Skip to main content
sharethis

เป็นเวลา 1 ปีแล้วที่การเปิดการค้าเสรีผักผลไม้ไทยและจีนได้เกิดขึ้นโดยในมุมของเกษตรกรดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและเจ็บปวด

เวที "เขตการค้าเสรีไทยจีน ใครเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ก่อน" ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2547 ที่สำนักบริการวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงเป็นเวทีที่ถ่ายทอดผลกระทบออกมาทั้งจากเกษตรกร นักธุรกิจ และนักวิชาการได้เป็นอย่างดี

ทุกฝ่ายมองตรงกันว่า รัฐบาลเร่งรีบ เปิดประตูประเทศอ้าซ่าไปถึงห้องนอน และขาดการรู้เขารู้เรา…ไม่เท่าทันเขา

ราษฎรอาวุโสชี้ลืมตัวเอง
เกษตรกรถามใครกันแน่ได้เปรียบ

ศาสตราจารย์ระพี สาคริก นักวิชาการอาวุโสกล่าวปาฐกถาในช่วงต้นเรื่องอนาคตผลกระทบเขตการค้าเสรีไทยจีนระบุว่าเอฟทีเอเป็นส่วนหนึ่งของกระแสทุนนิยม และการหลงลืมสถานะที่แท้จริงของประเทศ ผู้มีอำนาจลืมตัวใช้เงินแก้ปัญหา เปิดตัวเองไปสู้กับประเทศใหญ่กว่า กระทบไหล่กับจีนก็เท่ากับว่าหิ่งห้อยไปท้าแสงจันทร์ จนทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาหนัก และตนไม่เคยเห็นประเทศไทยปล่อยให้เกษตรกรเป็นเช่นนี้

จากนั้นตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมจากอ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงจาก อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ และเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจาก จ.ลำพูนได้อภิปรายว่าต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักในปีทีผ่านมาเพราะต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากขณะที่ตลาดอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางที่สามารถเลือกซื้อสินค้าราคาถูกกว่าจากจีนได้ทำให้เกษตรกรไม่รู้ว่าทุกครั้งที่ไทยเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศและมักบอกว่าไทยได้เปรียบนั่นใครเป็นผู้ได้เปรียบกันแน่นั้นใครที่เป็นผู้ได้เปรียบนั้นกันแน่ และหากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนท่าทีประเทศเกษตรกรไทยคงจะรอดยากในเวทีการค้า

"รัฐบาลบอกว่าจะช่วยด้วยการประกันราคาหอมแดง เรารู้ว่าทำไม่ได้ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด หอมแดงปล่อยไว้ไม่เน่าก็น้ำหนักลด แล้วเชื้อพันธุ์หอมแดงก็ลดลง หอมจากอินโดนีเซียและอินเดียก็มีเพิ่มมากขึ้น"นายสุ่น โหนดิน เกษตรกรจากจังหวัดศรีษะเกตกล่าวและว่าเมื่อเกิดปัญหาผลกระทบกับเกษตรกรรัฐก็บอกเพียงว่าให้ลดพื้นที่ปลูกเท่านั้น

"การจัดการกับลำไยกว่า 250,000 ตันเป็นเงินหลายพันล้านบาท แต่เป็นที่รู้กันว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทที่จัดการเรื่องนี้ ดังนั้นถามว่าการค้าเสรีการทำข้อตกลงกับจีนใครได้ประโยชน์ ก็ดูที่ลำไยก็แล้วกัน"เกษตรกรจากจังหวัดลำพูนกล่าว

นักธุรกิจชี้เร่งไปขาดข้อมูล
คาดค้าชายแดนหมดความหมาย

จากนั้นมีการเสนอมุมมองจากสภาหอการค้า นายจุมพล ชุติมาประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่าย้อนหลังไป 4 ปีก่อนเจ้าหน้าที่รัฐได้ลงมาหารือถึงการเข้าสู่ระบบการค้า WTO ครั้งนั้นมีผู้เข้ารับฟังน้อยมาก และไม่แน่ใจว่าผู้เกี่ยวข้องที่อยู่รอบนอกออกไปจะได้รับรู้ว่ามีการหารือลักษณะนี้หรือไม่ ขณะที่ตนเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นต้องเตรียมตัว เหมือนการออกเรือไปในมหาสมุทรจะต้องรู้จักคลื่นลมและแนวของหินโสโครก แต่ไม่แน่ใจว่าข้อห่วงใยที่เสนอให้เตรียมป้องกันในครั้งนั้นได้นำไปอยู่ในรายละเอียดการเจรจาหรือไม่

ทั้งนี้ผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าไทยจีน1ปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเร่งรีบเกินไปและมองเพียงผลประโยชน์ผู้บริโภคโดยไม่ค่อยปกป้องผู้ผลิตและเปิดเสรีไปโดยขาดข้อมูลที่ครอบคลุมทำให้ไม่รู้เขารู้เรา ขณะที่จีนมีข้อกีดกันซึ่งไม่ใช่ภาษีมากมายซึ่งรัฐบาลเคยรับว่าจะไปเจรจาขอร้องให้ยกเลิกแต่จีนกลับถามว่าแล้วทำไมไทยไม่มี นั่นหมายความว่าจีนมีการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเอฟทีเอนานแล้ว ซึ่งหอการค้าฯ จะพยายามผลักดันให้รัฐบาลศึกษาข้อมูลให้ครอบคลุม ละเอียดกว่าที่เป็นอยู่ก่อนการตัดสินใจเปิดการค้ากับประเทศอื่นๆ เพิ่ม

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ยังมองถึงผลกระทบต่อเนื่องคาดว่าไม่เกิน10ปีการค้าชายแดนจะหมดความหมายลง เพราะผู้ค้ามุ่งค้าขายกับจุดศูนย์กลางของประเทศที่สามารถส่งต่อการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศได้ง่ายกว่า และสินค้าส่วนมากจะผ่านแหลมฉบัง เข้าเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง โดยยกกรณีของการส่งข้าวสารที่ต้องส่งจากเชียงรายไปกวางเจา ไม่สามารถส่งไปที่สิบสองปันนาได้ทั้งที่อยู่ใกล้กันกว่า

"ถ้าการค้าเสรีเปิดเต็มที่ การค้าชายแดนจะหมายความหมาย เพราะการค้าชายแดนของเราเป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมืองเพราะการปกครองของแต่ละประเทศใกล้เคียงไม่เหมือนกันยังจำเป็นต้องอาศัยสายสัมพันธ์ของพ่อค้าชายแดน แต่เมื่อมีการค้าเสรีก็ไม่ต้องผ่านการค้าชายแดน สามารถส่งสินค้าเข้าจุดศูนย์กลางที่สามารถกระจายไปทั่วประเทศได้ง่ายกว่า"

นายจุมพลยังมองว่าการที่จีนพยายามย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยเพียงเพราะต้องการทางผ่านเพื่อค้าขายกับประเทศที่ไทยเปิดเอฟทีเอด้วยมากกว่า และเสนอทางออกว่าเกษตรกรผู้ผลิตต้องเร่งให้ภาครัฐหาข้อมูลครบถ้วนว่าจะสามารถค้าขายอะไรได้บ้าง และหากรัฐบาลนำแนวทางที่เคยดำเนินงานกับที่ได้ทำกับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาพิจารณากับผลผลิตการเกษตรบ้าง มีการดูแลและต่อยอดให้เกิดการแปรรูปและทำการตลาดให้ได้ก็น่าจะดีขึ้นและสามารถรักษาข้อได้เปรียบของไทยไว้ได้

ด้านนายเสริมชัย กิตติรัตนะไพบูลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายกล่าวว่ามูลค่าการค้าชายแดนที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายที่มีปีละกว่า 3,000 ล้านบาทได้เริ่มเปลี่ยนแปลง การนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นมากแทนการส่งออกของ เอฟทีเอกำลังทำให้การค้าชายแดนที่อำเภอเชียงแสนมีบทบาทจะน้อยลง การค้าเริ่มไปแหลมฉบังกับคลองเตยมากขึ้นในเมื่ออัตราภาษีเป็น 0 ทั่วประเทศ พ่อค้าย่อมเลือกลงที่คลองเตยมากกว่าเพราะตลาดไทเป็นแหล่งกระจายสินค้าหลักของประเทศไทย

เขาได้ยกกรณีของการค้าข้าวสารหอมมะลิทั้งที่จังหวัดเชียงราย แพร่ พะเยา น่านและเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ ขณะที่ระยะทางที่ห่างจากเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานกับเชียงรายห่างกันเพียง 350 กม. แต่การขนส่ง จะต้องขนส่งจากเชียงรายไปแหลมฉบังระยะทาง 1,000 กม. ขึ้นเรือไปเมืองเสินเจิ้นอีก 4,000 กม. และเดินทางไปคุนหมิงอีก 5,000 กม.รวมระยะทาง 10,000 กม. เพราะการค้าขายข้าวกับจีนจะต้องเปิดโควต้าระหว่างพอร์ทเรือกับพอร์ทเรือ สำหรับท่าเชียงแสนเขาไม่นับว่าเป็นท่าเรือ ทำให้การขนส่งไปก็ดำเนินการโดยคนกลุ่มเดียว ซึ่งขณะนี้หอการค้าจังหวัดเชียงรายได้ทำหนังสือถึงจังหวัดและให้ทำถึงรัฐบาลว่าให้เปิดโควต้าข้าวที่เชียงแสนไปจังหวัดสิบสองปันนาได้หรือไม่

นายเสริมชัยยังบอกอีกว่า การค้าขายแบบเอฟทีเอจะต้องมี 2 ใบสำคัญคือ ใบซีโอหรือใบแหล่งกำเนิดสินค้า และใบรับรองการปลอดสารพิษตกค้าง และต้องแจงค่าใช้จ่ายต้นทุน การประกันภัย และการขนส่ง ซึ่งด้วยกระบอบการปกครองที่แตกต่างจีนย่อมมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว ซึ่งในไทยไม่มีทางสู้จีนได้ในทุกกรณี และชั้นเชิงจีนสูงกว่ามาก

นายเสริมชัยเห็นว่าการปรับตัวพ่อค้าที่เชียงแสนนั้นภาครัฐน่าจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยลดต้นทุน จากกรมวิชาการเกษตรน่าจะส่งสำนักงานตรวจสอบสารตกค้างมาที่เชียงรายเร็วขึ้น มิเช่นนั้นจะเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้ผลไม้จากภาคตะวันออกจะส่งออกทางท่าเรือเชียงแสนจะต้องแวะตรวจสารพิษที่เชียงใหม่ก่อน 1 วัน

มีหลายอย่างทำได้ แต่รัฐไม่ทำ

นางชิง ชิง ทองดี ประธานสมาคมผู้ส่งออกผลไม้ไทยให้สัมภาษณ์ว่า เอฟทีเอหรือข้อต่อรองการค้าเสรีของไทยจีนเป็นเหมือนการยกเว้นภาษีนำเข้า แต่สำหรับสินค้าผักและผลไม้สด ภาษีไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญ การลงนามกับจีน สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลไม่ใช่ภาษีแต่เป็นเรื่องอื่นเพราะเป็นสินค้าที่ของเสียหายง่าย

ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐบาลไทยแทนที่จะมีมาตรการสนับสนุนผู้ส่งออก แต่เหมือนกับว่าพยายามเอาใจจีนซึ่งเป็นลูกค้าด้วยการนำอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีมาตั้งกับพ่อค้าของเราเอง แนวทางของรัฐบาลต้องการให้เราไม่ส่งของไม่ดี หรือมีสารพิษให้แต่จริงๆไม่ได้อยู่ในข้อตกลงกับจีนอยู่แล้ว เราไปกีดกันของเราเอง และยิ่งรัฐไปเซ็นข้อตกลงกับใครก็ยิ่งเข้าเนื้อผู้ประกอบการไปใหญ่

