Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 8 ธ.ค. 2547--นักวิชาการตั้งข้อสังเกตสังคมไทย จากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมที่ใช้อารมณ์และความเห็น มากกว่าใช้ความรู้ อีกทั้งต้องทบทวนด้วยว่าเป็นสังคมที่เหยียดเชื้อชาติและศาสนาที่แตกต่างด้วยหรือไม่

ศูนย์ข่าวสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "อาณาจักรแห่งความกลัว" ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการและนักอบรมสันติวิธีเป็นวิทยากร

"สังคมไทยเป็นสังคมเหยียดเชื้อชาติศาสนาหรือเปล่า สังคมไทยกดทับความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือเปล่า" พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งคำถามจากกรณีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งเสนอว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องกลับมาทบทวนความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมา ปัจจัยต่าง ๆ ในสังคมล้วนเป็นเชื้อในการกระพือความรุนแรง

ด้านนารี เจริญผลพิริยะ นักอบรมสันติวิธี กล่าวว่า ความรุนแรงของรัฐได้รับการหล่อเลี้ยงจากสังคม เนื่องจากสังคมไทยมีพื้นฐานที่นิยมความรุนแรงอยู่

"ดิฉันเชื่อว่าสิ่งที่จะแก้ปัญหาไม่ใช่รัฐ ไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์ เพราะรัฐมาแล้วก็ไป และรัฐบาลอายุสั้นกว่ารัฐอีก" ทั้งนี้ นารีกล่าวว่าผู้ที่จะแก้ไขปัญหาความรุนแรงและความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยขณะนี้คือประชาชนทุกคนเนื่องจากทุกคนในสังคมไทยล้วนได้รับผลจากความรุนแรงและความหวาดกลัว

ขณะเดียวกัน ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เสียงสะท้อนของสังคมไทยจากกรณีตากใบที่ยังพอใจกับการใช้ความรุนแรงของรัฐ แสดงว่าสังคมไทยยังคงเป็นสังคมแห่งการใช้อารมณ์ และการแสดงความเห็น ยังไม่พัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมแห่งความรู้

ทั้งนี้ ดร.ประภาส ยกตัวอย่างจากกรณีที่นักวิชาการจำนวน 160 ลงชื่อเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีให้เปลี่ยนแปลงท่าทีในการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้น นักวิชาการซึ่งมีรายชื่ออยู่ในดันดับแรกเนื่องจากชื่อขึ้นต้นด้วยอักษร ก. ได้รับจดหมายต่อว่าด้วยถ้อยคำหยาบคายจำนวนมาก อีกทั้งยังมีจดหมายข่มขู่มาตลอด

"ผมคิดว่าอาณาจักรแห่งความกลัวไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่มีอะไรที่หล่อเลี้ยงอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้คน"

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net