Skip to main content
sharethis

หนี้จากโครงการไร่นาสวนผสม
บทเรียนราคาแพงชาวบ้านห้วยกาน

"โครงการไร่นาสวนผสม" นโยบายของภาครัฐที่ดำริขึ้นเมื่อราวปี 2536 เพื่อส่งเสริมการทำการเกษตรแนวใหม่ที่ผสมผสานทั้งการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ภายในที่ดินผืนเดียว อาจส่งผลดีต่อเกษตรกรในบางพื้นที่ ที่มีที่ดินเอื้ออำนวย แต่สำหรับเกษตรกรในหมู่บ้านห้วยก้าน ของอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเข้าร่วมโครงการไร่นาสวนผสมเมื่อกว่า 10 ปีก่อนตามคำแนะนำของภาครัฐ หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะจากสภาพภูมิประเทศบริเวณนั้นที่แห้งแล้ง ไม่เหมาะต่อการทำการเกษตรในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้พืชผลไม่ติดดอกออกผล สุดท้ายสิ่งที่ได้รับกลับกลายเป็นภาระหนี้สินที่กู้ยืมมาจากธนาคาร พอกพูนและผูกพันมาจนกระทั่งวันนี้

ทั้งนี้ จากสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับชาวบ้านไม่มีความรู้มากพอ เนื่องจากเกษตรกรถูกปลูกฝังแนวความคิดไปสู่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมานานชั่วอายุคน รวมทั้งการถูกล็อกสเป็คเพื่อหาผลกำไรใส่ตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ วัว ควาย บ่อน้ำและไม้ผล ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เลือก

เกษตรกรบ้านห้วยกาน หมู่ 8 ตำบลห้วยหม้าย อำเภอสอง จังหวัดแพร่ จำนวน 24 คน เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดแพร่ ถึงปัญหาหนี้สินผูกพันจากโครงการของรัฐ ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตร (ธกส.) จังหวัดแพร่ เร่งรัดและอาจมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นถ้าเกษตรกรยังไม่ชำระหนี้ รวมเป็นเงินกว่า 2,000,000 บาท

การร้องเรียนของชาวบ้านห้วยกานครั้งนี้ แม้สิ่งที่ชาวบ้านพยายามให้ข้อมูลว่าเป็นโครงการของรัฐที่นำมาให้ในรูปของการส่งเสริมการเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้ต้นพันธุ์ไม้ผลที่กำหนดให้คือมะม่วงและมะขามหวาน เมล็ดผักสวนครัวชนิดต่างๆ สัตว์เลี้ยงจำพวกสุกรและโค รวมทั้งการขุดบ่อเลี้ยงปลาพร้อมทั้งพันธุ์ปลา ซึ่งในแต่ละครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการสามารถเสนอแผนงานได้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาท

ความจริงแล้วชาวบ้านในบ้านห้วยกานมิได้เดือดร้อนเพียง 24 รายตามที่ยื่นร้องต่อศูนย์ดำรงธรรม แต่ได้เข้าร่วมโครงการจำนวนถึง 42 ครอบครัว ซึ่งแต่ละครอบครัวมีระดับการของบประมาณสนับสนุนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับแรงงานและพื้นที่ทำกินของเกษตรกร ซึ่งโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2536 หน่วยงานที่รับผิดชอบคือ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดแพร่

นายมา มาลา อายุ 65 ปี ชาวบ้านห้วยกาน บอกว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการโดยได้รับเงินจำนวน 200,000 บาท สาเหตุที่ได้มากกว่าคนอื่นเพราะมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่เกษตรอำเภอนำมาให้ เชื่อว่าชาวบ้านอยากได้ทุกโครงการที่รัฐส่งเสริม เพราะมีผู้เข้ามาแนะนำให้ดำเนินการ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมั่นใจ และเชื่อว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดีในการพัฒนาอาชีพนำไปสู่การหาเงินเข้ามาเลี้ยงครอบครัวและแบ่งเบาภาระหนี้สิน ซึ่งโครงการไร่นาสวนผสมดังกล่าวไม่สามารถนำเงินไปใช้อย่างอื่นได้เนื่องจากต้องนำไปซื้อสิ่งของตามที่กำหนดมาในโครงการเท่านั้น
"ความจริงแล้วผมมีความเดือดร้อนเรื่องเงินที่จะนำไปทำนาในแต่ละปีมากกว่า เมื่อโครงการดังกล่าวทางราชการนำมาให้ก็คิดว่าจะได้เงินไปใช้ตามที่ต้องการ แต่ปรากฏว่านำเงินไปใช้อย่างอื่นไม่ได้ต้องไปซื้อโคพันธุ์ต่างประเทศที่มีการติดต่อพ่อค้ามาขายให้ถึงในตำบล เงินส่วนใหญ่ต้องไปจ้างขุดบ่อน้ำลึก 2 เมตรอีก 1 บ่อเพื่อเลี้ยงปลา ที่เหลือเป็นต้นไม้ผลจำพวก มะขามมะม่วง ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เลือกต้องทำตามที่เกษตรอำเภอบอก"

นายมา กล่าวว่า ความจริงรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่มีการขุดสระเลี้ยงปลา เพราะบ้านห้วยก้านเป็นหมู่บ้านแห้งแล้ง ในที่สุดก็เป็นจริงเลี้ยงปลาไม่ทันโตน้ำก็หมดปลาก็ขายไม่ได้ โคพันธุ์ดีที่นำมาเลี้ยงชาวบ้านไม่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเท่ากับโคพื้นเมืองแต่เราเลือกไม่ได้ในที่สุดโคก็ตาย บางรายที่เหลืออยู่โคไม่กินหญ้าตามธรรมชาติ ในที่สุดก็เริ่มป่วยและตายเป็นส่วนใหญ่ โคที่เหลืออยู่ต้องรีบขายไปในสภาวะจำยอมขายแบบขาดทุน ถึงแม้จะเกิดความล้มเหลวและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมก็หายไปแล้วแต่ชาวบ้านก็พยายามใช้หนี้คืนให้กับธกส.ซึ่งมีดอกเบี้ยร้อยละ 9 ชาวบ้านบางคนพยายามขายของที่พอขายได้เช่นหมู วัว ที่เหลืออยู่เพื่อนำไปใช้หนี้สู้ได้แค่ 50,000 บาท จากนั้นก็ไม่สามารถส่งได้อีก ประสบปัญหากันทั้งกลุ่ม

นายพูน ขจรคำ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 กล่าวว่า ชาวบ้านต้องทยอยขายสิ่งของที่ได้มาตามโครงการไปเพื่อชำระหนี้ และส่งให้กับ ธกส.ไปตามมีตามเกิด แต่ก็ไม่สามารถส่งคืนได้เพราะสิ่งที่เหลือคือบ่อปลา และสวนมะขาม มะม่วง ที่ไม่สามารถทำรายได้ให้กับชาวบ้านตามที่เกษตรอำเภอแนะนำ ระยะเวลาที่ผูกพันนานพอสมควรกว่า 10 ปี ชาวบ้านที่ประสบปัญหาพยายามแก้ปัญหาด้วยตนเอง ใช้หนี้คืนด้วยการกู้เงิน ธกส.อีกก้อนหนึ่งเพื่อนำมาส่งให้เป็นปีๆ ไป บางรายกู้นอกระบบมาใช้หนี้เนื่องจากู้ธกส.ไม่ได้ ปรากฏว่าหนี้พอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกษตรกรเหล่านี้ไม่คิดคดโกงแต่หมดหนทางในการจ่ายคืน ในที่สุด ธกส.ได้พยายามเข้ามาไล่เบี้ยเรียกเก็บเงินคืนจากชาวบ้าน และมีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ ด้วยการรวมหนี้ทั้งต้นดอกเป็นก้อนเดียวกันลดดอกจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 5 แต่ชาวบ้านก็ไม่สามารถหาเงินมาคืน ถึงแม้อัตราดอกลดลงแต่ชาวบ้านไม่สามารถหาเงินมาคืนได้

นายไกรศร จงสุข ชาวบ้านที่เดือดร้อนอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวชาวบ้านไม่คิดจะเอาเงินไปฟรีๆ หรือคดโกง ขอใช้เงินคืน แต่โครงการที่ได้รับมานั้นไม่ตรงกับความถนัดและสภาพภูมิประเทศแม้แต่น้อย

"ผมพยายามท้วงติงกับทางเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาส่งเสริมแล้วแต่ทางราชการไม่ฟังบอกให้ทำไปเถอะจะเกิดผลเอง ในที่สุดปัญหาก็ตกอยู่กับชาวบ้าน 10 ปีปัญหาไม่ได้หมดไปแต่กลับทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ชาวบ้านจะไปกู้เงินธนาคารพาณิชย์มาชดใช้ก็ทำไม่ได้เนื่องจากทั้งหมู่บ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนชาวบ้านที่ประสบปัญหาขอทางออกดังนี้ 1.ขอให้รัฐหยุดหนี้ของแต่ละคนซึ่งรวมกันแล้วมีมูลค่าถึง 2,000,000 บาทไม่ให้มีดอกเพิ่มขึ้นไปกว่านี้อีก 2. ขอให้ยกเลิกดอกเบี้ยทั้งหมด 3. ขอเงินงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งเพื่อจะได้นำมาพัฒนาอาชีพใหม่ตามที่ชาวบ้านถนัดและคิดเอง ทุกวันนี้ผมต้องไปตัดไม้ไผ่ในป่ามาขายก็มีกำไรพออยู่ได้อย่างนี้เป็นต้น เมื่อได้เงินมาจึงค่อยส่งใช้ให้กับธกส.ต่อไป"

ความเดือดร้อนดังกล่าวไม่เพียงผลกระทบจากธกส.เท่านั้น หมู่บ้านแห่งนี้ยังถูกตัดสิทธิ์ในการส่งเสริมใดใดที่เป็นเม็ดเงินจากสถาบันการเงินทุกประเภท โดยเฉพาะโครงการโอท็อป ที่ภาครัฐไม่เข้ามาส่งเสริมในหมู่บ้านแห่งนี้ เนื่องจากทางราชการเห็นว่าชาวบ้านไม่มีเครดิต ยังคงเหลือเพียงเงินกองทุนหมู่บ้านที่ชาวบ้านยังคงหยิบยืมมาหมุนเวียนกินใช้ในหมู่บ้านต่อไปแบบกระเบียดกระเสียนเต็มที ปัญหาความเดือดร้อนทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ปีนี้ชาวบ้านต้องเผชิญกับภัยแล้งและอากาศที่หนาวเย็นอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปัญหาดังกล่าวเป็นบทเรียนอย่างดีสำหรับโครงการของรัฐที่ดำเนินการส่งเสริมตามกระแสโดยไม่ดูความต้องการและความรู้ความถนัดของเกษตรกร ถึงแม้เป็นโครงการที่ดีแต่เมื่อปัจจัยหลายประการไม่พร้อมก็สามารถทำให้โครงการประสบความล้มเหลวและเป็นปัญหาต่อประชาชน ในขณะที่ข้าราชการผู้ส่งเสริมยังอาจมีส่วนได้จากการซื้อโคพันธุ์ดี รับเหมาขุดสระน้ำ และการซื้อพันธุ์ต้นไม้ผลดังกล่าว เรียกว่ามีคนได้ดีทุกขั้นตอนแต่ชาวบ้านกลายเป็นผู้รับกรรมแทน

ล่าสุดนายอำนวย พลหล้า หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สาขาน่าน-แพร่ ได้เข้าไปรับฟังปัญหาของกลุ่มเกษตรกรดังกล่าวเพื่อหาทางช่วยเหลือแล้ว โดยบอกว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากโครงการของรัฐที่เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านทำโดยไม่ดูศักยภาพของชุมชน จนทำให้เกิดปัญหา ขณะนี้ได้ประสานงานกับนายอธิคม จันทรศัพท์ นายอำเภอสอง โดยเตรียมหาทางช่วยเหลือให้กับเกษตรกรกลุ่มดังกล่าวแล้ว

ถึงแม้ศูนย์ดำรงธรรมเริ่มดำเนินการหาแนวทางช่วยเหลือผ่านไปทางนายอำเภอแล้วก็ตาม แต่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ แม้แต่ศูนย์อำนวยการปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนจังหวัดแพร่ ที่พยายามทำงานไปตามระบบเพื่อบรรลุเป้าหมายสำคัญคือการแก้ปัญหาความยากจน ก็มิสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่ว่าจะเป็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดแพร่ รวมทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านได้ทั้งๆ ที่หน่วยงานเหล่านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน แต่ดูเหมือนว่าทุกหน่วยงานกำลังเข้าไปสร้างปัญหาให้กับประชาชนมากกว่า

การประชุมคณะทำงานเพื่อดำเนินการหาทางแก้ปัญหาสังคมและความยากจน จังหวัดแพร่ ที่จะประชุมกันในวันพุธที่ 8 ธันวาคม 2547 นี้ ที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ คงต้องมีการบูรณาการแนวคิดและอุดมการณ์การแก้ปัญหาให้ประชาชนเสียใหม่ ก่อนที่ประชาชนจะหมดหวังและเบื่อหน่ายกับนโยบายของภาครัฐในที่สุด

/////////////////////////////////////////////

สมโรจน์ สำราญชลารักษ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net