Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเทศไทยไม่อาจยอมถูกครอบงำด้วยความรุนแรงซึ่งกำลังบ่อนทำลายจังหวัดชายแดนภาคใต้
พิเคราะห์ทางออกที่ชัดเจนจากวังวนนี้ได้ผ่านวิถีแห่งสันติวิธี

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รองประธานคณะกรรมยุทธศาสตร์สันติวิธี สภาความมั่นคงแห่งชาติ
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ มูลนิธิเพื่อการศึกษาประชาธิปไตยและการพัฒนา
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ (ฟอรั่ม เอเชีย) แปล
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นบรรณาธิการ

* บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547

ลักษณะสำคัญประการหนึ่งของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความรุนแรงถึงชีวิตที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและการที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวนำไปสู่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากภาครัฐ ในระยะเวลาสั้นๆความรุนแรงที่ดำเนินไปไม่หยุดหย่อนนี้ส่งผลให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวแปรเปลี่ยนไปเป็น " ความปรกติ" ในสังคม

ผลประการหนึ่งจากการทำให้ปรากฏการณ์ความรุนแรงนี้กลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดา คือ สังคมไทยอาจสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงโดยอาศัยแนวทางทางการเมือง แต่กลับต้องจมดิ่งลึกลงในวังวนแห่งความรุนแรง

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาถือเป็นดังเสียงเพรียกปลุกสังคมไทยให้ได้สติว่า ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตระหนกยิ่งแล้ว ข้าพเจ้าจะขอพิจารณาพระราชดำรัสอันสำคัญครั้งนี้จากมุมมองสันติวิธีเพื่อนำเสนอทางเลือกบางประการที่น่าจะมีคุณในทางลดทอนภัยความรุนแรงที่หยั่งรากลึกและความเกลียดชังในสังคมไทยให้ผ่อนเบาลงบ้าง

ทัศนะสันติวิธี
เราอาจเข้าใจแนวทางสันติวิธีได้หลากหลาย อย่างไรก็ตามกล่าวอย่างถึงที่สุด แนวทางสันติวิธีนั้นประกอบไปด้วยหลักการเบื้องต้นสามประการ คือ

ประการแรก ในความขัดแย้งไม่มีที่สำหรับความเกลียดชัง ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะความเกลียดชังเป็นรูปแบบหนึ่งของความคิดความรู้สึกอย่างอกุศลเท่านั้น แต่หากพิจารณาจากทัศนะสังคมศาสตร์แล้วยังเป็นเพราะมีสาเหตุเชิงโครงสร้างที่ผลิตความเกลียดชังในขณะที่มีปัจจัยทางวัฒนธรรมคอยให้ความชอบธรรมกับความเกลียดชังเหล่านั้น หากมุ่งจะแก้ไขปัญหาความรุนแรง แนวทางแก้ไขที่ยั่งยืนคือการค้นหาและมุ่งเผชิญสาเหตุเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกันกับองค์ประกอบทางวัฒนธรรม มิใช่จะหยุดอยู่เพียงการหาตัวผู้ก่อการเท่านั้น

ประการที่สอง พึงใช้สันติวิธีเป็นหนทางไปสู่เป้าหมายที่เป็นธรรม ลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของสันติวิธีคือ การปฏิเสธที่จะแยกวิธีการออกจากเป้าหมายที่มุ่งบรรลุ ทั้งนี้เพราะตัววิธีการนั้นเองที่เป็นเสมือนเป้าหมายที่ค่อยๆคลี่ตนเองให้ปรากฏในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง

ตัวอย่างเช่น คนเราไม่สามารถใช้วิธีการฉ้อฉลให้ได้มาซึ่งตำแหน่งผู้พิพากษาโดยมุ่งหวังจะทำหน้าที่ตัดสินให้ความยุติธรรมแก่ผู้คน เพราะการกระทำใดๆที่เคยก่อไว้ (กรรม) ย่อมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ (ประการใดประการหนึ่งหรือมากกว่า) ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าไม่อาจใช้สันติวิธีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ไม่ยุติธรรมได้

