ได้เข้ามาช่วยสานต่อกิจการเพ็ญศิริไหมไทย เคียงคู่กับภรรยาแบบเต็มตัวต่อจากพ่อแม่ที่เริ่มวางมือทางธุรกิจ ซึ่งในระยะนั้นถือเป็นช่วงเวลาที่กิจการเริ่มอยู่ตัวและได้รับการยอมรับจากตลาดมากขึ้น และเป็นช่วงเวลาของการปรับธุรกิจแบบครอบครัวให้เป็นมาตรฐาน โดยติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินขึ้นหลัก 2,000,000 บาท เพื่อนำเงินมาปรับปรุงเครื่องมืออุปกรณ์ เพิ่มกี่ทอผ้า และปรับขยายพื้นที่อาคารโรงงานให้เป็นสัดส่วน

แต่ท่ามกลางโอกาสก็กลับเจอวิกฤติแรงงานฝีมือที่เคยทอผ้าในโรงงาน เริ่มละทิ้งกี่ทอผ้าเข้าไปทำงานในโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ลำพูน ซึ่งยังถือว่าโชคเข้าข้างที่มีกลุ่มแม่บ้านจากอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เข้ามาติดต่อขอให้เพ็ญศิริไหมไทยช่วยฝึกอาชีพการทอผ้าไหมยกดอกให้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกฝนและส่งเสริมงานทอผ้าให้กับกลุ่มแม่บ้านในชนบทที่อำเภอทุ่งหัวช้าง ที่เริ่มจาก 2 คน เพิ่ม เป็น 20 คน ขยายกลุ่มไปที่อำเภอลี้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแรงงานฝีมือที่เดินมาถูกทาง ปัจจุบันมีแรงงานที่ทอผ้ารวมทั้งสิ้น 160 คน

จังหวะรัฐส่งเสริมผ้าไทย
เดินหน้ารุกตลาดต่อเนื่อง

ปี 2536 เป็นอีกปีที่เพ็ญศิริไหมไทยขยายการลงทุนครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยขอก็เงินจำนวน 7,000,000 บาท เพื่อขยายพื้นที่เพิ่มเป็นกว่า 1 ไร่ โดยลงทุนสร้างโชว์รูมและบ้านไทย 2 หลัง ที่จัดเป็นส่วนของแกลอรี่แสดงเรื่องราวงานผ้าทอ ซึ่งเขาและภรรยามองตลาดการบริโภคผ้าไทยที่เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้น จากการที่รัฐบาลเริ่มรณรงค์และส่งเสริมให้คนไทยหันมาใช้ผ้าไทยมากขึ้น จึงเริ่มมองช่องทางขยายฐานตลาดลูกค้าให้กว้างขึ้น จากเดิมที่ทำตลาดในกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่

เขาบอกว่า ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา สินค้าแบรนด์เพ็ญศิริ ได้รับการตอบรับจากตลาดในหลายกลุ่ม และเริ่มผลิตสินค้าแบบต่าง ๆ ที่มีผ้าไหมเข้าไปเป็นส่วนประกอบ อาทิ ผ้าคลุมไหล่ กล่องใส่กระดาษทิชชู่ ปลอกหมอน และนอกจากมีผ้าไหมยกดอกเป็นสินค้าชิ้นเอกแล้ว ยังผลิตสินค้ารูปแบบ ใหม่ ๆ รองรับตลาดกลุ่มใหม่ที่มีระดับอายุ 20 ปีขึ้นไป อาทิ ผ้าไหมพื้น ผ้าไหมบาติก ผ้าไหมแก้ว และผ้าไหมยกดอกที่มีสีสันลวดลายที่เข้ากับบุคลิกของกลุ่มคนที่มีอายุต่ำกว่า 30 ลงมา และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา เพ็ญศิริไหมไทย ได้รับเลือกให้เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาวของจังหวัดลำพูน จึงยิ่งทำให้ชื่อของเพ็ญศิริเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

มองไกลโกอินเตอร์
Branding "เพ็ญศิริ"
"อนาคตอันใกล้นี้ เราจะปรับแนวตลาดของเราเป็น Mass มากขึ้น เป้าหมายต่อไปของเราคือการมุ่งสู่ตลาดส่งออก ที่แรกที่จะไปคงเป็นตลาดญี่ปุ่น ที่ขณะนี้มี Trader ญี่ปุ่นสนใจสั่งซื้อสินค้าผ้าไหมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เรากำลังจะนำเส้นใยไหมทอง หรือ "Golden Thai Silk" ที่เป็นผลงานค้นคว้าวิจันของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งคงต้องปรับระบบการทอแบบพื้นเมืองมาทอแบบที่ใช้เครื่องมืออุตสาหกรรม คาดว่าราว ๆ ปลายปีจะเริ่มผลิตและส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นล็อตแรก"

ซึ่งมากไปกว่านั้นเขาและภรรยายังวางแผนให้ผ้าไหมยกดอกเข้าไปอยู่ในกลุ่มแฟชั่น และให้คนเข้าถึงผ้าไหมยกดอกได้มากขึ้น โดยเริ่มขยายสาขาของเพ็ญศิริไว้ในหลายจุด มีที่กรุงเทพ 1 สาขา มีสาขาเชียงใหม่ ที่อยู่เลยโลตัสสาขาหางดง และเตรียมเปิดตัวเดือนพฤศจิกายนนี้อีกเป็นสาขาต่อไปที่เลอกองล้านนา เชียงใหม่

และอนาคตเพ็ญศิริไหมไทยคงไม่หยุดอยู่ที่การเป็น Thai Silk เท่านั้น เพราะในความเป็นจริงผ้าไหมสามารถเข้าไปแทรกอยู่ในตลาด 2 ส่วนหลักคือ การตัดเย็บเสื้อผ้าสวมใส่บนร่างกาย และกลุ่ม Home Textile หรือ เคหะสิ่งทอ อาทิ การนำผ้าไหมปรับประยุกต์เข้ากับเครื่องใช้เฟอร์นิเจอร์ หรืออาจจะมีลวดลายผ้าไหมบนเซรามิก หรืออาจจะมีผ้าไหมอยู่บนกระเป๋าหนัง โดยจะทำออกมาเป็นคอลเลกชั่นภายใต้แบรนด์ "เพ็ญศิริ"

"ขณะนี้เราเริ่ม Branding " เพ็ญศิริ" ให้เป็นแบรนด์ที่ดูเป็นสากลมากขึ้น เพราะนอกจากเราจะตั้งเป้าส่งออกผ้าไหมไปต่างประเทศแล้ว สินค้ากลุ่ม Home Textile ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งที่อยู่ระหว่างการเตรียมการ ซึ่งคาดว่าภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้ สินค้าแบรนด์ "เพ็ญศิริ" จะเข้าไปแทรกอยู่ในตลาดโลกได้"

กี่ทอผ้าของ "เพ็ญศิริไหมไทย" ยังคงทำหน้าที่ทอผ้าไหมยกดอกมรดกอันล้ำค่าของเมืองลำพูนต่อไป ด้วยฝีมือการทอของช่างทอพื้นบ้านที่ยังคงสืบสานงานหัตถศิลป์ให้คงอยู่ พร้อม ๆ กับการเร่งต่อยอด "เพ็ญศิริไหมไทย" สู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของ "ชีระโชติและเพ็ญศิริ สุนทรารักษ์" ที่ร่วมกันสร้างตำนานให้ "เพ็ญศิริไหมไทย" เป็นที่ประจักษ์จวบวันนี้.

สุธิดา สุวรรณกันธา
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net