Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภาพจากผู้จัดการออนไลน์
===============================================

"ปลาในแม่น้ำโขงที่หายากและกำลังใกล้สูญพันธุ์ ตอนนี้มีทั้งหมด 14 ชนิด" สุขสันต์ ธรรมวงค์ นักวิจัยจาวบ้าน จากบ้านหาดบ้าย บอกเล่าให้ทุกคนฟัง ในงานวิจัยจาวบ้านเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ในงานวิจัยจาวบ้าน ได้สำรวจในเรื่องของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขง พบว่า แม่น้ำโขงตรงพรมแดนไทย-ลาวตอนบน ตั้งแต่แก่งคอนผีหลงไปจนถึงแก่งผาได มีพันธุ์ปลาทั้งหมด 100 ชนิด ตะพาบน้ำ 1 ชนิด และกุ้ง 2 ชนิด เป็นกุ้งน้อยและกุ้งใหญ่ ในจำนวนปลา 100 ชนิดนั้น เป็นปลาธรรมชาติ 88 ชนิด โดยแยกเป็นปลาหนัง 39 ชนิด ปลาเกล็ด 49 ชนิด

นายสุขสันต์ ยังบอกว่า จำนวนพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงน่าจะมีมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมา เราได้เน้นศึกษาพันธุ์ปลาที่กินได้ และใช้เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่ออกแบบมาเพื่อจับปลาเหล่านี้เป็นหลัก จึงอาจทำให้ไม่ได้ปลาชนิดอื่นๆ หรือปลาที่ชาวบ้านไม่กินกัน เช่น ปลาปักเป้า ปลาเข็ม เป็นต้น และระยะเวลาในการสำรวจวิจัยเพิ่มเริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2546-มิถุนายน 2547

นักวิจัยจาวบ้าน ยังพบว่า ขณะนี้มีปลาธรรมชาติในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน ที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด 14 ชนิด ได้แก่ ปลาบึก ปลาเอินหรือปลาเสือ ปลาเลิม ปลาสะนากปากปิด ปลาคูน ปลาปึ่ง ปลาฝาไม ปลาหว่าหัวคำ ปลาหว่าแก้มแต้ม ปลากะ ปลาสา ปลาทราย ปละปลาเซือม

"ที่เรารู้ว่าเป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์นั้น ก็เพราะว่า ในช่วง 5-30 ปีที่ผ่านมา เราจับไม่ได้เลย โดยเฉพาะปลาฝาละไม ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่น ตอนนี้เราหาไม่เจอเลย" นายสุขสันต์ กล่าว

ส่วนปลาบึกนั้น ปริมาณได้ลดลงอย่างรวดเร็ว และปัจจุบันสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์จัดให้อยู่ในบัญชีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด(critically endangered species)

เมื่อนักวิจัยจาวบ้าน ได้พูดถึง เรื่องพันธุ์ปลาบึกที่ใกล้จะสูญพันธุ์ นางเตือนใจ ดีเทศน์ ได้กล่าวในตอนหลังว่า เป็นที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เมื่อการประชุมไซเตส ที่กรุงเทพฯที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติ เสนอให้ยกเลิกความคุ้มครองการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกที่ใกล้กำลังสูญพันธุ์ เพราะว่าปัจจุบัน มีการเพาะพันธุ์ปลาบึกได้แล้ว

นอกจากนั้น นักวิจัยจาวบ้าน ยังบอกอีกว่า ปลาเอี่ยนหู หรือตูหนาหูขาว เป็นปลาที่พบน้อยมาก ชาวบ้านไม่รู้จักปลาชนิดนี้ และเชื่อว่า เป็นปลาพญานาค

ในรายงานวิจัย บอกว่า ตั้งแต่ปี 2544-2547 มีคนหาปลาจับได้ทั้งหมด 4 ตัว น้ำหนักสูงสุด 6 กิโลกรัม แต่ข้อมูลจาก ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ได้ระบุว่า ปลาชนิดนี้วางไข่ในทะเลลึก ระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะอพยพเข้ามาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา

สำหรับปลาต่างถิ่น นักวิจัยจาวบ้านได้ค้นพบว่า มีทั้งหมด 12 ชนิด เช่น ปลาจีน สวาย จาระเม็ด นวลจันทร์ เป็นต้น เนื่องจากกรมประมง ได้ทำการปล่อยลงไปในแม่น้ำโขง และมีพันธุ์ปลาบางชนิดหลุดมาจากบ่อเลี้ยงในช่วงที่น้ำท่วมบ่อปลาของชาวบ้าน

ถิ่นที่อยู่ของปลาในแม่น้ำโขงนั้น จะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย เพราะวงจรชีวิตของปลาส่วนใหญ่จะอาศัยแม่น้ำตลอดสาย บางชนิดมีแหล่งที่อยู่อาศัยที่หนึ่ง แหล่งหากินอีกที่หนึ่ง และมีแหล่งวางไข่อีกที่หนึ่ง

สำหรับอาหารของปลานั้นพบว่า พืชที่ขึ้นอยู่ตามระบบนิเวศน์ต่างๆ ของแม่น้ำโขง ที่สำรวจพบทั้งหมด 55 ชนิด เป็นอาหารที่สำคัญของปลา พืชเหล่านี้จะมีตามธรรมชาติ และมีความพิเศษที่สามารถอยู่ได้ทั้งในช่วงน้ำลดและน้ำหลาก เช่น ต้นไคร้ เครืออดน้ำ ต้นดอกด้ายน้ำ บัวนางน้ำ เป้าน้อย มะเดื่อ อ้อ แขม ใบสา เป็นต้น พืชเหล่านี้ล้วนเป็นอาหารของปลา

"…ปลาจะชอบกินผลสุกหรือใบของต้นไม้ที่มีอยู่ตามเกาะแก่ง ริมฝั่ง ทั้งกินใบสดและใบเน่า นอกจากนั้นยังชอบกินไก ไคลหิน และไคลผาที่ขึ้นตามหินผาที่จมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะ"ไก" หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง เป็นอาหารที่สำคัญของปลา ไกจะขึ้นตามหาดทราย ตามดอน ร่องน้ำที่น้ำท่วมถึงกลางเกาะแก่ง ก้อนหิน ในช่วงปลายเดือนธันวาคมเป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงน้ำลดและน้ำใส " นายสุขสันต์ กล่าว

งานวิจัยจาวบ้านเชียงของ ยังพบอีกว่า ปลาส่วนใหญ่ จะเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา เพราะน้ำสาขาเพราะมีอุณหภูมิที่อุ่นกว่าแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำโขงจะหนุนน้ำสาขาเข้าไป อีกทั้งน้ำที่ไหลมาจากน้ำสาขา ทำให้เกิดน้ำท่วมหลากเข้าไปในป่าริมน้ำทั้งสองฟากฝั่งที่มีต้นไม้พงหญ้า
ครั้นพอน้ำท่วมที่ไหลหลากหยุดนิ่งได้ระดับ…ปลาก็จะเริ่มวางไข่

ปลาส่วนใหญ่ จะอาศัยตามที่ที่มีต้นไม้ กอหญ้า ขอนไม้จมน้ำ โดยรวมกลุ่มกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ หลายชนิด และวางไข่บริเวณที่มีต้นไม้พงหญ้า เพื่อให้ลูกปลาได้ใช้เป็นที่หลบภัย

และยังมีปลาอีกจำนวนหนึ่ง ที่ชอบวางไข่ตามบริเวณดอนแม่น้ำโขง บริเวณที่มีต้นไคร้ขึ้นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวตอนบน คือบริเวณหาดแฮ่ใต้ปากน้ำงาวทางฝั่งลาว ซึ่งตรงกันข้ามบ้านเมืองกาญจน์ และแถบริเวณคอนผีหลง

ในรายงานวิจัยจาวบ้าน พบว่า มีปลาที่ทำรังก่อนวางไข่และเลี้ยงลูก เช่น ปลาหลิม หรือปลาช่อน ปลาก้วน ปลากั้ง ปลาเหล่านี้จะเลี้ยงลูก หลังจากที่ฟักเป็นลูกอ่อน ในช่วงที่เลี้ยงลูก จะดุร้าย และคอยปกป้องลูกไม่ให้ปลาหรือสัตว์ร้ายชนิดอื่นเข้าใกล้ฝูงลูกปลา

รายงานวิจัยจาวบ้าน ชิ้นนี้ ถือว่าเป็นงานวิจัยที่ทำการศึกษาโดยชาวบ้าน ที่แสดงให้เห็นว่า ระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายสลับซับซ้อน เป็นงานวิจัยจาวบ้าน ที่พยายามจะสื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ โดยเฉพาะรัฐที่กำลังมุ่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ได้รับรู้ว่า…แม่น้ำโขง คือแม่น้ำแห่งชีวิต แห่งการดำรงอยู่ของผู้คนและสรรพสัตว์มาเนิ่นนาน

และที่สำคัญคือ งานวิจัยจาวบ้าน ยังเสนอข้อมูลที่มีรายละเอียดลึกซึ้ง สอดคล้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิต ธรรมชาติและความเป็นจริงมากที่สุด ในขณะที่การสำรวจ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของรัฐ เพื่อโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงนั้น กลับไม่มีการสำรวจวิจัยในเรื่องเหล่านี้.

องอาจ เดชา
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net