Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1
"ลานหอยเสียบ" เป็นพื้นที่ปักหลักชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซ ไทย - มาเลย์ โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการในพื้นที่ตำบลสะกอม และตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

เกือบ 7 ปีแล้วที่กลุ่มชาวบ้านในเขต 2 ตำบลดังกล่าว รวมกลุ่มชุมนุมยืนหยัดคัดค้านโครงการดังกล่าว ที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา โดยมีเหล่าพันธมิตรทั้งใกล้เคียงและต่างภูมิภาคที่เข้าใจและเห็นด้วยกับการดำเนินการคัดค้านโครงการดังกล่าว

ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักวิชาการ นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ตลอดถึงสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนที่เป็นกรรมาธิการ ที่มีโอกาสได้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และแผนการดำเนินงานของโครงการ รวมไปถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นต้น

ภาพของการยืนหยัดชุมนุมคัดค้านโครงการดังกล่าวในพื้นที่รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตลอด 5 - 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าการจัดกิจกรรมยกขบวนเป็นทิวแถว ด้วยรถยนต์ประดับธงในริ้วขบวนสีเขียว สีแดงปลิวไสวด้วยแผ่นผ้าข้อความต่างๆ เพื่อบอกเล่าถึงความทุกข์ร้อน อันเกิดจากการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว ไปที่โน่นที่นั่น โดยเฉพาะหน่วยงานราชการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา

รวมไปถึงเวทีการจัดทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้งในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ในปี พ.ศ. 2543 และสุดท้ายภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุม ณ สะพานจุติอนุสรณ์ ปากทางเข้าโรงแรม เจ.บี หาดใหญ่ ในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 มีการจับกุม มีการออกหมายจับชาวบ้านออกมาเป็นระลอกๆ

ภาพของกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลย์ ตลอดถึงผู้ที่ชุมนุมอยู่ที่ลานหอยเสียบที่ปรากฏต่อสาธารณะเหมือนยักษ์มารเป็นพวกนิยมความรุนแรง ไร้เหตุผลเสมือนกลุ่มอั้งยี่ ซ่องโจรก็ไม่ปาน

หลังจากรัฐบาลมีมติ (4 บรรทัดครึ่งให้ดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปได้ โดยไม่ตอบข้อท้วงติง ข้อสงสัยของฝ่ายต่างๆ รวมถึงการร่วมกันล่ารายชื่อจากนักวิชาการทั่วประเทศ 1,300 กว่าคนให้ระงับและทบทวนโครงการดังกล่าว และไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าโครงการดังกล่าวแต่รัฐบาลก็ไม่สนใจ

นอกจากบอกว่า ให้เลื่อนแนวขั้นต่อจากทะเลตรงลานหอยเสียบออกไปประมาณ 700 - 800 เมตร) เมื่อประมาณวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 การดำเนินการเดินหน้าปฏิบัติการโครงการดังกล่าวก็เกิดขึ้น

กองกำลังตำรวจตระเวนชายแดน 2 - 3 กองร้อย พร้อมอาวุธสงครามหลากหลายชนิด สนธิกับกำลังตำรวจในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งในและนอกเครื่องแบบก็ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่อย่างแข็งขันเพื่อสนับสนุนคุ้มครองการทำงานให้กับผู้ดำเนินโครงการฯ

2

หันกลับไปดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้กันบ้าง หลังจากรัฐบาลประกาศทำสงครามกับยาเสพติด เมื่อต้นปี 2546 ประชาชนทั่วประเทศก็ได้รับข่าวคราวการจับกุมคุมขัง ยึดทรัพย์ตลอดถึงการวิสามัญฆาตกรรม การฆ่าตัดตอน การอุ้มฆ่าการหายไปของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ประมาณกันว่ามีผู้คนล้มหายตายจากไปเพราะนโยบายดังกล่าวทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 2,500 ศพ ในขณะที่ช่วงแรกๆ ของการประกาศสงครามผู้คนในบ้านเมืองต่างแซ่ซ้องสรรเสริญในความเอาจริงเอาจัง ในความเด็ดขาดของรัฐบาลตลอดถึงความรู้สึกสะใจ ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ( ? ) ต่างล้มหายตายจากไปในทุกตำบลหมู่บ้าน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ตกอยู่ในบรรยากาศ และสภาพไม่แตกต่างไปจากพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

ข่าวคราวการหายตัวไปของ สจ.คนหนึ่งของ จ.นราธิวาส โดยถูกอุ้มหายไปจากใจกลางของเมืองหลวง (ดอนเมือง) ด้วยข่าวลือกลบข่าวการหายตัวไปว่า เป็นผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การหายตัวไปของประชาชน การถูกฆ่าตายอย่างไร้สาเหตุและร่องรอย การจับกุมคุมขังเป็นไปอย่างเอิกเกริกครึกโครม ที่รัฐบาลนำมาโฆษณาเผยแพร่เป็นผลงานไม่เว้นแต่ละวัน

กลไกทางกฎหมายได้คืบคลานเข้ามาคลี่คลายปัญหาอย่างช้าๆ เมื่อมีการร้องเรียนของบุคคล กลุ่มบุคคลว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกยัดเยียดข้อหา ถูกกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในรูปแบบต่างๆ ภายใต้นโยบายทำสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล โดยละเลยขบวนการหรือขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมภายใต้กรอบของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ การละเมิด การลั่นแกล้ง การลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจรัฐและกฎหมายอยู่ในมือ เป็นไปอย่างฮึกเหิมเอกเกริกยิ่งนัก
การหายตัวไปของทนายสมชาย นีลไพจิตร แห่งสภาทนายที่ลงมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุม คุมขัง เพราะเริ่มได้กลิ่นอายของการกลั่นแกล้ง จับกุม คุมขัง โดยยัดเยียดข้อกล่าว
หา การทำร้ายทรมานผู้ถูกกล่าวหาให้รับสารภาพในขบวนการสอบสวน เริ่มปรากฏชัดขั้นเรื่อยๆ

และแล้วตัวของทนายสมชายก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ข่าวลือแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ว่าทนายสมชายถูกอุ้มไปฆ่า เพราะกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ กำลังถูกขบวนการทางกฎหมาย ขบวนการทางนิติบัญญัติ กระชากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม การดิ้นเพื่อให้หลุดรอดจากกระบวนการยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐก็คือ การมุ่งตัดเส้นใยดังกล่าว ทนายสมชายคือเส้นใยหนึ่งของขบวนยุติธรรม เขาจึงถูกกำจัดออกไป

หลังจากนั้นเหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดแดนใต้ก็ลุกเป็นไฟ หัวใจสำคัญแห่งต้นเหตุของปัญหาคือ "ความ
อยุติธรรม" ที่กลไกของรัฐส่วนหนึ่งเป็นผู้ก่อขึ้นและกลไกรัฐส่วนอื่นๆ ง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถสร้างความมั่นใจในการปกป้องคุ้มครองประชาชนคนบริสุทธิ์เอาไว้ได้

การชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมของญาติๆชุดรักษาความสงบหมู่บ้านเมื่อ 25 ตุลาคม 2547ที่ผ่านมาเพียงแค่ขอประกันตัวผู้ต้องหาตามสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา แต่กลับถูกโยกโย้หลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้ประกันตัว ระยะเวลาเนิ่นนานไปผู้ชุมนุมทั้งญาติๆ และไทยมุงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายทารุณจึงเกิดขึ้น

ความตายของผู้คนในเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมากมายอย่างน่าใจหาย ความสิ้นหวังไม่เชื่อมั่นในกลไกของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงขยายวงไปอย่างรวดเร็ว ความไม่ไว้วางใจแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเกรียดและอยากล้างแค้นตอบโต้จึงเกิดขึ้น แผ่นดิน 3 จังหวัดภาคใต้จึงลุกเป็นไฟ

3
พี่น้องที่ลานหอยเสียบในเขต อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นพี่น้องที่นับถือศาสนาอิสลามเหมือนกับพี่น้องส่วนใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ วิถีของชุมชนมุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม มีโลกทัศน์และ ชีวิทัศน์ที่เป็นเนื้อเดียวกันกับหลักคำสอนของศาสนา โดยส่วนใหญ่รักความสันติ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จิตใจอ่อนโยนมีความรักและเมตตากับผู้อื่นสูง

ตลอด 20 กว่าปีของผู้เขียน ซึ่งทำงานสัมพันธ์กับพี่น้องมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ขอยืนยันได้ว่าพี่น้องมุสลิมก็เหมือนคนไทยตามชนบททั่วทุกภาคของประเทศ ที่มีจิตใจงดงาม รักสงบและสันติ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็พบว่า ปัญหาของพี่น้องชุมชนมุสลิมในเขตอำเภอจะนะ หรือในพื้นที่ 3 จังหวัดชาย
แดนใต้ ต่างก็ประสบกับปัญหาของความอดอยาก ยากจน ขาดแคลนปัจจัย 4 เป็นอย่างมาก ซึ่งก็พบสาเหตุของปัญหามาจากสาเหตุเดียวกัน นั้นก็คือสาเหตุอันเกิดจากขบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม ที่มุ่งสู่ระบบการค้า เพื่อวัตถุ เพื่อเงินตรา โดยละเลยมิติทางสังคมอื่นๆ ไม่ว่ามิติทางศาสนาวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขบวนการพัฒนาที่ผ่านมาจึงทำลายกัดเซาะฐานการผลิตของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ของความเป็นอยู่ ดำรงอยู่ ให้ลดน้อยลงทุกวันๆ ทำลายมิติทางศาสนาและวัฒนธรรมอันเป็นมิติทางจิตวิญญาณ ที่เป็นตัวชี้วัดของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้อ่อนแอลงทุกวันๆ

พื้นที่ลานหอยเสียบ คือ ภาพสะท้อนของทิศทางการพัฒนาดังกล่าวที่ไม่เคยคำนึงถึงโลกทัศน์ ชีวิทัศน์ของความเป็นคนมุสลิมของพี่น้องที่อยู่กันเป็นชุมชนดั้งเดิมที่นั่น รวมไปถึงภาพสะท้อนของอำนาจรัฐ ที่ไม่ยึดนิติธรรมในการแก้ไขปัญหา ความไม่โปร่งใสของโครงการ

การรวมหัวกันของนายทุนกว้านซื้อที่ดินในราคาถูกๆ แล้วนำมาขายฮั้วกันในราคาแพงๆ ออก นส.3 รุกที่สาธารณะ ทำลายแม่น้ำลำคลอง พรุ ชายฝั่ง อันเป็นฐานการผลิตปัจจัยพื้นฐานของชุมชนให้น้อยลงและหมดลงไปเรื่อยๆ ล้วนเป็นการเพิ่มความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างแสนสาหัส

การนำกองกำลังติดอาวุธ เข้าไปอยู่ในพื้นที่เสมือนชาวบ้านเป็นศัตรู ที่จะต้องกำจัดให้หมดสิ้นไปให้หมด กลไกรัฐออกมาหนุนฝ่ายดำเนินโครงการที่บุกรุกชุมชนอย่างออกนอกหน้า ถามว่า ใครตกอยู่ในสถานการณ์แวดล้อมดังกล่าว จะทำให้เขามีความหวัง มีที่พึ่งอะไรเหลืออยู่อีกไหม

ได้แต่ภาวนาว่า อย่าให้พื้นที่ลานหอยเสียบแห่งอำเภอจะนะหมดที่พึ่ง หมดความหวัง ไม่ไว้วางใจอำนาจรัฐ กลไกรัฐ จนแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธเกลียดขึ้นในหัวใจของพวกเขา เหมือนพี่น้องเราบางส่วนในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เลย .
.......

บรรจง นะแส
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net