เลือกผู้ที่ผลักดันประชาธิปไตยทางตรง

แกนหลักประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ การเมืองภาคประชาชน แต่ภายใต้กระแสการเมืองการปกครองแบบรวมศูนย์และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบผูกขาด ส่งผลให้บทบาทรัฐและทุนเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อเป้าหมายของทุนคือการขยายตลาดที่สามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสินค้าได้ และประการสำคัญเมื่อเจ้าของทุนสามารถเข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐเสียเองโดยตรง ก็ทำให้อำนาจรัฐยิ่งถูกใช้ไปในทางที่เสริมทุน รัฐและทุนเกื้อหนุนกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย จนลืมนึกถึงหน้าที่ของรัฐ ละเลยกฎกติกา ข้อห้าม จรรยาบรรณ ในการใช้อำนาจรัฐเสียสิ้น

สภาวการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองเช่นนี้ ทำให้โครงสร้างทางสังคมที่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้สร้างกลไกกติกาต่างๆ ทั้งในเชิงที่เป็นหลักการและกระบวนการ รวมถึงมีการกำหนดเงื่อนไขและมาตราการต่างๆ มากมายเพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลไกภาครัฐที่ใช้อำนาจบริหาร อำนาจในการตรากฎหมาย และกลไกกระบวนการยุติธรรมในการระงับข้อพิพาท กลับถูกบิดเบือน ชักนำ และบ่อยครั้งเป็นการบังคับทั้งทางตรงทางอ้อม ทั้งโดยอาศัยอำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนต่อภาคประชาชนอย่างไม่มีทางเลือก ปัญหาดังกล่าวนี้ นับวันจะทวีความรุนแรงและเป็นอันตรายโดยปราศจากกลไกของรัฐ สังคม หรือแม้กระทั้งสื่อที่จะให้ความคุ้มครองได้

ในขณะเดียวกันการที่ทุนยึดกุมรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ ก็ทำให้กลไกที่เป็นทางการของระบอบประชาธิปไตยเป็นหมันไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สื่อ และระบบราชการทั้งระบบ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประชาชนสูญเสียพื้นที่สาธารณะในการเข้าไปกำกับควบคุม และมีส่วนร่วมกับการบริหารบ้านเมืองไปโดยสิ้นเชิง สิทธิเสรีภาพและบทบาทของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันไว้กำลังไร้ความหมาย และในความเป็นจริงก็มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งรัฐธรรมนูญให้การรับรองโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างโจ่งแจ้งอยู่เสมอมา

ท่ามกลางการรวมศูนย์ร่วมกันระหว่างอำนาจรัฐและทุนดังที่เป็นอยู่ ทางออกที่เป็นทางหลักก็คือการรู้ให้เท่าทันอำนาจทั้งสอง และทางที่จะทำเช่นนั้นได้จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งข่าวเตือนภัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จและล้มเหลว ตลอดจนข้อมูลในทุกๆ ด้าน และที่สำคัญเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อตั้งรับ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันสร้างและกำหนดญัตติสาธารณะสำหรับภาคประชาชนที่จะเลือกทางในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรามีส่วนในการกำหนดเองได้ เพื่อสู้กับการกำหนดโดยระบบการเมืองที่ถูกชักนำโดยความคิดของทุน

หนทางที่จะไปสู่การที่เราพอจะมีพื้นที่ โอกาส จังหวะ ที่จะกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชนตามที่บัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การทำให้กลไกตามรัฐธรรมนูญในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระดับล่างเป็นจริงขึ้นมา แต่ต้องไม่ไปพึ่งพาอาศัย หรือฝากอนาคตทั้งหมดไว้กับกลไกของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องขยายวงเครือข่ายในระหว่างภาคประชาชนด้วยกันออกไปเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังที่มีความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับเครือข่ายฐานทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวอย่างและน่าที่จะหยิบบทเรียนดังกล่าวมาต่อยอดเคลื่อนไหวต่อไป

ในประเทศที่ระบบเศรษฐกิจเข้มแข็ง ระบบการปกครองท้องถิ่นยิ่งจะต้องเข้มแข็ง บทเรียนจากประเทศต่างๆที่เราไปนำแบบอย่างการปกครองมาเลียนแบบใช้ จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย หากละเลยการสร้างความเข้มแข็งทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่ชุมชนท้องถิ่น และเพราะประเทศไทยละเลยอำนาจของชุมชนท้องถิ่น จึงประสบความล้มเหลวในด้านต่างๆ ตลอดมา ดังจะเห็นได้จากการที่นโยบายของรัฐที่นำลงไปสู่ท้องถิ่นทั้งหลายมักล้มเหลวไม่เป็นท่า แนวโน้มของรัฐบาลนายทุน กลับพยายามพัฒนาการบริหารแบบรวมศูนย์ให้เข้มข้นขึ้นไปอีก ต้องการแต่จะยัดเยียดและสั่งการตามสายงานราชการบนวิธีการแบบธุรกิจ และในที่สุดปัญหาทั้งหมดก็สุมกองอยู่ที่ท้องถิ่นพร้อมหนี้สิน ความขัดแย้ง และการล่มสลายของเครือข่ายภาคประชาชน ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงนโยบายอื่นๆที่ขูดรีดจากท้องถิ่นล้วนๆ เพื่อสนองนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์อย่างใดเลย

ดังนั้น การให้โอกาสแก่ประชาสังคม ชุมชน และท้องถิ่นที่จะคิดและตัดสินใจอนาคตของตนเองในทุกๆด้านโดยรัฐให้การสนับสนุนจึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนและจริงจัง

รัฐบาลใหม่ที่จะมารับผิดชอบในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เราใคร่เรียกร้องให้ประชาชนซักถามตรวจสอบนโยบายด้านนี้ของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ชัดเจน เขาจะผลักดันให้เกิดการเปิดพื้นที่สาธารณะของภาคประชาชนอย่างไร เช่นเขาจะยอมให้รัฐบาลสลายการชุมนุมของประชาชนด้วยการยกกฎหมายย่อยเช่นกีดขวางการจราจรขึ้นมาปราบปรามหรือไม่ และยิ่งถ้ารัฐบาลใช้มาตรการรุนแรงกับผู้ประท้วง เขาจะตอบโต้รัฐบาลอย่างไร ไม่ว่าในฐานะส.ส.ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เขาจะผลักดันการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนหรือไม่อย่างไร เช่นเขาจะผลักดันให้รัฐบาลมอบหมายภารกิจอะไรเพิ่มเติมให้แก่องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นบ้าง เป็นต้น

ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท