Skip to main content
sharethis

นับตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ด้วยหวังจะให้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ทั้งในส่วนของการทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นจริง ได้รับการเคารพจากทุกองค์กรของรัฐและการทำให้การบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้

นัยะสำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชนในการบริหารบ้านเมืองในสามด้าน คือการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

แต่ในทางปฏิบัติ กลับไม่มีการนำหลักการเรื่องนี้ไปใช้บังคับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกำหนดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจน จากการกำหนดหลักการสำคัญเพื่อเป็นกรอบในการตรากฎหมายเฉพาะ เช่น ในมาตรา ๕๗ วรรคสอง ที่กำหนดว่าต้องมีการตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค โดยจัดให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย และในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค จนบัดนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐอย่างจริงจัง สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป จากการกำหนดนโยบายของรัฐ เช่นการใช้พันธุ์พืชหรือสัตว์ที่ได้รับการปรับแต่งพันธุกรรม การใช้สินค้าบริโภคที่มาจากสิ่งดังกล่าว แต่ผู้บริโภคไม่ได้รับรู้ถึงผลกระทบอันเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย และไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การชดใช้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าและบริการก็ไม่ได้รับความสะดวกจากการใช้สิทธิดังกล่าวแต่อย่างใด สิทธิต่างๆของผู้บริโภคถูกปล่อยไปตามยถากรรม

อีกตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการทำโครงการขนาดใหญ่ เช่นการทำประชาพิจารณ์ ที่แม้จะมีการบัญญัติรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญไว้ในหลายมาตรา แต่กลับไม่มีการตรากฎหมายเพื่อรองรับให้มีผลในทางปฏิบัติ เช่นการกำหนดโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม กลายเป็นการตัดสินใจของรัฐ โดยบางครั้งมีการอ้างว่าเป็นโครงการและการบริหารงานแบบCEO ที่ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจ กำหนดกรอบนโยบายและดำเนินการ มิใช่เป็นเพียงตรายางในการสร้างความชอบธรรมแก่โครงการที่ตัดสินใจมาก่อนล่วงหน้าแล้ว กฎเกณฑ์ต่างๆ ในเรื่องนี้ เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ตามกฎหมายเก่า เช่นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดทำประชาพิจารณ์ หรือการกำหนดให้มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ก็ยังคงเป็นการใช้แนวปฏิบัติแบบเดิม

การไม่มีกรอบระยะเวลาในการตรากฎหมายและดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เป็นอีกข้อหนึ่งที่ต้องได้รับความสนใจ เพราะเวลาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงการละเลยเพิกเฉยในการบังคับการให้เป็นไปตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ยิ่งในตัวกฎหมายเหล่านี้ไม่มีการระบุกรอบเวลาเหมือนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ยิ่งทำให้เกิดการละเมิดสิทธิเสรีภาพมากยิ่งขึ้น

การใช้กฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้สิทธิ เช่น การตีความขององค์กรส่วนใหญ่ทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นหมัน เพราะแทนที่จะมีการใช้กฎหมายได้โดยตรงจากที่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้ว กลับมีการอธิบายว่าต้องมีการออกกฎหมายรองรับเสียก่อน ยิ่งก่อให้เกิดความจำเป็นจะต้องตรากฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญมากขึ้นเท่านั้น แม้ในทางที่ควรจะเป็น ต้องมีการตีความให้บังคับใช้มาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญได้โดยตรงและทันทีก็ตาม

นอกจากการเร่งผลักดันให้มีการตรากฎหมายลูกเพื่อรองรับสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องเร่งแก้ไขกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งกระจายอยู่ตามกฎหมายทั่วไป จากการมีรัฐสภาและรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการปฎิบัติตามแนวทางดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น การจับกุมไปจนถึงการวิสามัญฆาตกรรมที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมาย การไม่รับรู้ถึงสิทธิเสมอภาคของบุคคล โดยอาศัยความแตกต่างทางกายหรือฐานะทางเศรษฐกิจหรือชาติพันธุ์เข้ามาเป็นเครื่องกีดกัน การไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม ความล่าช้าของการพิจารณากฎหมายป่าชุมชน การกระทำที่ไม่เพียงแต่จะไม่คุ้มครองแล้วยังเสมือนเป็นการละเมิดสิทธิ เช่นการบริหารกิจการโดยกีดกันและไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ระบบการเมืองและการบริหารประเทศในปัจจุบันยังเป็นรูปแบบที่อยู่บนอำนาจการตัดสินใจตามแนวคิดของคนกลุ่มเดียวโดยขาดการรับฟังจากรอบด้าน การบริหารราชการเยี่ยงบริษัทจำกัดได้ละเลยการรับรู้ถึงสิทธิของประชาชนไปอย่างมาก

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของสิ่งที่ขัดขวางและบ่อนทำลายการดำรงอยู่ของสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งของบุคคลเดินดินธรรมดา ซึ่งยังคงต้องอาศัยกฎหมายเป็นฐานแห่งสิทธิที่จะกล่าวอ้างอิงได้ ประกอบกับการอาศัยการปรับโครงสร้างทั้งระบบให้เอื้อต่อการส่งเสริมสิทธิ

ตลอดช่วงเวลา ๗ ปี ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปเพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ โดยการตรากฎหมายลูกในส่วนที่ยังไม่มี โดยการแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความจำเป็นจะต้องแก้ไขเริ่มจากกฎหมายที่เป็นรากฐานการดำรงอยู่ของชาวบ้าน ในการการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ ตลอดจนถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

เราในฐานะของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เสนอตัวจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลและรัฐสภาได้แสดงเจตจำนงที่จะผูกพันและปฎิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยการเสนอกฎหมายและปรับแก้กฎหมายต่างๆ ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ หรือสอดคล้องกับเจตนารมณ์ เราใคร่เรียกร้องให้พรรคการเมืองที่เสนอตัวให้ประชาชนเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้เสนอประเด็นของกฎหมายที่จะออกมารองรับรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน รวมทั้งการปรับแก้กฎหมายใดให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดกรอบเวลาอย่างแน่ชัดด้วยว่าจะทำได้เมื่อใด หากได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาล

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net