Skip to main content
sharethis

สงขลา- 7 ธ.ค.47 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รศ.น.พ.กิตติ ลิ่มอภิชาต คณะบดีคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยรศ.น.พ.สุเมธ พีระวุฒิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และรศ.น.พ.ประเสริฐ วศินานุกร แพทย์ผู้ให้การรักษานายสุนทร ฤทธิภักดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ร่วมแถลงข่าวสาเหตุการเสียชีวิตของนายสุนทร

รศ.น.พ.สุเมธ แถลงว่า นายสุนทร ถูกยิงขณะปฏิบัติหน้าที่แก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับการรักษาบาดแผลโดยการผ่าตัดที่โรงพยาบาลปัตตานี ก่อนส่งมารักษาต่อที่โรงพยาบาล มอ.เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2547

ตลอด 2 สัปดาห์ที่อยู่ในการดูแลของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาล มอ. นายสุนทรมีอาการดีขึ้น สามารถลุกนั่ง เดินได้ด้วยตัวเอง ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการทำกายภาพบำบัด เพื่อรอจำหน่ายกลับไปรักษาตัวที่บ้าน

อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. วันที่ 5 ธ.ค.นี้ หลังจากรับประทานอาหารเที่ยง และเตรียมตัวพักผ่อน นายสุนทร เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัดอย่างเฉียบพลัน คณะแพทย์ที่ให้การรักษาให้การวินิจฉัยเบื้องต้นว่า น่าจะเกิดจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่เลี้ยงปอด หรือ ทางการแพทย์ เรียกว่า Pulmonary embolism

แพทย์จึงได้ทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อสนับการวินิจฉัย และตรวจพบลิ่มเลือดขนาดใหญ่ ที่หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงปอดด้านซ้าย อุดตันประมาณร้อยละ 80 ของเส้นผ่าศูนย์กลางหลอดเลือด และมีลิ่มเลือดอุดกระจายทั่วไปที่หลอดเลือดแดงในปอดด้านขวา ภาวะนี้ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดแดงในปอดชนิดรุนแรง ( Massive pulmonary embolism) แพทย์จึงย้ายเข้าห้อง ไอซียูทันที

ภาวะดังกล่าวมีผลทำให้ปอดไม่สามารถฟอกเลือดเหมือนภาวะปกติได้ และเกิดภาวะขาด ออกซิเจนในเลือดอย่างรนแรงนอกดจากนี้ยังทำให้เกิดความดันในหัวใจซีกขวาสูงขึ้น เกิดแรงดันหัวใจซีกซ้าย ทำให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความดันโลหิตต่ำลง จนเกิดอาการช็อก

แม้ว่าโรคนี้ จะเป็นภาวะที่พบได้น้อย และผู้ป่วยที่เกิดภาวะเช่นนี้มีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก ทางโรงพยาบาล ได้ระดมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การรักษาอย่างเต็มที่และดีที่สุด มุ่งให้นายสุนทรมีโอกาสรอดชีวิต

โดยการรักษาในระยะแรก โดยการยาละลายลิ่มเลือด ผ่านทางสายสวนเข้าไปในปอด ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด และให้ยาควบคุมความดันโลหิต และยังใช้เครื่องช่วยหายใจ

คณะแพทย์ที่ให้การรักษา เฝ้าดูการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ เวลา 14.00 น.ถึง 04.00 น. ของวันที่ 6 ธันวาคม 2547 ความดันโลหิตของนายสุนทร เกิดลดลงอย่างมาก แพทย์จึงใส่บอลลูน เข้าทางหลอดเลือดแดงใหญ่ เพื่อเพิ่มความดันโลหิต แต่ไม่ดีขึ้น จึงตัดสินใจใช้เครื่องช่วยและหัวใจเทียม เพื่อฟอกเลือดและเพิ่มการไหลเวียนเลือด แต่ผู้ป่วยเกิดอาการช็อค ความดันโลหิตต่ำมาก ทำให้อวัยวะที่สำคัญหลายอย่างขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการไตวายเฉียบพลัน และหัวใจหยุดเต้น นายสุนทรเสียชีวิตในเวลา ประมาณ 17.28 น.

รศ.น.พ.สุเมธ กล่าวว่า คณะแพทย์ที่ให้การรักษา เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์สูง ให้การรักษาตามมาตรฐานสากล ใช้เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด ภาวะลิ่มเลือดมักจะเกิดกับผู้ป่วยที่นอนนานๆ แต่ นายสุนทร นั้น สามารถเดินได้แล้ว อีกเพียง 2 วันก็จะกลับบ้านได้ ตามแผนของคณะแพทย์ที่ให้การรักษาวางไว้ จึงคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น เพราะไม่มีข้อบงชี้ว่าจะเกิดภาวะดังกล่าวขึ้น โดยในรอบ 4 - 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นเลือดแดงในปอดชนิดรุนแรงโดยไม่มีข้อบ่งชี้เช่นเดียวกับนายสุนทร มีเพียง 2 รายเท่านั้น โดยนายสุนทร เป็นรายที่ 3

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net