ประการที่สาม ผู้ที่เดินทางอยู่บนวิถีแห่งการใช้สันติวิธีพึงเตรียมตัวไว้เพื่อเป็นฝ่ายยอมรับความทุกข์ยากเจ็บปวดเสียเอง ในทัศนะสันติวิธีจำเป็นต้องมีเส้นแบ่งที่เลือนลางระหว่าง "พวกเรา" กับ "พวกเขา" ระหว่าง "มิตร" และ "ศัตรู" หรือระหว่าง "ตัวตน" จาก "คนอื่น"

หลักการดังกล่าวนี้ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดที่ว่า ชีวิตทุกชีวิตและศักดิ์ศรีของทุกคนล้วนมีความสำคัญ เพราะสำหรับบางคน "เราทั้งหลาย" ล้วนเป็นมิตรผู้ร่วมอยู่ในการเดินทางแห่งชีวิตซึ่งจำต้องเผชิญกับความทุกข์และหาทางเอาชนะทุกข์ยากเหล่านั้น

ขณะที่สำหรับอีกหลายคน "เราทั้งหลาย" ล้วนดำรงชีวิตเพื่อแสวงหาความหมายแห่งชะตาชีวิตของแต่ละคนในแผนการอันลึกลับขององค์พระผู้เป็นเจ้า ในแง่นี้สันติวิธีให้ความสำคัญกับความสามารถของมนุษย์ที่จะมองลึกเข้าไปในดวงตาของผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ซึ่ง "อยู่ฝ่ายตรงข้าม" และตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ในผู้คนเหล่านั้น ด้วยทัศนะสันติวิธีเช่นนี้ข้าพเจ้าขอนำเสนอบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากพระราชดำรัสวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ

พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547

มีบทเรียนมากมายที่สามารถเรียนรู้ได้จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ จากมุมมองสันติวิธีข้าพเจ้าเชื่อว่ามีประเด็นสำคัญอย่างน้อยสามประการ ดังนี้

ประการแรก พระราชดำรัสดังกล่าวเป็นการแบ่งปันเรื่องราวและสิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงประสบมาโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาของพสกนิกรส่วนหนึ่งในประเทศ เพราะสังคมไทยโดยรวมควรต้องตระหนักถึงความสำคัญและภยันตรายของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พระราชดำรัสของพระองค์ท่านนำความทุกข์ยากของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาสู่ความตระหนักรับรู้ของทั้งรัฐและสาธารณชน ความรับรู้เรื่องราวของเหยื่อความรุนแรงเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความใส่ใจกับปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือได้ว่าพระองค์ท่านได้พระราชทานโอกาสให้ผู้คนทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้ร่วมกันตระหนักรับรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะความทุกข์ที่มีร่วมกันในสังคม เพื่อว่าสังคมไทยโดยรวมจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

ประการที่สอง เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯตรัสถึง "คนไทย กว่า 300,000 คน" ในพื้นที่ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในจังหวัดที่มีมุสลิมเป็นประชากรหลัก พระองค์ท่านกำลังทรงชี้ว่าทั้งชีวิตความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของผู้คนเหล่านี้จำต้องได้รับการปกปักรักษา หากพิจารณาจากมุมมองในระดับชาติและสากล พระองค์ท่านอาจจะทรงกำลังเตือนสติผู้คนในสังคมไทยที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การจะแก้ไขความขัดแย้งที่รุนแรงอันเกี่ยวข้องกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายไม่ว่าจะที่ใดในโลกนี้ คงต้องยอมรับความเป็นจริงของการดำรงอยู่และความสัมพันธ์ระหว่างชนส่วนใหญ่และชนกลุ่มน้อยด้วย เพราะคงจะสามารถแก้ไขปัญหาความรุนแรงประเภทนี้ได้ยากหากไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของชนกลุ่มน้อยในสังคม

ประการที่สาม การแสดงพระทัยเด็ดเดี่ยวของพระองค์ท่านที่จะปกป้องพระองค์เองท่ามกลางความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่ เช่นที่ปรากฏในพระราชดำรัสดังกล่าว ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงความล้มเหลวของระบบการแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมการเมืองไทยในสภาพที่ชีวิตพสกนิกรของพระองค์ท่านซึ่งล้วนเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองด้วยกันกำลังถูกคุมคามจากภัยความรุนแรงแทบทุกคืนวัน

เมื่อพิจารณาประเด็นทั้งสามร่วมกัน พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯควรถือเป็นดังข้อเตือนสติอันทรงพลังและสำคัญยิ่งสำหรับผู้คนทุกภาคส่วนที่ควรแสดงพลังในสังคมไทย มิใช่ด้วยการ " วิ่งถืออาวุธไปช่วย" แต่ด้วยความเข้มแข็งแห่งสายใยที่สัมพันธ์เชื่อมโยงผู้คนจากภาคเหนือถึงภาคใต้ จากภาคตะวันออกสู่ภาคตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน ให้ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายในสังคมไทยสามารถจะเห็นอกเห็นใจกัน ห่วงหาอาทรกันประหนึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน

ก้าวข้ามความเกลียดชังและความรุนแรง: ข้อเสนอสี่ประการ

ขณะนี้มีข้อเสนอแนะมากมายเพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายภาคใต้ บ้างก็ให้ความสำคัญกับสาเหตุเชิงโครงสร้างอย่างความยากจนและการศึกษา บ้างก็มุ่งเน้นปัจจัยสนับสนุนต่างๆ เช่น การจับกุมหรือกำจัดตัวการก่อความรุนแรงทั้งในภาครัฐและอื่นๆ

หากมองว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงดำเนินต่อไป ข้อเสนอเชิงสันติวิธีในที่นี้อาจมิได้มุ่งแก้ปัญหาที่สาเหตุเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมทั้งหลาย แต่ให้ความสำคัญกับการลดทอนเงื่อนไขที่จะทำให้ปัญหาความรุนแรงลุกลามหนักหนาไปกว่าเดิม กับทั้งมุ่งแสวงหาหนทางสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่ออนาคตแห่งสันติสุขในสังคมไทย

เขตปลอดการฆ่า: เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงไม่ถูกต้องนักที่จะเชื่อว่าไม่มีพื้นที่ใดเลยที่ไม่ได้รอดพ้นจากพิษภัยแห่งความรุนแรงดังกล่าว และหากว่ามีพื้นที่ดังกล่าวจริงไม่ว่าจะในระดับหมู่บ้านหรือตำบล ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะถือให้พื้นที่เหล่านั้นเป็น " เขตปลอดการฆ่า" (no-killing zones) ซึ่งก็ไม่แตกต่างจาก "เขตอภัยทาน" ที่มีให้เห็นทั่วไปในบริเวณวัดในพุทธศาสนาในสังคมไทยซึ่งถือว่าการมุ่งเอาชีวิตสรรพสัตว์ในเขตดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนกบนท้องฟ้าหรือปลาในน้ำนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามเท่าใดนัก

ในที่นี้ข้าพเจ้าไม่ได้พูดถึงการทำให้บริเวณที่เต็มไปด้วยการฆ่าฟันและความรุนแรงกลับกลายมาเป็น " เขตปลอดการฆ่า" โดยอาศัยกำลังของภาครัฐแต่อย่างใด ในทางกลับกันเขตปลอดการฆ่าเหล่านี้น่าจะแสดงให้เห็นว่ากรงเล็บแห่งความรุนแรงนั้นมิได้ครอบคลุมทั่วไป หากแต่ยังมีพื้นที่มากหลายที่ภัยแห่งความรุนแรงมิได้กล้ำกรายไปถึง ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการมีกลุ่มประชาสังคมและสายใยทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เช่นที่ปรากฏในงานวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และความรุนแรงในที่ต่างๆมาแล้ว

เขตปลอดการฆ่าดังกล่าวควรต้องเป็นการริเริ่มของประชาชนในพื้นที่นั้นๆเองและได้รับการส่งเสริมโดยกระบวนการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง ทั้งนี้เพราะคงมีความเสี่ยงในการประกาศ " เขตปลอดการฆ่า" เช่นนี้อยู่ จากการที่คงมีบางคนบางกลุ่มไม่ประสงค์จะให้เกิดการจัดตั้งเขตดังกล่าวขึ้นมา จึงจำเป็นที่การริเริ่มสถาปนา " เขตปลอดการฆ่า" เช่นนี้ควรต้องริเริ่มโดยภาคประชาชนในพื้นที่นั้นๆเอง การจัดตั้งเขตปลอดการฆ่าด้วยพลังของประชาชนย่อมจะแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งสันติยังดำรงอยู่และอาจเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนส่งเสริมเงื่อนไขแห่งการดำรงอยู่ของพื้นที่เหล่านั้นเพื่อความเข้มแข็งและการขยายตัวของเขตปลอดการฆ่าในอนาคต

อภัยวิถีของผู้เป็นพ่อแม่: คงไม่ยากจะเข้าใจได้ว่าความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นพลังอำนาจยิ่งใหญ่ในโลกนี้ ความรุนแรงในภาคใต้ได้พรากเอาชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นมุสลิมและไทยพุทธ ผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงเหล่านั้นทุกคนล้วนมีพ่อและแม่

โดยธรรมชาติผู้เป็นพ่อแม่ย่อมเศร้าโศกเสียใจอย่างสุดซึ้งเมื่อชีวิตของลูกต้องถูกพรากไปอย่างทารุณโหดร้าย แต่ข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งเบื้องหลังบาดแผลแห่งความรุนแรงในภาคใต้คือพ่อและแม่บางคนทั้งที่เป็นมุสลิมและไทยพุทธพร้อมที่จะให้อภัยและร่วมมือกับพ่อแม่คนอื่นๆซึ่งย่อมเข้าอกเข้าใจถึงการสูญเสียแบบเดียวกันนั้นเพื่อนำพาสังคมไปสู่การเยียวยา

พ่อของมุสลิมคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในเขตบ้านเนียงเมื่อวันที่ 28 เมษายน กล่าวว่า "ผมไม่เคยโกรธเจ้าหน้าที่เลย ผมถือว่าเป็นพระสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า" ขณะที่แม่ของทหารพุทธที่เสียชีวิตในวันเดียวกันกล่าวว่า "ฉันไม่อยากเห็นสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นอีกต่อไปไม่ว่ากับใครอีก เราควรจะหยุดฆ่ากันได้แล้ว เป็นความสูญเสียสำหรับทุกฝ่าย ฉันก็เสียลูกชายเหมือนแม่คนอื่นๆอีกหลายคน"

ขบวนการพ่อ-แม่ผู้ให้อภัย ซึ่งต่างก็สูญเสียลูกๆให้กับความรุนแรงนี้จะเป็นยาที่ทรงพลังยิ่งที่จะต่อสู้กับพิษภัยของความเกลียดชังและความรุนแรง เป็นสิ่งที่ดียิ่งไปกว่าบทเทศนาของนักบวชหรือผู้รู้ทางศาสนาหรือข้อวิเคราะห์ทางวิชาการใดๆ ทั้งนี้เพราะในฐานะพ่อและแม่ พวกเขาล้วนมีความรักอยู่เต็มหัวใจ และเมื่อต้องสูญเสียลูกไปก็ย่อมเข้าใจถึงความสูญเสียนั้นยิ่งกว่าใครๆทั้งหมด

ความยุติธรรมต้องปรากฏ: ผู้คนจำนวนมากถูกฆ่า สูญหาย และอีกหลายคนเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวในเหตุการณ์ตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 สิ่งที่เรียกร้องไม่ใช่ความกรุณาเป็นพิเศษสำหรับใครโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไทยพุทธ หากแต่เป็นความยุติธรรมสำหรับทุกคน

ถึงแม้ว่าแนวคิดเรื่องความยุติธรรมจะเป็นปัญหาที่ยังต้องถกเถียงกันในทางปรัชญา แต่ในฐานะพลเมืองของประเทศนี้ทุกคนล้วนมีสิทธิและกฎหมายก็ถูกตราไว้เพื่อคุ้มครองทุกคนเสมอกัน มิใช่เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากหรือพิทักษ์สิทธิพิเศษของชนกลุ่มน้อยแต่อย่างใด เมื่อคนถูกฆ่าไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนน หน้าร้านขายของชำหรือระหว่างการควบคุมตัว การเสียชีวิตของคนเหล่านั้นย่อมต้องถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจังและได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย

ความยุติธรรมทรงความสำคัญยิ่งหากตระหนักว่าปัญหาความรุนแรงในภาคใต้เชื่อมโยงอยู่กับความอยุติธรรม หน้าที่เบื้องต้นของสังคมการเมืองคือการคุ้มครองสมาชิกในสังคม และเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นกับสมาชิกคนใดคนหนึ่งก็ย่อมต้องดำเนินการอย่างยุติธรรมเพื่อที่เขาเหล่านั้นจะยังสามารถคงความศรัทธาว่าระบบนั้นทำงานต่อไปได้ และไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงเพื่อแก้แค้นโดยผิดกฎหมายและไม่เกิดประโยชน์ใดๆ

กำหนดนโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกระบวนการสาธารณะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนทุกส่วน: นโยบายความมั่นคงสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับล่าสุดสิ้นสุดลงเมื่อปี 2546 ในปีนี้ที่ความรุนแรงแผ่ขยายไปทั่ว กลับยังไม่มีการกำหนดนโยบายความมั่นคงขึ้นเพื่อภาคใต้โดยเฉพาะ
สังคมไทยน่าจะริเริ่มกระบวนการร่างนโยบายความมั่นคงสาธารณะโดยให้วางอยู่บนพื้นฐานของการเรียกร้องสันติภาพและความมั่นคงร่วมกันในพื้นที่เป็นสำคัญ เพื่อให้แน่ใจได้ว่านโยบายดังกล่าวสะท้อนความคาดหวังร่วมกันอย่างแท้จริง การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงถือว่ามีความสำคัญยิ่ง

ถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมในกระบวนการสาธารณะจากทุกฝ่ายอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักในขณะนี้ เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันถูกกัดกร่อนไปอย่างรวดเร็ว ก็ยังต้องถือว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นยิ่ง ทั้งนี้เพราะมีเพียงกระบวนการกำหนดนโยบายความมั่นคงสาธารณะโดยภาคประชาชนเองเท่านั้น ที่จะช่วยนำพาพวกเขาออกจากอาการ " อัมพาตทางสังคม" อันเป็นผลมาจากความหวาดกลัวและความรุนแรงที่คุกคามสังคมไทยอยู่

กล่าวโดยรวม ข้อเสนอสันติวิธีเพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวข้ามพิษภัยแห่งความเกลียดชังและความเจ็บปวดจากความรุนแรงที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมท่ามกลางบรรยากาศการทำงานร่วมกันในสังคมไทยเช่นที่เสนอนี้ มิใช่ภาพฝันลอยๆหากแต่วางอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงในสังคมไทย ผสานกับสายใยซึ่งเชื่อมโยงผู้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน และตอกย้ำถึงความสามารถอย่างมนุษย์ที่จะเห็นอกเห็นใจห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net