Skip to main content
sharethis

ความหวังลำพูนเข้ามรดกโลกคืบอีกขั้นผู้เชี่ยวชาญแจงขั้นตอน มีชื่อเข้าบัญชี หวังเสนอ สหประชาชาติ ปี 48 เปิดมิติใหม่ รวมวิถีชีวิต ชุมชน ภูมิปัญญาด้วย

ความคืบหน้าการผลักดันเมืองลำพูนให้เป็นมรดกโลก เคลื่อนไปอีกขั้น มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2547 ที่จ.ลำพูนได้มีการปิดประชุมขึ้น สาระสำคัญอยู่ที่การเสนอรายชื่อคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่ประชุมเห็นชอบให้มีคณะกรรมการโครงการฯ ประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง หน่วยปกครองท้องที่ องค์กรเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเป็นรายบุคคล มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยเป็นเลขานุการ กับให้มีอนุกรรมการเป็นคณะทำงานในฝ่ายอำนวยการฝ่ายสำรวจทางโบราณคดี ฝ่ายชำระประวัติศาสตร์ ฝ่ายศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ฝ่ายสถาปัตยกรรม ผังเมือง ภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม และฝ่ายประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้แล้ว การประชุมครั้งล่าสุด ยังได้เชิญ ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมิโอ) ผู้มีประสบการณ์ในการผลักดันให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา นครวัด และหลวงพระบาง ได้รับคัดเลือกให้เป็นมรดกโลกมาแล้ว ท่านมาในฐานะเป็นที่ปรึกษาของโครงการมรดกโลกเมืองลำพูน ร่วมชี้แจงถึงขั้นตอนและวิธีการศึกษาสำรวจเพื่อเตรียมความพร้อมให้เมืองลำพูนได้รับการเสนอชื่อในบัญชีเมืองมรดกโลกว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ซึ่งในขั้นแรกงบประมาณ 3 ล้านบาท สำหรับปี 2548 นี้ อย่างน้อยที่สุด เมืองลำพูนจะต้องได้แหล่งข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลก ไม่จำกัดเฉพาะด้านโบราณสถานเท่านั้น แต่จะต้องเปิดมิติใหม่รวมไปถึงวิถีชีวิต ศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น หมายความว่าแต่เดิมนั้น คำว่ามรดกโลกเคยจำกัดอยู่เพียงแค่อสังหาริมทรัพย์ ประเภทอาคารอนุสรณ์สถานเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี้แนวโน้มของการประเมินคุณค่ามรดกโลกได้เปลี่ยนไป โดยคณะกรรมการจะให้ความสำคัญแห่งการมีส่วนร่วมของชุมชนในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งกรณีนี้ ดร.พิสิฐ เชื่อว่าจังหวัดลำพูนมีความพร้อมเป็นอย่างยิ่ง

ท้ายสุด ดร.พิสิฐ ยินดีจะร่วมมือจัดทำเอกสารภาษาไทย - อังกฤษและรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการศึกษาสำรวจทั้งหมดมาประมวลและจัดระบบข้อมูลให้เข้าตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดไว้ เพื่อนำเสนอแก่องค์การสหประชาชาติ เพื่อให้รับพิจารณาเมืองลำพูนในราวปลายปี 2548 นี้

สำหรับโครงการศึกษาสำรวจเพื่อพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลกนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย กรมศิลปากรได้นำเสนอร่างโครงการขึ้นเป็นครั้งแรกต่อคณะรัฐมนตรีในคราวที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2547 ซึ่งในครั้งนั้น ดร.วิษณุ ได้กล่าวสนับสนุนและแสดงความสนใจต่อโครงการนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่าเมืองลำพูนเป็นอาณาจักรเก่าแก่ เป็นราชธานีโบราณที่สุดของภาคเหนือ มีอายุถึงพันปีเศษ มีโบราณวัตถุและโบราณสถานจำนวนมาก ในการนี้ ดร.วิษณุ ได้กล่าวเปรียบเทียบความเป็นเมืองโบราณของลำพูนกับเมืองโบราณแห่งหนึ่งของประเทศเวียดนามที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกแล้ว นั่นคือเมืองฮอยอัน ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็ก และเป็นเมืองที่ถูกมองข้ามเช่นเดียวกัน จากทัศนะดังกล่าวทำให้โครงการศึกษาสำรวจเพื่อพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลกได้รับการอนุมัติงบประมาณ 3 ล้านบาทในเบื้องแรก โดยความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากนั้นมาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โดยนายสมาน ชมพูเทพ ร่วมกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย นำโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะใจอินทร์ ได้จัดให้มีการประชุมเบื้องต้นสำหรับพัฒนาเมืองลำพูนขึ้นสู่มรดกโลก มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญในจังหวัดลำพูน ได้แก่หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน แกนนำ NGO ศิลปิน สล่า ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้อำนวยการสภาพัฒน์ ภาคเหนือ นายสุรพันธ์ จุ่นพิจารณ์ มากล่าวชี้แจงถึงที่มาของงบ 3 ล้านบาทที่อนุมัติให้จัดทำโครงการนี้ในเบื้องต้น การประชุมดังกล่าวได้ข้อสรุปที่เป็นสาระสำคัญในประเด็นเรื่องศักยภาพของการพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลก

หลังจากที่ดร.เพ็ญสุภา หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยได้พา ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการว่าด้วยอนุสัญญามรดกโลก ชมแหล่งโบราณสถานสำคัญในจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 แล้ว ศ.ดร.อดุลได้ทำการประเมินภาพรวมและชี้ถึงศักยภาพของการพัฒนาเมืองลำพูนสู่มรดกโลกว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะเข้าข่ายเงื่อนไขของเกณฑ์มาตรฐานที่มรดกโลกด้านวัฒนธรรมได้กำหนดไว้ตามมาตราที่ 1 ข้อที่ 1 ในด้านอนุสรณ์สถาน เนื่องจากมีผลงานด้านสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นหลายแห่ง ได้แก่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร กอปรด้วย พระบรมธาตุเจดีย์ทรงระฆังสมัยล้านนา พระเจดีย์เชียงยัน สุวรรณเจดีย์ (เจดีย์ปทุมวดี) หอไตรเครื่องไม้สมัยล้านนา หอระฆังกังสดาล และบริเวณภูมิทัศน์รายรอบอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีวัดจามเทวี ซึ่งมีเจดีย์สำคัญสององค์คือ เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม กู่ช้าง - กู่ม้า วัดพระยืน วัดเกาะกลาง ฯลฯ ซ่งแหล่งโบราณาถานทั้งหมดนี้มีคุณสมบัติที่โดดเด่นตามหลักเกณฑ์ที่มรดกโลกได้กำหนดไว้ มากถึง 4 ข้อได้แก่

1. เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมหรือตัวแทนของความงดงามและเป็นงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาดยิ่ง
2. เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนสืบต่อมา ในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรมอนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน ภูมิทัศน์ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง
3. เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่งหรือเป็นพยานหลักฐานแสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือ อารยธรรมที่ยังคงเหลืออยู่ หรืออาจสูบหายไปแล้ว
4. มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ลงความเห็นว่า เมืองลำพูนเองต้องพร้อมที่จะต้องยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านผังเมืองอย่างชนิดขุดรากถอนโคน อาทิ เช่น การรื้อสิ่งปลูกสร้างที่ระเกะระกะเขตโบราณสถานออกไป โดยเฉพาะสถาปัตย์สิ่งแปลกปลอมที่ก่อขึ้นใหม่ไร้รากฐานที่มาที่ไปของเทศบาล ในการนี้ฝ่ายเทศบาลยินดีที่จะรื้อถอนและจัดระเบียบเมืองใหม่เพื่อผลักดันลำพูนขึ้นเป็นมรดกโลกให้จงได้

วันที่ 29 กันยายน 2547 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้จัดการประชุมครั้งที่ 2 ขึ้น สาระสำคัญที่ได้จากการประชุม ได้แก่ ที่ประชุมมีมติให้การจัดทำแผนโครงการนั้นมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจการยอมรับและความมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการดำเนินงานทางวิชาการ งานประชาสัมพันธ์และการทำประชาพิจารณ์ ทุกขั้นตอนดำเนินการ จะต้องกระทำขึ้นเพื่อให้เกิดความเห็นชอบ สนับสนุนการฟื้นฟูตลอดจนร่วมกันอนุรักษ์รักษาหวงแหนรากเหง้าอารยธรรมก่อให้เกิดกระแสกลุ่มพลังออกมาเป็นแนวร่วมในการดำเนินงาน และการป้องกันความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนที่อ่อนไหวต่อผลกระทบ โดยขอบเขตของการดำเนินงานจะเป็นการสำรวจศึกษาจัดเป็นกลุ่มโบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดีเพื่อดำเนินการพัฒนาบูรณะด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมที่ดีในการฟื้นฟูต่อๆ ไป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net