เลือกผู้ที่รังเกียจและมุ่งมั่นป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน

ผลประโยชน์ทับซ้อน คือสถานการณ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งบริหารงานสาธารณะ จะได้ประโยชน์ส่วนตัวจากการตัดสินใจ โดยใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ ฉะนั้นการตัดสินใจจึงไม่ได้ทำเพื่อมุ่งประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หากแต่มุ่งจะหากำไรให้ธุรกิจของตนหรือครอบครัวเท่านั้น ดังนั้นจึงอาจเรียกผลประโยชน์ทับซ้อนได้อีกอย่างหนึ่งว่าคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย เช่นสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง หรือติดสินบนข้าราชการประจำและการเมือง ดังภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา กลุ่มธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุดก็เข้ามากุมอำนาจรัฐโดยตรง ในการเลือกตั้งเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๔ พรรคไทยรักไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นนั้น แม้จะมีนักการเมืองและข้าราชการเก่าเข้ามาร่วมอยู่ด้วยมาก แต่แท้จริงแล้วตกอยู่ภายใต้การกำกับอย่างรัดกุมเหมือนเป็นบริษัทของนายทุนโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสื่อสารที่เชื่อมต่อเข้ามาสู่อำนาจทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย

การที่ผู้บริหารรัฐดำรงตำแหน่งในสองด้าน ด้านหนึ่งทำหน้าที่บริหารประเทศ อีกด้านหนึ่งดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้ธุรกิจส่วนตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว มูลค่าหุ้นของบริษัทที่นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าของเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าบริษัทที่มีพื้นฐานดีทั่วไปหลายเท่าตัว บริษัทที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้บริหารรัฐบาลถูกเรียกกันในตลาดหลักทรัพย์ว่า "หุ้นทักษิณ" ซึ่งนักเล่นหุ้นให้ราคาสูงเพราะทำกำไรจากการซื้อขายได้มาก การบริหารประเทศกลายเป็นการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตน การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ผ่านมาของรัฐบาลปัจจุบันเป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นรัฐบาลชุดผลประโยชน์ทับซ้อนหรือคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่อื้อฉาวที่สุด

ยิ่งกว่านี้ ธุรกิจของนายกรัฐมนตรีและครอบครัวยังเป็นธุรกิจที่ได้รับสัมปทานจากรัฐหรือเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยตรงไม่ต่ำกว่า ๓ กิจการ ได้แก่กิจการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับการสื่อสารแห่งประเทศไทย กิจการดาวเทียม ซึ่งเป็นคู่สัญญากับกรมไปรษณีย์โทรเลข และกิจการโทรทัศน์ระบบยูเอ็ชเอฟ ซึ่งเป็นคู่สัญญากับสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี ปัญหาจึงมีว่ารัฐภายใต้เจ้าของธุรกิจเหล่านี้จะสามารถกำกับควบคุมสัมปทานและสัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อรัฐได้อย่างไร

ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจการเมืองแวดล้อมที่นอกเหนือไปจากวงศาคณาญาติของผู้นำ เช่น กลุ่มทีเอ กลุ่มลอกซ์อินโฟซึ่งได้ร่วมทุนกับเอไอเอส กลุ่มบีอีซีเทโร กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มไทยเจริญคอมเมอร์เชียล และสุราแสงโสม กลุ่มไทยฟิล์มอินดัสทรี และควอลิตี้โปรดักส์(เนสท์กาแฟ) และกลุ่มซัมมิสออร์โตพาร์ต เป็นต้น

การก้าวเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ พร้อมกับผลประโยชน์ที่ติดตัวมา ทำให้เกิดพฤติกรรมการซุกหุ้น การโอนหุ้นให้กับบุตร เครือญาติ บริวารระดับคนขับรถและแม่บ้าน และการหลบเลี่ยงการตรวจสอบของกฎหมายในรูปแบบต่างๆ แล้วพัฒนาความแนบเนียนเหนือชั้นในการบริหารผลประโยชน์ที่ทับซ้อนนี้จนเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย หรือคอร์รัปชั่นเชิงบูรณาการ ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการต่างๆอย่างกระตือรือร้น ทำให้ผู้บริหารกิจการแผ่นดินเข้ายึดครองธุรกิจแบบสัมปทานผูกขาดเช่นกิจการดาวเทียม เข้ายึดครองธุรกิจที่ได้สัมปทานระยะยาวเช่นโทรศัทพ์มือถือและดาวเทียม เข้ายึดครองธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัด เช่น คลื่นความถี่ และยึดครองธุรกิจที่มีกิจการรวบอำนาจผูกขาดไว้ด้วยกันเช่นระบบไอซีที

สังคมจะช่วยกันกำจัดการเมืองแบบผลประโยชน์ทับซ้อนนี้ได้อย่างไร? มีข้อควรพิจารณา ๓ ประเด็น

