Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวประชาสังคม- 9ธ.ค.47 หลังจากที่ทางรัฐบาลมีนโยบายใหม่ในการกำหนดช่วงเวลา การจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์วันละ 2 ช่วง คือ ช่วงเวลา 11.00 น.-14.00 น.และ 17.00 น.-24.00 น. และมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ร้านสะดวกซื้อ 24 ช.ม. ในอุบลฯ หลายแห่งเริ่มได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงแล้ว

นายปกป้อง พิมพ์พัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการ้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาทุ่งศรีเมือง กล่าวว่า ยอดขายของร้านตกลงเป็นอย่างมากเพราะต้องลดระยะเวลาในการขายลง โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืน ที่ก่อนหน้านี้มียอดขายที่สูงกว่านี้มาก แต่ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ออกมา ซึ่งในช่วงแรกก็โดนต่อว่า จากลูกค้าพอสมควรที่ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในบางช่วงได้ ทางร้านเองก็ต้องพยายามทำความเข้าในกับลูกค้าและเชื่อว่าต่อไปลูกค้าน่าจะเข้าใจถึงเหตุผลที่ไม่สามารถจะหน่ายนอกเวลาได้

ส่วนทางด้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ใน จ.อุบลฯ ที่มีร้านจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ก็ขานรับนโยบายใหม่ของรัฐบาลเป็นอย่างดี โดยมีการนำป้ายขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่หน้าร้านโดยระบุช่วงเวลาในการจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน

ด้านนางตุ๋ย จรูญแสง เจ้าของร้านกิตติพจน์ ซึ่งเป็นร้านขายของชำ กล่าวว่า หลังจากที่มีการประกาศให้จำหน่ายสุราได้วันละ 2 ช่วง ยังไม่ส่งผลกระทบต่อร้านขายของชำมากนัก เพราะในแต่ละวันมีปริมาณการขายไม่มากนัก ซึ่งก็ต้องยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ออกมา

ส่วนผู้บริโภคส่วนใหญ่นั้นคิดว่า กฎหมายใหม่ที่ออกมานั้น ไม่น่าจะมีผลต่อพฤติกรรมการดื่มสุราของประชาชน

นายรังสรรค์ สายโสภา ผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ตามกฎหมายที่ออกมาใหม่นั้น ตนยังมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น เพราะช่วงเวลาดังกล่าวที่ไม่ไห้มีการจำหน่าย นักดื่มส่วนใหญ่ก็ไม่นิยมดื่มในช่วงนั้นอยู่แล้ว และถึงแม้จะไม่สามารถซื้อได้ในช่วงเวลานั้น แต่ผู้บริโภคก็สามารถซื้อกักตุนได้อยู่ดี

ส่วนด้านนายคิด แก้วคำชาติ ที่เป็นผู้นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่นกัน กล่าวในลักษณะเดียวกันว่า กฎหมายใหม่ไม่น่าที่จะช่วยลดปริมาณการดื่มของประชาชนได้เพราะหากไม่สามารถซื้อในเวลานี้ ผู้บริโภคก็สามารถซื้อกักตุนได้

ทางด้านนางปริญญา ผกานนท์ หัวหน้าฝ่ายควบคุมโรค สนง.สสจ.อบ. กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยมีพฤติกรรมการดื่มสุรามากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 5 ของโลกนั้น ทางรัฐบาลเองได้เล็งเห็นปัญหาในจุดนี้ จึงมีนโยบายแบ่งช่วงเวลาการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ออกเป็น 2 ช่วงนั้น เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มของผู้บริโภคที่ชี้ให้เห็นว่าการซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปัจจุบันนั้นทำได้ยากขึ้นจะทำให้มีการบริโภคที่น้อยลงและยังเป็นการลดปริมาณการจำหน่ายให้น้อยลง ซึ่งเป็นกลวิธีหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ลดการดื่มสุรา โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นแต่คงเป็นนโยบายในระยะยาว และน่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลเองมีความห่วงใยในเรื่องสุขภาพของประชาชน และหันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากขึ้น

สำหรับสถานการณ์การดื่มสุราของคนเมืองอุบลฯในปีที่ผ่านมา จากสถิติยอดจำหน่ายสุราของสรรพสามิตจังหวัดอุบลราชธานีพบว่า เมื่อปีที่ผ่านมาคนอุบลดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์รวมทั้งสิ้น 46 ล้านลิตร ในขณะที่เบียร์มีปริมาณการบริโภคมากที่สุดคือ 33 ล้านลิตร ตามมาด้วยเหล้าขาว 8 ล้านลิตร และสุราพิเศษ(เหล้าสี) 4 ล้านลิตร

ส่วนการกระทำผิดด้านการจราจรใน 7 อำเภอใหญ่ๆของ จ.อุบลฯมีทั้งสิ้น 18,534 ราย ขณะที่ตรวจพบแอลกอฮอล์ในผู้กระทำผิดแค่ 3,300 รายเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่กระทำผิดมีการดื่มของมึนเมาก่อนขับรถ แต่ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะเครื่องมือตรวจวัดของเจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอ

ประวิทย์ ตอพล
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net