Skip to main content
sharethis

สิ้นเสียงคำแถลงของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เมื่อเกือบ 22.00 น. ของวันที่ 28 ตุลาคม 2547 ดูเหมือนหลากหลายอารมณ์ของพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่เฝ้าตั้งตารอคอยฟังคำแถลงชนิดใจจดใจจ่อ ก็พลันปะทุออกมา

"นายนิเดร์ วาบา" นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันกับ "ประชาไท" ว่า จะเดินหน้าเรียกร้องให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ลาออกจากตำแหน่งนายก
รัฐมนตรี

เริ่มต้นจากการส่งหนังสือเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ถ้ายังไม่ยอมลาออก ก็จะนำชาวบ้านออกมาชุมนุม พร้อมกับถวายฎีกาขอรัฐบาลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

"หลังจากนี้ ผมจะเรียกประชุมองค์กรมุสลิมต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ ตอนนี้ มีบางองค์กรทางภาคกลางแสดงความจำนงจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับผมแล้ว" เป็นคำเปิดเผยที่หล่นออกมาจากปาก "นายนิเดร์ วาบา" ที่ยืนยันเสียงแข็งว่า นายกรัฐมนตรีผู้นี้ ไม่สมควรจะอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป เพราะยิ่งอยู่ ก็จะยิ่งมีแต่ความรุนแรง

"ผมจะสู้กับรัฐบาล โดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะพึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลที่ทำให้คนตายเกือบร้อยคนเช่นนี้ ให้อยู่ต่อไปได้อย่างไร พวกเราก็ผิดที่ไปก่อความไม่สงบ แต่รัฐบาลก็ผิด คนในที่ผู้ชุมนุมมีทั้งคนดี - คนไม่ดี กลับเหวี่ยงแหจับแบบมั่วๆ ผมไม่โทษเจ้าหน้าที่ระดับล่าง เพราะเป็นผู้รับคำสั่ง คนที่ต้องรับผิดชอบ คือ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล กับแม่ทัพภาคที่ 4"

เป็นคำประกาศชนิดตรงไปตรงมาโดยไม่อ้อมค้อมของ "นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้" ผู้นี้ ก่อนจะตบท้ายให้เจ็บแสบปวดร้อนกันทั่วหน้า…

"พอมีคนตายเกือบร้อยคน ก็เรียกผู้นำศาสนาไปแจกเงิน ฆ่าคนแล้วให้อาหารกิน ทำแบบนี้ผมรับไม่ได้"
แน่นอน ท่าทีของ "นายนิเดร์ วาบา" เช่นนี้ ย่อมส่งผลสะเทือนต่อสถานภาพของรัฐบาล ภายใต้การนำของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างอย่างยิ่ง

จึงไม่แปลกอันใดที่ตอนเที่ยงของวันที่ 29 ตุลาคม 2547 "รองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้" หน่วยงานที่มีชื่อย่อคุ้นหู "กอ.สสส.จชต." ถึงกับต้องยกหู
โทรศัพท์หา "นายอับดุลอาซิ ยานยา" ประธานชมรมปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้ช่วยไปบอก "นายนิเดร์ วาบา" ว่า เป็นข้อเสนอที่หนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง ไม่สามารถทำได้

"เขาขอในสิ่งที่ทำไม่ได้" รอง ผอ.กก.สสส.จชต. สื่อผ่าน "นายอับดุลอาซิ ยานยา" มาอย่างนั้น

คำตอบที่ "รอง ผอ.กก.สสส.จชต." ผู้นี้ ได้รับกลับมาจาก "นายอับดุลอาซิ ยานยา" ก็คือ ข้อเสนอของ "นายนิเดร์ วาบา" เป็นข้อเสนอที่ดีแล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาไม่ได้ ก็ไม่ควรจะอยู่อีกต่อไป

"นายอับดุลอาซิ ยานยา" เปิดอกกับ "ประชาไท" ว่า คำแถลงของนายกรัฐมนตรี ถึงแม้จะดูนุ่มนวลกว่าที่ผ่านมา แต่คงจะปล่อยให้บริหารประเทศต่อไปไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีคนนี้ เป็นต้นเหตุทำให้คนตายถึง 85 คน ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับมนุษย์เป็นๆ เช่นเดียวกับปลาอยู่ในเข่ง เหมือนมีเจตนาจะฆ่าให้ตาย อันที่จริงนายกรัฐมนตรีต้องขอโทษ แต่ก็ไม่ยอมทำ

"เหตุการณ์นี้ ชาวบ้านทุกระดับชั้นไม่พอใจทั้งนั้น โดยเฉพาะคนมุสลิม เหตุการณ์นี้เป็นตราบาปของรัฐบาลชุดนี้" เป็นถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาด้วยอาการไม่พอใจอย่างยิ่งของ "นายอับดุลอาซิ ยานยา"

เช่นเดียวกับ "นายมูฮำหมัด หะยีนิเงาะ" ประธานชมรมตาดีกาจังหวัดปัตตานี (ปุสตากา) ที่เห็นว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ไม่สมควรที่จะเป็น "นายกรัฐมนตรี" อีกต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า ภารกิจที่นายกรัฐมนตรีทำอยู่ เมื่อเทียบกับจำนวนคนตายในขณะดำรงตำแหน่งนี้ ไม่คุ้มกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ขณะที่ "นายแวดือราแม มะมิงจิ" ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จะมีก็แต่ "นายอับดุลรอแม เจะแซ" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ซึ่งใกล้ชิดอย่างยิ่งกับ "นายวันมาหะมัดนอร์ มะทา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีท่าทีเห็นอกเห็นใจรัฐบาลมากกว่าคนอื่นๆ โดยมองว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีแสดงทัศคติต่อปอเนาะในแง่ลบนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเข้าไปจัดระเบียบ

ถ้าญาติเห็นว่า นายกรัฐมนตรีชี้แจงยังไม่ชัดเจน คงต้องไปร้องเรียนผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือถามรัฐบาลได้เลย

"ผู้นำศาสนาฟันธงไม่ได้ว่า เหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ต้องให้ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงออกมาก่อน บางครั้งความคิดของชาวบ้าน ไม่สามารถนำมาใช้วัดใครผิดใครถูกได้"

ถึงกระนั้น "นายอับดุลรอแม เจะแซ" ก็บอกว่า ในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะประชุมร่วมกัน เพื่อหารือเรื่องการสลายการชุมที่อำเภอตากใบ และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม

ทว่า เมื่อหันมาดูท่าทีของ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด" ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ก็จะเห็นถึงดีกรีความแตกต่าง ด้วยเพราะผู้นำศาสนารายนี้ แสดงท่าทีไม่ค่อยพอใจต่อคำแถลงของนายกรัฐมนตรีนัก ด้วยเห็นว่า ไม่ได้ระบุว่าใครส่วนไหนเป็นผู้รับผิดชอบ จะทำอย่างไร จะย้ายใครออกไปบ้าง จะทำอย่างไรกับ 78 ศพ

ทว่า นั่นยังไม่เป็นปัญหารบกวนความรู้สึกของ "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด" มากนัก ด้วยเพราะจุดที่ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ไม่พอใจอย่างยิ่งอยู่ตรงนี้ …

"ผมไม่พอใจ ที่นายกรัฐมนตรีแถลงตอกย้ำมากเกินไปเรื่องปอเนาะ ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละประเด็นกับการชุมนุม แถลงแบบนี้ ทั่วโลกจะเข้าใจว่า ปอเนาะ คือ ต้นเหตุของปัญหา ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ ผมเกรงว่า ต่อไปปอเนาะอาจจะถูกปิด เป็นคำชี้แจงจากความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คนที่มีความฝังใจเช่นนี้ แก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไม่ได้"

ก่อนที่จะตบท้าย ชนิดตบหน้านายกรัฐมนตรีฉาดใหญ่ ผ่านคมคำพูดที่บาดลึก

"ความเจ็บช้ำน้ำใจของญาติผู้เสียชีวิต ไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยการซื้อ"

นี่คือ อีกหนึ่งท่าทีที่ชัดเจน จาก "นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด"

ท่าทีความไม่พอใจต่อการพูดถึงปอเนาะในด้านลบของนายกรัฐมนตรี ดูจะเป็นปัญหาคาใจผู้นำมุสลิมมาเนิ่นนานไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น "นายนิเดร์ วาบา" ที่แสดงอาการไม่สบอารมณ์มาแล้วหลายระลอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจค้นสถานศึกษาทางศาสนา ชนิดไม่ให้เกียรติต่อบุคคลและสถานที่ ถึงขั้นออกปากไม่ให้ความร่วมมือ "พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี" แม่ทัพภาค 4 และแสดงอาการไม่ยอมรับ "นายอารีย์ วงศ์อารยะ" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการอยู่ลึกๆ มาแล้ว

ความไม่พอใจต่อกรณีนี้ สะท้อนเห็นได้ชัดจากปากคำของ "นายอับดุลอาซิ ยานยา" ที่ระบุออกมาชัดเจนว่า "นายกรัฐมนตรี" คนนี้ ไม่ให้ความสำคัญกับโต๊ะครู สิ่งที่แถลงออกมา ยังวนเวียนอยู่เรื่องเดิม ดูเหมือนว่า นายกรัฐมนตรี จะยังไม่เข้าใจเรื่องปอเนาะ ขอย้ำว่าปอเนาะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่

"พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังแยกแยะไม่ออกว่า ปอเนาะ คืออะไร โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามคืออะไร" นี่คือ เสียงสะท้อนจาก "นายอับดุลอาซิ ยานยา"

อันเป็นไปในทิศทางเดียวกับ "นายอับดุลรอนิง กาหามะ" เลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มองว่า การที่นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ปอเนาะหรือสถานศึกษาทางศาสนา เป็นสาเหตุนั้น แสดงให้เห็นถึงความยังไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

"ดูเหมือนนายกรัฐมนตรี ต้องการแยกครูสอนศาสนากับนักเรียนออกจากกัน" เป็นข้อสังเกตจาก "เลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้"

ขณะที่ "นายรอชิดี เลิศอริยะพงศ์กุล" นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ถึงแม้จะมีท่าทีให้โอกาสนายกรัฐมนตรีอยู่ไม่น้อย ทว่า ก็ยังไม่เข้าใจว่า ทำไม "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จึงต้องพ่วงประเด็นปอเนาะเข้าไปในการแถลงคราวนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย

"นายกรัฐมนตรีคงเห็นว่า การแก้ปัญหาด้านการศึกษา จะสามารถป้องกันปัญหาด้านอุดมการณ์ได้" เป็นข้อสังเกตชนิดมองโลกในแง่ดีของ "นายรอชิดี เลิศอริยะพงศ์กุล"

นี่คือ ท่าทีของผู้นำศาสนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีต่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ยามนี้

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net