"ดิฉันมองว่าจีนให้ความสะดวกด้วยซ้ำ เพราะส่งสินค้าเข้าจีนแล้วไม่มีคนบริการจะไม่สามารถส่งได้เลย ทั้งเรื่องขนส่ง เรื่องหัวลาก ตลาดเขาเหมาจ่ายทั้งหมด ส่วนเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มรัฐบาลของเขามีสิทธิเก็บได้ ศุลกากรเขาเก็บแทนรัฐบาล ข้อตกลงก็บ่งบอกอย่างนี้ ไทยเราไม่มีสิทธิ์และไม่ควรด้วยที่จะไปขอร้องเขาเรื่องให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้แล้วบอกว่าทีเราไม่เก็บ เพราะนั่นเป็นเรื่องของเรา ในมุมของผู้ประกอบการงงว่าทำไมเราต้องเจรจาว่าเขาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 13 % เพราะทุกประเทศก็เก็บกัน ทั้ง ยุโรป มาเลเซีย เป็นนโยบายของเขา ผู้ประกอบการไม่อยากให้พูดเรื่องนี้ เพราะมันไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ ถ้าเราจะเก็บก็มีมาตรการอื่นที่ไม่ใช่แวตก็ได้ที่รัฐบาลไทยทำได้ทั่วโลกก็ทำกัน

นางชิง ชิง เห็นว่าภาษีตัวเดียวมีวิธีดำเนินการหลายอย่างเช่น การทำภาษีพ่วงกับโควต้าก็มี พ่วงกับฤดูกาลก็มี ไม่ใช้การยกเว้นทั้งหมด เขาพ่วงกันทั้งนั้น เช่นพ่วงภาษีกับโควต้า ตัวอย่างคือเมื่อนำเข้า 20,000 ตัน ยกเว้นภาษีให้ แต่หลัง 20,000ตันขอเก็บภาษี หรือจะพ่วงกับฤดูกาลก็ได้ แต่เราไม่ทำเอง ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ทำ

วุฒิสภาลุยประมวลข้อมูล
เชื่อรัฐต้องทบทวน

ด้านนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่าหลังการเปิดการค้าเสรีไทย-จีน 3 เดือน กรรมาธิการได้มาตรวจสอบผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือพบว่า พื้นที่เพาะปลูกกระเทียมลดลงถึง 70 % ซึ่งรุนแรงมาก

จนถึงขณะนี้เชื่อความยากจนเกิดขึ้นในภาคเหนือเพิ่มขึ้นแน่ ทั้งนี้ได้พยายามเสนอแนะไปตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าเราไม่ควรเซ็นสัญญาเร็วเกินไป และหากจะเซ็นก็ควรให้ภาคการผลิตได้มีส่วนรับรู้ และสอบถามกันก่อน ซึ่งตนเชื่อว่าต้องมีแต่ผู้ไม่เห็นด้วย เพราะกรรมาธิการฯ มีข้อมูลว่า พื้นที่เพาะปลุกในภาคเหนือมีน้อยลงมาก พื้นที่กว่า 80 % เป็นของนายทุนซึ่งต้องเช่าทำการเพาะปลูก แล้วข้อเสนอของรัฐบาลที่ให้ไปปลูกยางพาราก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการปลูกไม้ล้มลุกของเกษตรกรส่วนมาก

"ส่วนรอบการเจรจากับสหรัฐอเมริกา อาจถึงขั้นที่ไทยจะต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ขยายการผลิตจีเอ็มโอเพราะอเมริกาต้องการ แต่ผมเชื่อว่าการรวบรวมข้อมูลวิจัยครั้งนี้ผลของมันจะกระทบให้รัฐบาลทบทวนต้องทบทวน"

เมื่อเสียงสะท้อนฉายภาพสิ่งที่ภาคผลิตและผู้เกี่ยวข้องเผชิญเช่นนี้แล้ว รัฐจะทบทวนเร่งแก้ไขหรือเดินหน้าเจรจากับประเทศต่างๆ ต่อไป จึงเป็นเรื่องต้องติดตามหาคำตอบ

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net