Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-9 ธ.ค.47 พิธีลงนามสัตยาบันสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ ในวันประชุมใหญ่ทางวิชาการ ประจำปี 2547 เกิดความสับสนแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย โดยอธิการบดีจาก17 มหาวิทยาลัยของรัฐไม่ยอมลงนาม โดยระบุว่า แม้กระทั่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีและ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ซึ่ง ทปอ.เชิญมาบรรยายและร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ต่างไม่ยอมลงนาม

"ที่มหาวิทยาลัยของรัฐทั้ง 17 แห่ง ไม่เห็นด้วยนั้น ก็เพราะเราต้องการความชัดเจน ว่าสิ่งที่เราต้อง
การนั้นคืออะไร ต้องการพัฒนาความเป็นเลิศทางวิชาการ มองประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านงบประมาณ การเงิน แม้กระทั่งบุคลากร ทำอย่างไรถึงจะผลิตนักศึกษาให้มีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้เราปล่อยปละละเลย มัวสนใจแต่เรื่องตัวเอง ใครอยากจะเป็นผู้บริหารก็ต้องเอาใจ เพื่อมุ่งจะเอาแต่ขั้นเงินเดือนอย่างเดียว" ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ทั้งนี้ในการประชุมสภาฯ นัดพิเศษดังกล่าว มีอธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 70 แห่ง จากมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 41 แห่ง รวมถึงจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลง กรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย สถาบันบัณฑิตพัฒนาศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เข้าร่วมในพิธีลงนามสัตยาบันสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทยรวมถึงนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีและ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ประธานอำนวยการธนาคารสมอง และนายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจเกษมบัณฑิตย์ และนายกสภามหาวิทยาลัยทักษิณ

ศ.ดร.ธีรวุฒิ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน17 แห่ง ลงความเห็นร่วมกันว่า จะยังไม่ยอมลงนามสัตยาบันสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทย เพราะเห็นว่า ไม่ควรรีบร้อน ควรมีการกลั่นกรองให้ทุกสถาบันได้รับทราบโดยทั่วถึงกัน

โดยอธิการบดีหลายสถาบันยังไม่มีใครรู้มาก่อนเลยว่า จะมีพิธีลงนามในครั้งนี้ แม้กระทั่ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ต่างก็ไม่รู้กันมาก่อน

ล่าสุดหนังสือไทม์ ได้จัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพของโลกในระดับเอเชีย มีเพียง ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยของไทยไม่ติดอันดับเลย ในความเห็นส่วนตัวไม่อยากออกนอกระบบ แต่ขอเสนอให้เปลี่ยนชื่อจากสถาบันเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรซึ่งใช้มาตรฐานเดียวกันกับมหาวิทยาลัยของเยอรมนีในขณะนี้

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในเอกสารพิธีลงนามสัตยาบันสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในตอนหนึ่ง ได้ระบุว่า ส่งเสริมเปิดตลาดบริการด้านการศึกษาภายใต้องค์การค้าโลก(WTO) เพื่อส่งเสริมและเผย แพร่ระบบการศึกษาไทยให้เป็นที่แพร่หลาย เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

อีกทั้งเป็นการยกระดับมาตรฐานของระบบการศึกษาไทย แต่ได้มีการลบประเด็นนี้ทิ้ง หลังจากมีข้อโต้แย้งกันว่า จะเป็นปัญหาการผูกพันซับซ้อนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เสนอความเห็นว่า ควรเร่งให้มีการประชุมสภาอธิการบดีแห่งประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อให้หาแนวทางแก้ไขและหาข้อยุติความขัดแย้งในครั้งนี้

องอาจ เดชา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net