ประเด็นแรกคือความโปร่งใส หมายถึงความสามารถในการที่จะถูกตรวจสอบได้ สังคมต้องตั้งคำถามกับนโยบายของนักการเมืองว่า จะสนับสนุนกระบวนการการตรวจสอบนักการเมืองให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เหตุการณ์ที่ผ่านมาเช่นกรณีที่รัฐบาลใช้การออกพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิต ซึ่งการออกเป็นพระราชกำหนดนั้น ทำให้ไม่มีการพิจารณาเป็น ๓ วาระ ผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องรับหรือไม่รับร่างนี้ทั้งฉบับ นี่เป็นตัวอย่างของการที่กลไกรัฐสภาสูญเสียความสามารถในการตรวจสอบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส จนทำให้การเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจที่เข้ามาผูกขาดอำนาจทางการเมือง กลายเป็นความชอบธรรมทางกฎหมายขึ้นมา

ด้วยเหตุดังนั้น เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่จะต้องหาทางทำให้กลไกการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สามารถทำงานได้อย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ ไม่แต่เพียงให้สัญญาว่าจะทำเท่านั้น แต่ต้องเสนอการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมว่า จะทำอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความมั่นคงแก่กลไกทั้งทางการเมืองและสังคมดังกล่าว

ประเด็นต่อมาคือ ต้องอุดช่องโหว่ของกฎหมาย เช่นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ญาติ บริวาร ลูก เมีย ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป ต้องยกสิทธิเด็ดขาดของการจัดการธุรกิจไปให้แก่นิติบุคคลอื่นตามกฎหมายเช่นกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ และตามความเห็นของ ปปช. เป็นต้น ที่ผ่านมาการโอนหุ้นในเครือชินคอร์ปให้แก่ภรรยา บุตร และบุคคลใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ทำให้อำนาจที่แท้จริงในการเป็นเจ้าของกิจการเปลี่ยนแปลงไป เป็นแค่เพียงการแสดงอย่างหนึ่ง ว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งๆที่เป็นการหลบเลี่ยงด้วยการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย

เราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งเสนอมาตรการที่ชัดเจนว่า จะแก้กฎหมายต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมือง จะไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการวางนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม และควรจะกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการให้แล้วเสร็จเมื่อใดด้วย

ประเด็นต่อมาคือกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะ หมายถึงนโยบายที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม จนเกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่าและนำไปสู่การปฏิบัติ การกำหนดนโยบายสาธารณะจะต้องเน้นไปที่การเปิดพื้นที่ทางสังคมให้มีส่วนร่วมเสนอประเด็นต่างๆ ของนโยบายจากทุกๆ ฝ่ายอย่างกว้างขวาง เช่น จากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน นักวิชาการ องค์กรสนับสนุนการวิจัยนโยบาย ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรทำงานด้านนโยบาย ฝ่ายการเมือง ผู้แทนองค์กรอิสระ ฯลฯ

กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะจะต้องเกิดจากฐานความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัย เรียนรู้ ในสภาพความเป็นจริงอย่างลึกซึ้ง จะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มิใช่เกิดจากอำนาจรัฐ หรือจากกลุ่มบุคคลไม่กี่กลุ่มโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจะต้องเกิดจากอุดมคติที่ต้องการความถูกต้องดีงามและผลประโยชน์ของคนทั้งหมด มิใช่เพื่อผลประโยชน์แฝงเร้นของคนบางคนหรือบางกลุ่ม

การวางนโยบายสาธารณะซึ่งจะเกิดผลในวงกว้างได้นั้น ต้องเริ่มจากการแสวงหาข้อมูลและความรู้อย่างรอบด้านที่สุดเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปว่ามีนโยบายอะไรบ้างที่รัฐจะต้องกระทำ แล้วนำเรื่องนี้กลับเข้ามาสู่สาธารณะให้พิจารณาอภิปรายและสร้างความเข้าใจร่วมกันในทางปฏิบัติขึ้น

ถ้าเราสามารถสร้างกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะให้เป็นจริงขึ้นมาได้ โอกาสที่กลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนจะเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น การเป็นนายหน้าหาผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจการเมือง ดังที่เป็นอยู่ก็จะยากยิ่งขึ้น

ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ จำเป็นที่สังคมจะต้องทบทวนบทบาทและท่าทีเพื่อสร้างพลังในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบ นักเลือกตั้ง ที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างเข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

สังคมไทยต้องไม่ยินยอมให้กลุ่มบุคคลที่ล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ส่วนตัวซึ่งอาจทับซ้อนกับประโยชน์ส่วนรวมเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ โดยไม่มีการตรวจสอบและกำกับอย่างรัดกุมจากสังคมอีกต่อไป

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท