Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 9 ธ.ค.47 "ปัญหาการคอร์รัปชั่นที่เกิดจากการที่นักธุรกิจเข้ามามีอำนาจ ไม่ใช่เพราะนักธุรกิจเป็นคนไม่ดี แต่เพราะนักธุรกิจมีการให้นิยามความหมายคอร์รัปชั่น ที่ไม่เหมือนประชาชนทั่วไป และเคยชินกับวัฒนธรรมคอร์รัปชั่น จนเขาไม่รู้ตัวด้วยว่ากำลังคอร์รัปชั่น" รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล ประจำปี 2547

รศ.ดร.สังศิต กล่าวด้วยว่า อยากเห็นองค์กรภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้งที่กำลังจะถึงอย่างกระฉับกระเฉง เพราะไม่อาจวางใจองค์กรอิสระ ซึ่งนอกจากจะไม่ทำหน้าที่แล้วยังคอร์รัปชั่นเองอีกด้วย จึงอยากให้ประชาชนสนับสนุนองค์กรภาคเอกชนทั้งเงินทุนและกำลังใจ

งานดังกล่าวมีการมอบรางวัลต้านคอร์รัปชั่นดีเด่นทั้งบุคคลและองค์กร ได้แก่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐกิจยุคสารสนเทศ สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการหนังสือพิมพ์มติชน

รวมถึงคณะกรรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และหนังสือพิมพ์ไทยโพส์ ซึ่งทั้งนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาฯ คปส. และนายโรจน์ งามแม้น บรรณาธิการนสพ.ไทยโพสต์ ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 400 ล้านจากบริษัท ชินคอร์เปอเรชั่น จำกัด

นอกจากนี้ยังมีเวทีสัมมนา โดยนายสุริยะใส กตศิลา เลขาธิการครป.กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตหากพรรคไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาล เพราะองค์กรอิสระและสื่อมวลชนถูกแทรกแซง ภาคประชาชนเองก็อ่อนแอ ที่สำคัญกลุ่มทุนผูกขาด 10 ตระกูลในรัฐบาลยังจัดสรรผลประโยชน์กันลงตัวและผนึกกำลังกันเหนียวแน่น

"รัฐบาลนี้ไม่ใช่แค่สอบตกเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่ไม่มีสิทธิ์สอบเลยด้วยซ้ำ เพราะคอร์รัปชั่นเสียเอง อย่าทำเป็นผู้ร้ายวิ่งไล่จับโจรดีกว่า ไม่มีใครเขาเชื่อถือ" นายสุริยะใสกล่าวพร้อมทั้งนำเสนอข้อเสนอ 10 ประการเพื่อปราบปรามการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวณิชย์ ตั้งคำถามกับรัฐบาลถึงการอุ้มบริษัทดาวเทียมไอพีสตาร์ ในเครือชินคอร์เปอเรชั่น ทั้งการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยกเว้นภาษีให้บริษัทไอพีสตาร์ การที่บริษัทไอพีสตาร์อาจจะมีการตั้งบริษัทขายส่งในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี รวมทั้งการที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) รับความเสี่ยงแทนบริษัทในเครือชินวัตรปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้โครงการโทรคมนาคมพม่ากว่า 600 ล้านบาท รวมทั้ง

"ต้องยอมรับว่าบริษัที่ทำธุริกิจด้านนี้มีความเสี่ยงสูงมากในหลายด้าน และความเสี่ยงจำนวนหนึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถจัดการได้เอง รัฐจำเป็นต้องเข้าไปช่วย แต่ควรช่วยแค่ไหนอย่างไรจึงจะเหมาะสมเป็นอีกประเด็นหนึ่ง" ดร.สมเกียรติกล่าว

ส่วนนายนพนันท์ วรรณเทพสกุล อาจารย์จากศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงการคอร์รัปชั่นแบบบูรณา โดยยกงานวิจัยโครงการประมูลท่าเรือแหลมฉบังพร้อมกัน 6 ท่า ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่เงินมูลค่ากว่า 270,000 ล้านแต่อนุมัติภายในเวลา 5 เดือน และทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 22,822 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี

นายนพนันท์ กล่าวว่าการประมูลสัมปทานมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น ตั้งแต่เกณฑ์การคัดเลือกที่ไม่เป็นธรรม เพราะมีการกำหนดคะแนนซึ่งเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจที่ทำให้ผู้เสนอโครงการรายใหญ่แต่จ่ายผลประโยชน์ให้แก่รัฐต่ำ เป็นผู้ชนะในการประมูล รวมทั้งการรวบประมูล 6 ท่าภายในครั้งเดียว โดยบิดเบือนผลของศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาโครงการ

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net