Skip to main content
sharethis

"ปลอด" ย่องเงียบตรวจไนท์ฯ ยังอ้อมแอ้มว่าเสร็จทันแต่อาจเปิดให้ชมกลางปีหน้า ปรับราคาค่าเข้าชมใหม่ เพิ่มขึ้นเท่าตัว ระบบฟาสท์แทรคเริ่มคายพิษ ต้องฉีกผลวิเคราะห์ที่จ้างทีมเบอร์นาร์ดร่วม 20 ล้านบาททีละข้อแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2547 นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการเพื่อศึกษาวางแผนและดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคืน จ.เชียงใหม่ และกิจกรรมเกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือ สสค. มาติดตามความคืบหน้าการก่อสวนสัตว์กลางคืนหรือไนท์ซาฟารี ในพื้นที่ก่อสร้างต.แม่เหียะ โดยให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่าการก่อสร้างได้เร่งดำเนินการไปกว่าร้อยละ 60 คาดว่าจะเสร็จทันตามกำหนด (13 เมษายน 2547)และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้กลางปีหน้า

ขณะเดียวกันข่าวพาดหัวจากหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ฉบับวันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2547 ระบุว่า "คนเชียงใหม่เตรียมเฮ จะได้ชมฟรีไนท์ซาฟารี" มีรายละเอียดที่ชี้ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนแผนด้านการตลาดของโครงการนี้ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงล่าสุดที่สวนทางกับแผนการศึกษาที่ว่าจ้างบริษัทต่างชาติมาเขียนไว้ด้วยเม็ดเงินที่สูงหลายล้านบาท

รายงานข่าวของไทยนิวส์ซึ่งเป็นฉบับเดียวที่ได้ข้อมูลเนื่องจากผู้สื่อข่าวอาวุโสเป็นหนึ่งในกรรมการประชาสัมพันธ์โครงการนี้ระบุถึงการประชุมคณะทำงานปรับโครงสร้างราคาค่าเข้าชมไนท์ซาฟารีซึ่งประกอบด้วยเอกชนเช่น สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์ และผู้ประกอบการทัวร์ครั้งนี้ว่า มีการปรับเปลี่ยน จากเดิมที่กำหนดจะจัดเก็บในอัตราที่แตกต่างกันคือนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 300 บาท ครอบครัว 1,200 บาท

ขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยเก็บผู้ใหญ่ 250 บาท เด็ก 150 บาท นักเรียน 150 บาท ครอบครัว 650 บาท และคนท้องถิ่นในอัตรา 70 - 170 บาทนั้น ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางโดยเห็นว่าการแบ่งกลุ่มบัตรค่าผ่านประตูหลายราคาจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียความรู้สึกที่มีความแตกต่างกับคนไทย เลยมีข้อสรุปให้เป็นราคาเดียวคือ 800 บาทและอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดในการจัดจำหน่าย เช่นลดราคาสำหรับเด็กครึ่งราคา ดีกว่าจะประกาศในตอนแรกให้เป็นราคาต่ำแล้วไปเพิ่มขึ้นภายหลัง และเสนอให้ช่วงโปรโมชั่นคนเชียงใหม่อาจสามารถเข้าชมได้ฟรี 1 เดือนเป็นต้น

อย่างไรก็ตามนี่เป็นข้อสรุปของคณะทำงานแต่การตัดสินใจว่าจะเป็นข้อยุติหรือไม่อยู่ที่คณะ
กรรมการอำนวยการฯซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดีเป็นประธานอีกครั้ง

ข้อเสนอถึงการปรับเปลี่ยนราคา โดยมุมของผู้ทำการตลาดจริงอย่างสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์ และผู้ประกอบการทัวร์ในพื้นที่ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่สวนทางกับผลการจัดทำแผนแม่บทในหมวดแผนธุรกิจและการตลาดที่ได้ว่าจ้างบริษัทเบอร์นาร์ด แฮริสันแอนด์เฟรนด์ ของดร.เบอร์นาร์ดจากประเทศสิงคโปร์อีกครั้ง

วิธีการ fast track ที่โครงการนี้นำมาใช้ได้ส่งผลให้เกิดการวิเคราะห์การลงทุนอย่างรวดเร็วโดยระบุว่าจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่าในเบื้องต้น แต่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงหลายกรณี

คณะกรรมการ สสค. จัดจ้างที่ปรึกษาจากประเทศสิงคโปร์ ประกอบด้วย Dr.Bernard Harrison Ms.Laura Yanez Mr.Gustavo collados Ms.Tina Lim Mr.vasanta Nugegoda ซึ่งเข้ามาวางแผนทั้งการใช้พื้นที่ โครงสร้างการบริหาร การตลาดและกลุ่มเป้าหมายลูกค้า การลงทุน รวมไปถึงการอบรมการจัดการสวนสัตว์

กำหนดระยะเวลาดำเนินงานแผนกรอบแนวคิดหลักปรากฏในระเบียบวาระการประชุมครั้งที่ 3/2545 วันที่ 16 กรกฎาคม 2545ว่าทำงานในประเทศไทย (เชียงใหม่ 1-2 สัปดาห์) และในประเทศสิงคโปร์ (3-4สัปดาห์) วงเงิน 4.4 ล้านบาท ซึ่งเวลาเพียงสั้นๆ เท่านี้ทำให้วิธีการทำงานคือ สสค.ระดมสรรพกำลังและข้อมูลทั้งหมดมาให้ทีมที่ปรึกษารับทราบ

ในการรวบรวมข้อมูลยุทธศาสตร์ด้านการตลาด ระหว่างวันที่ 10 - 15 กันยายน 2545 ที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้วได้เชิญผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่มาให้ข้อมูลเรื่องลักษณะประชากรของจังหวัดเชียงใหม่ พฤติกรรมการบริโภค ค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตตามหมวดต่างๆ ข้อมูลลักษณะของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนเชียงใหม่ ระยะเวลาวันพัก ลักษณะการเข้าพัก การใช้จ่าย กิจกรรมที่ชอบ ข้อมูลสายการบินและการคมนาคมทางอื่น ข้อมูลร้านค้า และเข้าพบผู้ดำเนินกิจการท่องเที่ยวภายในประเทศ จากนั้นทีมงานได้กลับไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์

แม้การประชุมจะปิดลับ แต่ข้อมูลก็เล็ดลอดมาให้ได้รับรู้ว่ามีการถกเถียงลงรายละเอียดถึงค่าเข้าชม โดยทีมงามที่ปรึกษากำหนดว่าความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวไนท์ซาฟารีรวมวันละประมาณ 7,000 คน ค่าบัตรผ่านประตูควรจะอยู่ที่รายละ 2,000 คน

แต่ภาคธุรกิจในท้องถิ่นระบุว่าไม่มีทางเป็นไปได้ ราคาจึงปรับลดลงมาอยู่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 500 บาท ชาวไทย 200 บาท คนเชียงใหม่ 100 บาท แต่ในกิจกรรมอื่นเช่นขี่ช้าง นั่งรถรางจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

การประชุมครั้งนี้ได้ลงรายละเอียดถึงขั้นต่อรองโดยกลุ่มผู้ประกอบการปางช้างว่า จะไม่ให้มีอยู่ในโครงการนี้ได้หรือไม่เพราะธุรกิจนั่งช้างอยู่ทางโซนเหนือของจังหวัด โดยอาจเปลี่ยนมานั่งเกวียน แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าจะต้องเป็นช้างหรือรถรางล้อเท่านั้น เนื่องจาก

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตถึงมุมมองที่เริ่มแตกต่างจะว่าที่ปรึกษาต่างประเทศกับธรรมชาติของตลาดในเชียงใหม่

เมื่อแผนกรอบคิดเบื้องต้นแล้วเสร็จ สสค.ก็มีมติจ้างทีมงานนี้จัดทำแผนแม่บทต่อเนื่องไปอีกทั้งรายละเอียดแผนการก่อสร้าง แผนการตลาด และแผนการบริหารจัดการวงเงิน 19.9 ล้านบาท ควบคู่ไปกับจ้างบริษัทในประเทศเพื่อออกแบบรายละเอียด Detailed Design ในวงเงิน 30 ล้านบาท ดังนั้น 2 บริษัทที่ปรึกษานี้รวมใช้เม็ดเงินค่าที่ปรึกษา 49,908,570 บาท

วันที่ 3-7 มีนาคม 2546 เป็นช่วงของการมาทำแผนแม่บท (Master plan) และระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2546 มีการมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อลงรายละเอียดด้านการก่อสร้างและธุรกิจท่องเที่ยว

แผนธุรกิจที่ประชุมกัน 3 วัน ร่วมกับเจสซี่ ซี และทีนา ลิม ได้แบ่งกลุ่ม 5 กลุ่มคือด้านการเงินและการตลาด โครงสร้างการบริหารและบุคลากร การฝึกอบรมและคุณภาพการบริหาร อาหารเครื่องดื่มและธุรกิจขายปลีก การดำเนินงานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อปรับปรุงข้อมูลและได้ข้อสรุปมาปรากฏเป็นเอกสารเผยแพร่ร่างแผนธุรกิจโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ในหมวด 3 วิเคราะห์การตลาด กล่าวถึงส่วนแบ่งการตลาดแบ่งเป็นตลาดต่างประเทศและในประเทศ ที่รวมทั้งสิ้น 940,000 ถึง 1.17 ล้านคน ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในปีแรกที่ดำเนินการ เมื่อเปรียบเทียบกับสวนสัตว์กลางคืนสิงคโปร์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยว 850,000 คนในปีแรก
ในเอกสารการวิเคราะห์ผลตอบแทนของโครงการในการประเมินความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน และการวิเคราะห์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ของโครงการซึ่งคณะทำงานเสนอต่อครม. ระบุว่า การศึกษาความเป็นไปได้มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีรายละเอียดดังนี้คือ การศึกษาใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบัน (Marginal Loan Rate : MLR) 6.5% ปรากฏว่าโครงการมีความเป็นไปได้ในการลงทุน และให้ผลตอบแทนคุ้มค่า โดยมี NPV = 88.38, B/C Ratio = 1.053 และ IRR = 8

และกำหนดรายได้อัตราการใช้บริการไว้ตามที่ระบุข้างต้น อันเป็นชุดข้อมูลเดียวกันที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ

แต่เริ่มมีความเห็นของผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการทำสวนสัตว์ซาฟารีกลับเห็นแตกต่าง นายผิว คิ้วคชา เจ้าของซาฟารีเวิร์ดและภูเก็ตแฟนตาซี ที่ปรึกษาโครงการฯ อธิบายถึงระบบทำทัวร์ว่าเอเยนต์ทัวร์เมืองไทยโครงสร้างก็ไม่เหมือนที่อื่น ตัวอย่างที่ภูเก็ตแฟนตาซี ขายตั๋ว 1,600 บาท จ่ายทัวร์ไป 600 บาท เขาได้ 900 บาท ดังนั้นหากไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่ขายต่างชาติ 400 บาท ต้องให้ทัวร์อย่างน้อย 200 บาทก็อาจจะไม่ส่งลูกค้าให้ ซึ่งเมื่อทัวร์ไม่ลง คนก็จะค่อยๆ ลดไป

การเสนอปรับราคาตามระบบทัวร์ที่ผู้ประกอบการยื่นเสนอมาล่าสุดคือความเป็นจริงที่สวนทางกับผลการศึกษาล่าสุด

ก่อนหน้านี้ในประเด็นของเม็ดเงินลงทุน การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเรื่องสัตว์ก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ประเมินเงินเพื่อการซื้อสัตว์ไม่กี่สิบล้านบาท แต่เมื่อต้องใช้จ่ายจริงกับต้องใช่ร่วม 100 กว่าล้าน จนเป็นเหตุผลหนึ่งต้องเปลี่ยนจากการซื้อสัตว์มาเป็นเช่าเอกชนแทนอยู่ในขณะนี้

นาทีนี้ ถ้าจะบอกว่า พิษของระบบ FAST TRACK เริ่มคายใส่ไนท์ซาฟารีแล้วคงไม่ผิดนัก

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net