Skip to main content
sharethis

ย่างเข้าฤดูหนาว...... "เชื้อไข้หวัดนก" ก็ยังไม่จากไปไหน ปฏิบัติการต่อ "เป็ดไล่ทุ่ง" ตัวการสำคัญในการกระจายเชื้อจึงยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ข่าวคราวของมันกลับเงียบหายไปตามลำดับ " ทีมข่าวเฉพาะกิจของประชาไท" ซึ่งเดินทางไกลมาจากขอนแก่น จึงอดไม่ได้ที่จะตระเวนสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับ "คนเลี้ยงเป็ด" เพื่อไม่ให้เรื่องราวของเขาจมหายไปกับกระแสข่าวที่แผ่วเบาลงทุกที

เสียงไก่ขันยามเช้าผสมโรงกับเสียงจอแจของเป็ดร่วม 3,000 ตัว ข้างๆหัวนอน เป็นสัญญาณบอกเสน่ห์ เอกประชา เกษตรกรชาวบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ว่าถึงเวลาที่เขาต้องตื่นจากความหลับใหล ยันกายออกนอกเต็นท์ มาทักทายเจ้าตัววุ่นที่ส่งเสียงร้องเรียกจากในเล้าว่าอยากจะออกไปสัมผัสท้องทุ่งจนเต็มแก่

เพราะไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร เขาจึงตัดสินใจผันชีวิตจาก "มนุษย์เงินเดือน" ในเมืองกรุงเมื่อ 3 ปีก่อน มาเป็นคน "เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง" อาชีพของปู่ย่าตาทวดที่มีมากว่า 30 ปี หาเลี้ยงครอบครัว

จากชีวิตการทำงาน ที่เคยตอกบัตรเข้า-ออกเป็นเวลาในออฟฟิศ กลับต้องมาสู้รบปรบมือกับเป็ด เหน็ดเหนื่อยที่ต้องตระเวนข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัด ถือไม้ไล่ต้อนเป็ดออกหากินตามท้องทุ่งโดยอาศัยผืนนาคนอื่น สภาพเนื้อตัวมอมแมม กรำแดดกรำฝน หลับนอนในเต็นท์ กินอยู่กับเป็ด กว่าจะได้กลับบ้านมาอยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัวก็กินเวลาร่วมเดือน

แต่เขาก็มีความสุขกับชีวิตแบบนี้ เพราะรายได้จากการขายไข่ทำให้เขาและภรรยาเลี้ยงดูลูกทั้ง 5 คน ได้อย่างสบาย

"ผมตื่นมาตอนเช้าเก็บไข่เป็ดขายก็ได้เงินแล้วอย่างน้อยวันละ 2-3 พันบาท" เขากล่าวอย่างภูมิใจ

ไข่หลายร้อยฟองถูกเรียงลงแผงพร้อมสำหรับขาประจำมารับซื้อตอนเช้าตรู่ เป็นภารกิจแรกของวัน ที่คุณพ่อวัย 32 ปีผู้นี้ ต้องทำ ก่อนจะกำกับเป็ดในอาณัติที่เบียดเสียดแย่งกันวิ่งออกจากเล้าไปหากินตามทุ่งนาในตอนสาย

แม้จะต้อนให้เป็ดลงทุ่งแล้ว เขายังต้องคอยสอดส่ายสายตาดูแลเจ้าตัววุ่นทั้งหลายให้กินอยู่อย่างปกติสุข โดยมีไม้ไผ่คู่ใจเอาไว้ขู่เป็ดเกเรที่ออกนอกลู่นอกทาง

"5-6 โมงเย็นก็ต้อนกลับแล้ว" เขาบอก

การต้อนเป็ดให้กลับเล้าด้วยความปลอดภัยในตอนพลบค่ำ คือสิ่งที่ยืนยันว่าภาระของเขาเสร็จสิ้นแล้ว...อีกหนึ่งวัน

แต่ความสุขของคนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งอย่างเขา พลันต้องเลือนหายไป เมื่อสมาชิกหลายร้อยตัวในเล้า ออกอาการเซื่องซึม แววตาเศร้าเปลี่ยนจากสีน้ำตาลเป็นสีฟ้า หัวบวมปูดผิดรูป สัญญาณอันตรายนี้เตือนให้เขาทำใจได้ไม่กี่วัน เป็ดคู่ยากของเขาก็ค่อยๆล้มตายไปจนเกือบเกลี้ยงเล้า

เขาได้รู้ในเวลาต่อมาว่าที่เป็ดของเขาล้มตายเพราะมันติดเชื้อไข้หวัดนก ที่กลับมาระบาดอีกครั้งเป็นรอบที่ 2 พร้อมๆกับได้รู้ จากปศุสัตว์ว่าต้องนำเป็ดที่ติดโรคไปกำจัด ตามนโยบายเอกซเรย์ทุกพื้นที่ของรัฐบาล

เสียงเซ็งแซ่ของเจ้าจอมยุ่งที่เหมือนกำลังถามอย่างสงสัยว่า มันผิดตรงไหนถึงไล่มันลงหลุม ทำให้ผู้ชายอย่างเขาสะเทือนใจไม่น้อย ยิ่งปศุสัตว์สั่งให้ถ่ายรูปการฝังเป็ดเพื่อเป็นหลักฐานขอรับเงินชดเชย มันยิ่งตอกย้ำว่า3,000 ชีวิต ที่เขาผูกพันทุกค่ำเช้า มันกลายสภาพมาเป็นภาพถ่าย 2-3 ใบ

"ตัวที่ตายก็ขนลงหลุม ตัวที่ยังไม่ตายก็ไล่ต้อนฝังมันทั้งเป็น ก็มีปศุสัตว์อำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อสม. มายืนดู" เสน่ห์บอกเรื่องที่เพิ่งผ่านพ้น

เสน่ห์เล่าว่าเขาต้องรับภาระเรื่องการฝังกลบทั้งหมด ตั้งแต่จ้างรถแบ็คโฮ มาขุดหลุมฝังเป็ด ทั้งเหนื่อยและร้อนเพราะเขาต้องขนเป็ดนับพันลงหลุม ด้วยตนเอง

"เขาหาว่าผมลักเลี้ยง ฟาร์มไม่ได้มาตรฐาน" เหตุผลสั้นๆนี้ ทำให้เป็ดกว่า 3,000 ตัว ของเขาถูกฝังกลบโดยไม่ได้รับเงินชดเชย แต่เขาก็ยังไม่เคยได้รับรู้จากกรมปศุสัตว์ว่าฟาร์มแบบมาตรฐานเป็นอย่างไร

เขานึกภาพไม่ออกว่า หากต้องจับเจ้าตัวยุ่งที่มันชอบวิ่งวุ่นทั้งวันเข้าไปอยู่ในโรงเรือนแบบปิดตามที่กรมปศุสัตว์แนะนำ มันคงจะเหมือนเด็กโดนกักบริเวณ คงน่าสงสารมาก หากมันไม่ได้เล่นน้ำ ไม่ได้ซุกซนอย่างเคย

เสียงป่าวประกาศ ที่นางวันนา อินสว่าง อายุ 38 ปี ผู้เลี้ยงเป็ดชาวบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์
จ.สุพรรณบุรี ได้ยินกรอกหูมาเกือบเดือนผ่านหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านนั้น ไม่พ้นเรื่องเจ้าหน้าที่จะมาเจาะเลือดเป็ดเพื่อตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก ขอความร่วมมือห้ามเคลื่อนย้ายเป็ด บอกวิธีการป้องกันหวัดนก คำชี้แจงเรื่องเงินชดเชย ระบบโรงเรือนแบบมาตรฐาน ฯลฯ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ชีวิตคนเลี้ยงเป็ดจนๆอย่างเธอต้องแบกรับภาระที่หนักหนาเพียงใด แม้เป็ดของเธอจะรอดพ้นจากเชื้อมรณะนี้ แต่เธอก็ยังต้องอยู่อย่างลำบาก

มือที่กำไม้ไผ่ขนาด 2 เมตรค้ำยันพื้นน้ำ และแววตาหม่นเศร้าที่จับจ้องเป็ดนับพันในลำคลอง ตีความได้อย่างไม่ยากเย็นว่า หญิงที่ยืนแช่น้ำท่ามกลางแดดจัดผู้นั้น กำลังมีความทุกข์ และกังวลใจ

"เดี๋ยวนี้เขาไม่ให้ย้าย ขนาดจะพาเป็ดไปลงนาหมู่บ้านใกล้ๆยังต้องแจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อน เป็ดไม่มีอาหารกิน เราก็ไม่มีปัญญา จะซื้อรำซื้อหัวอาหารให้"

"แต่ก่อนเคยบนว่า ขออย่าให้เป็ดติดโรค แต่เดี๋ยวนี้ต้องบนว่าขอให้เป็ดตายๆไปซะ จะได้รับเงินชดเชย" เธอพรั่งพรูถึงปัญหาหนักอกที่กำลังเผชิญอยู่อย่างสิ้นหวัง

"ที่รัฐบาลว่าอีก 4 ปีข้างหน้า จะไม่มีคนจนคงจะจริง เพราะคนจนตายหมด เหลือแต่คนรวย" คำพูดประชดประชันนี้แฝงไปด้วยความเจ็บปวด

เธอและสามีคุ้นชินกับการต้องพักค้างอ้างแรมในต่างถิ่น สองสามีภรรยาใช้เวลาร่วมเดือนพาเป็ดไปไล่ทุ่งยังที่ต่างๆ แล้วค่อยย้อนกลับบ้านที่สุพรรณบุรี

" จ้างรถ 6 ล้อ ขนเป็ดไป วนอยู่ในสุพรรณมั่ง ไปสิงห์บุรีมั่ง ลพบุรีก็ไปมา เราไปทุกปี เจ้าของนาเขาจำเราได้ เขาก็ไว้ใจให้เอาเป็ดลงนา ไปแต่ละที่ก็นาน 20 -30 วันถึงจะกลับ " สำเนียงเหน่อของนางวันนาพยายามเล่าเรื่องราวการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งให้ทีมงานประชาไทฟัง

ก่อนออกเดินทางนางวันนาและสามีต้องเตรียมสัมภาระที่จำเป็น มีอาหารแห้ง เครื่องครัว เสื้อผ้า มุ้ง เสื่อ หมอน ผ้าห่ม และเต็นท์สำหรับกางนอน

"ถ้าจะไปลงที่ไหนก็ต้องขอเจ้าของนาก่อน เป็ดมันกินหอยเชอรี่ในนาข้าว เขาก็ได้ประโยชน์ เราก็ให้เงินเขาบ้าง ให้ไข่เขากินบ้าง ตอบแทนกันไป" เธอบอกอย่างนั้น

ส่วนเจ้าตัวยุ่งทั้งหลายก็ต้องมีที่นอนเหมือนกัน นายกาเหว่าผู้เป็นสามีจะนำตาข่ายเขียวทำเป็นเล้าชั่วคราวให้เป็ดอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน เรียกว่าดูแลให้กินอิ่มนอนหลับชนิดที่ไม่ห่างกันไปไหน

แม้ว่าเธอและสามีจะต้องห่างจากลูกชายและลูกสาวเป็นเวลานานๆ แต่เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว เพื่ออนาคตที่ลูกจะได้เรียนสูงๆ หัวอกของผู้เป็นพ่อแม่จำต้องยอม เธอและคู่ชีวิต จึงยึดอาชีพเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งจุนเจือครอบครัว ผ่านร้อน ผ่านฝน ผ่านหนาวมาร่วม 10 ปีแล้ว

ทั้งหมดที่เธอเล่ามา...วันนี้มันกลายเป็นอดีตไปแล้ว พรุ่งนี้จะเป็นเช่นไรเธอเองยังไม่รู้

จากนโยบายการปราบปรามเชื้อไข้หวัดนกของรัฐบาล เป็ดไล่ทุ่งจึงเป็นเหมือนเนื้อร้ายชิ้นเล็กๆที่หากตัดออกแล้ว คนส่วนใหญ่ของประเทศจะปลอดภัยทั้งจากเชื้อหวัดนก สินค้าจำพวกเป็ดไก่ปลอดโรค ส่งออกได้คล่อง หนุนเศรษฐกิจของประเทศ

แต่หลายชีวิต หลายครอบครัว ของคนเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง กลับต้องตกอยู่ในภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หากจะเลี้ยงเป็ดต่อไปก็ต้องยอมเป็นหนี้สินอย่างต่ำ 2 แสนบาท เพื่อสร้างโรงเรือนที่ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร หรือหากไม่มีเงินทุนก็ต้องเปลี่ยนอาชีพมารับจ้างเพื่อความอยู่รอด

ณ วันนี้คนเลี้ยงเป็ดต่างก็เตรียมใจว่ารูปแบบการเลี้ยงเป็ดคงเปลี่ยนไป และเจ้าของเป็ดคงไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยอย่างพวกเขา

วัฒนธรรมของชาวนาในการต้อนรับขับสู้ผู้มาไกล ให้อาศัยหลับนอนในที่นาของตน และการที่คนเลี้ยงเป็ดเก็บไข่มาฝากเจ้าของนา เพื่อตอบแทนความมีน้ำใจที่ยอมให้ไล่เป็ดลงทุ่ง ความเกื้อกูลของคนในสังคมแบบนี้คงต้องหมดไป

แม้แต่ภาพที่พวกเขาไปเดินกับเป็ดไล่ทุ่ง หาปลา เก็บผักข้างทาง และการได้คุยกับเพื่อนบ้าน ที่ช่วยต้อนเป็ดยามพลบค่ำ อาจคงเหลืออยู่แค่ในความทรงจำและจางหายไปในที่สุด

กฤติยา ศศิภูมินทร์ฤทธิ์
กิติยวดี สีดา
วลัยพรรณ ภูมิภักดิ์

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net